ปัญหารถติดเป็นปัญหาหนึ่งโดยเฉพาะคนกรุงเทพฯซึ่งไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ คุณพ่อ คุณแม่และลูกอาจรู้สึกเบื่อในขณะที่ต้องนั่งติดอยู่ในรถนานๆ Amarin Baby & Kids จึงมีกิจกรรมที่คุณพ่อคุณแม่สามารถนำมาเล่นกับลูกได้ในขณะที่รถติด หรือจะไว้เล่นขณะที่กำลังเดินทางไปเที่ยวต่างจังหวัดในวันหยุดก็ได้
ซึ่งกิจกรรมที่นำเสนอนี้นอกจากจะช่วยทำให้ลูกสนุกสนานแล้วยังช่วยพัฒนาสมองของเด็กไปในตัว อีกทั้งยังช่วยสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างพ่อแม่ลูกอีกด้วย
เล่นอะไรดีนะ ตอนอยู่ในรถกับลูก?
ข้อดีของการอยู่ในรถ คือ เด็กจะเดินหนีไปไหนไม่ได้ ถูก บังคับให้อยู่ด้วยกันในที่แคบๆ สามารถทำกิจกรรมบางอย่างกับเด็กบางคนได้ง่ายขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการพูดคุย การเล่นที่คุณพ่อคุณแม่สามารถนำไปประยุกต์ใช้กับลูกได้…และกิจกรรมที่จะแนะนำดังต่อไปนี้ เหมาะสำหรับคุณแม่หรือคุณพ่อที่นั่งอยู่หลังรถกับลูกและไม่ได้เป็นผู้ขับรถ ถ้าคุณต้องอยู่ในรถกับลูก เพียง ๒ คน อาจเพียงแค่เป็นช่วงเวลาสงบ ให้เด็กฟังเพลงสบายๆ หรือพูดคุยบ้างโดยไม่ทำให้คุณเสีย สมาธิ อย่าลืมเรื่องความปลอดภัยในการขับรถว่าเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด …. ตัวอย่างกิจกรรม ดังต่อไปนี้
1.เกมมองดูให้ดี
เกมนี้มีวิธีเล่นง่ายๆ คือ ให้มองหาสีต่างๆที่อยู่รอบตัวในขณะรถติด เช่นมีรถสีแดงกี่คัน มีป้ายโฆษณาสีอะไร มีตัวอักษรอะไรบ้างที่เห็น ป้ายรถยนต์คันหน้ามีตัวเลขอะไร หากจะเปลี่ยนป้ายโฆษณาข้างหน้าให้เป็นคำอื่น จะใช้ว่าอะไรดี เป็นต้น เกมนี้ช่วยฝึกสมองด้านคณิตศาสตร์ ภาษา ความคิดสร้างสรรค์ อีกทั้งฝึกในการสังเกตอีกด้วย
2.เกมตัวเลขอยู่ที่ไหนกัน?
วิธีเล่นเกมนี้คือให้มองหาตัวเลข 1 -10 ที่อยู่รอบๆตัว เช่นแม่เห็นรถยนต์สีแดง 1 คัน คุณพ่อเห็นคนขายพวงมาลัย 2 คน คราวนี้ถึงคราวเจ้าตัวเล็กต้องมองหาอะไรที่เป็น 3 บ้าง ลูกอาจตอบว่าหนูเห็นสะพานลอย 3 สะพานอยู่ข้างหน้าหรือคุณพ่อคุณแม่พูดตัวเลขใดตัวเลขหนึ่งขึ้นมา เช่น เลข5 แล้วให้ลูกชี้รถยนต์คันที่มีเลข5ปรากฏอยู่ที่ป้ายทะเบียนเป็นต้น เกมนี้จะช่วยให้เด็กฝึกการสังเกต ความคิดเชิงระบบ และการเรียนรู้ทางด้านคณิตศาสตร์
3.เล่นเกมทายปัญหา
- เกมทายใจ ๒๐ คำถาม เช่น
พ่อ พ่อคิดถึง สัตว์ตัวหนึ่งมีสี่ขา
น้องหน่อย หมา
พ่อ ไม่ใช่!! มันตัวใหญ่มากๆ มากเลย
น้องหน่อย สิงโต
พ่อ ไม่ใช่ !! มันมีหูใหญ่มาก
- ฝึกการจินตนาการภาพในความคิด
o คุณพ่อคุณแม่บรรยายลักษณะสิ่งของ สถานที่ บุคคล ให้เด็กทาย เช่น ใครน๊าเป็น เพื่อนของน้องหน่อย ผมสั้น ใส่แว่นตา ชอบพูดเสียงดัง ชอบใส่กระโปรงสีฟ้า
o ฝึกย้อนกลับให้ลูกตั้งคำถามให้คุณเป็นคนทายบ้าง แล้วอย่าลืมใช้เทคนิค แกล้งงง ตอบ ผิด เพื่อให้เด็กโต้ตอบ ให้ข้อมูลคุณเพิ่มขึ้นและรู้สึกสนุกที่ได้เป็นผู้ชนะ
- เล่นเกมต่อคำ
o แม่ไปสวนสัตว์ แม่เห็น……. คุณก็บอกว่า “เสือ” และลูกอาจะตอบ “ลิง” และคุณบอก “ช้าง หมู ยีราฟ” แข่งกันพูด แย่งกันพูด เพื่อฝึกความจำ ความว่องไวในการคิดคำ การแข่งขัน การรู้จักโต้แย้ง และมีอารมณ์สนุกร่วม อาจเปลี่ยนเป็นสิ่งอื่น เช่น สี ตัวเลข อาหาร
- ทายปัญหาเรื่องราวที่ผ่านมาแล้ว ประสบการณ์จริงของเด็กที่เชื่อมโยงกับอารมณ์ เช่น คุณยาย ให้ของขวัญอะไรน๊าที่น้องหน่อยชอบมากเลย คุณแม่ก็ชอบมากๆด้วย
อ่านต่อ >> “กิจกรรมสุดสนุกไว้เล่นกับลูกตอนอยู่ในรถ” คลิกหน้า 2
4.ชวนกันคุย
- ชวนกันคุย “สิ่งที่ผมชอบ” เช่น อาหาร ขนม สถานที่ คุณครู ตัวเลข สี ช่วยกันคุย ฝึกเชื่อมโยง เหตุผลกับความรู้สึก
- ช่วยกันแต่งเรื่อง อาจเป็นเรื่องตามจินตนาการ หรือ ให้เด็กหัดสมมติเกี่ยวกับตัวเอง
o ครั้งหนึ่งนานมาแล้ว ….. มีเด็กผู้หญิงคนหนึ่ง….น่ารักมากๆเลย ชื่อ ชื่อ……ชื่อ น้อง หน่อย แล้วให้เด็กช่วยต่อ ….เรื่องอาจไม่จำเป็นต้องเหมือนจริง แต่ ให้สนุกและฝึกให้ เด็กรู้สึกสนุกในการต่อเรื่องราว
5.ชี้ชวนกันดูรูปภาพในหนังสือ
ให้เด็กดูรูปเพื่อช่วยฝึกเด็กในการบรรยาย ให้ข้อมูล เป็นการฝึกการประมวลข้อมูลจากภาพที่เห็น อ่านหนังสือด้วยกัน ชี้รูปไหนที่ชอบมากที่สุด เล่นชี้รูปให้เด็กทำเสียงจากรูปที่เห็น หนังสือที่มีหุ่นมือประกอบ เพิ่มความน่าสนใจในการฟังนิทาน
6.ฝึกสังเกตสิ่งรอบตัว
- ถ้าเด็กชอบตัวเลข อาจเล่นนับสิ่งของ เห็นหมากี่ตัว มีสัญญาณไฟจราจร จำกี่อัน รถสีแดงกี่คัน ใส่ความสนุกและความซับซ้อนเข้าไปในการเล่น เช่น ถ้าเห็นรถสีแดงเอามือแตะคุณพ่อ ถ้าเห็น รถสีฟ้าตบมือ ๒ ที ถ้าเห็นรถสีเขียว ร้อง “เย้” การเคลื่อนไหวและความท้าทายที่เพิ่มมากขึ้นทำ ให้เด็กรู้สึกสนุกมากขึ้น
- ฝึกสังเกตและเชื่อมโยงเหตุผลจากสิ่งที่เห็น เช่น เห็นรถดับเพลิงเปิดสัญญาณเสียงดัง “หวอ หวอ หวอ” โฮ้โฮ รถดับเพลิงวิ่งเร็วจังเลย !!! เอ๊ รถดับเพลิงจะไปไหนน๊า ทำไมขับเร็วจัง
- ช่วยกันสังเกตสิ่งอื่นๆ เช่น รถส่งอาหาร แม่ค้าหาบเร่ รถตำรวจ หัดให้เด็กคิด เปรียบเทียบ บอกความเหมือนความแตกต่าง
- เล่นเกม แม่เห็นสิ่งของบางอย่างสีเขียว น้องหน่อยเห็นหรือเปล่าน๊า เด็กต้องหาว่ามีของอะไรสี เขียวอยู่ในรถ แม่เห็นอะไรที่กินได้ ……แม่เห็นอะไรกลมๆ……เด็กต้องฝึกการการฟังคำสั่ง การ มองหาสิ่งของ การคิดนึกคำ การตอบคำถาม
7.เล่นสมมติในรถ
เล่นสมมติในรถ เช่น สมมติว่าเรากำลังอยู่ในยานอวกาศ กำลังอยู่ในเรือดำน้ำ อยู่ในรถไฟเล็กที่ พาเที่ยวในสวนสัตว์ แล้วพูดถึงสิ่งที่เรามองเห็นนอกรถ เช่น สมมติว่าเห็นพระจันทร์อยู่ตรงโน้น สมมติว่าอยู่ใต้ท้องทะเลลึก มองเห็นปลาฉลามว่ายอยู่รอบๆ
อ่านต่อ >> “กิจกรรมสุดสนุกไว้เล่นกับลูกตอนอยู่ในรถ” คลิกหน้า 3
8.ฟังเพลงกับลูกอย่างไรให้สร้างสรรค์
- เล่นทายชื่อเพลง เพลงอะไรต่อจากเพลงนี้
o เอ๊ เพลงแมงมุมลายร้องยังไงน๊า (ให้เด็กร้องเป็นทำนอง ถ้าเด็กไม่รู้ชื่อเพลง แม่ต้องหัด ร้องทำนอง เล่นๆให้เด็กสนุกด้วย)
o นี่ไงเพลงช้างๆ คุณแม่ชอบ (แกล้งพูดผิดชื่อ เพื่อฝึกหัดให้ลูกโต้แย้ง)
o ถามลูกว่าอยากฟังเพลงอะไร แล้วแกล้งทำผิด ทำเป็นงง ฝึกการสื่อสารโต้ตอบกลับไป มาให้ได้นานขึ้น
- แข่งกันฮัมเพลง ร้องเพลง แข่งกันทำเสียงดัง เสียงเบา ทำเสียงเลียนแบบ เช่น เสียงแมว เสียง นกร้อง เสียงแตรรถ
- การฝึกหัดฟังเพลงหลากหลายรูปแบบ เป็นการฝึกฟังเสียงที่มีโทน ความถี่แตกต่างกัน ช่วยฝึก ประสาทสัมผัสการฟัง การประมวลความแตกต่างของเสียง เช่น เพลงไทยเดิม เพลงลูกทุ่ง (ที่มี เนื้อหาเหมาะสมกับเด็ก) เพลง Jazz เพลงบรรเลง เพลงเสียงธรรมชาติ หัวเราะ เสียงเพลง และให้อารมณ์ที่หลากหลาย ทั้งสนุก ตื่นเต้น แข่งขัน เด็กๆชอบ มาก)
- คุณอาจหยุดเทป เพื่อถามคำถาม จะเกิดอะไรขึ้นถ้า เช่น ถ้าเจ้าชายไม่มาช่วย จะเป็นยังไงเนี่ย ถามความคิดของเด็ก ให้หัดคิด หัดคาดเดาเหตุการณ์ล่วงหน้า
9.เกมไปจ่ายตลาด
วิธีเล่นเกมนี้คือสมมติว่าเราไปจ่ายตลาด ไปซื้อของที่ขึ้นต้นด้วยตัว พ ให้ลูกทายว่าเป็นอะไร เช่น พริกขี้หนู พริกชี้ฟ้า เป็นต้น เกมนี้ช่วยฝึกสมองด้านภาษา การทบทวนข้อมูลการจากไปสถานที่ๆคุ้นเคย และการสังเกต
หากติดดินสอสี นิทานสนุกๆ กระดาษแข็งๆ โทรศัพท์เก่าๆ ที่ตีไข่ กระดาษแม่เหล็ก และของเล่นที่ฝึกการพัฒนากล้ามเนื้อมือ เช่น แป้งปั้น ดินน้ำมัน ไว้ข้างหลังเบาะรถก็จะช่วยให้ลูกมีกิจกรรมไว้เล่นในรถได้อย่างไม่รู้จักเบื่อ ที่สำคัญอย่าลืมให้ลูกคาดเข็มขัดนิรภัยหรือนั่งในคาร์ซีท(car seat) เพื่อความปลอดภัยของลูกรักด้วยนะคะ
10.เด็กที่ยังไม่ค่อยมีปฏิสัมพันธ์กับคนหรือเพิ่งเริ่มมีภาษา
- เปลี่ยนกิจกรรมที่เด็กทำอยู่ให้เป็นการทำด้วยกัน กิจกรรมอะไรก็ได้ที่เป็นการสร้างปฏิสัมพันธ์ต่อกัน ทุกอย่างถือเป็นสิ่งดีทั้งนั้น ถ้าลูกชอบมองออกไปนอกรถ ทำตามลูก ชี้ชวนกันดูสิ่งต่างๆที่มองเห็นข้างนอก หรือทำเป็นเอามือไปขวางกระจกไม่ให้ดู เพื่อสร้างปฏิสัมพันธ์
- ในเด็กที่ยังไม่มีภาษา เตรียมของเล่นที่เด็กชอบ เช่น ของเล่นกระตุ้นประสาทสัมผัสหลายๆชิ้น ใส่ถุง ให้เด็กเลือก เอาอันไหน อันนี้ดีกว่า แกลัง ตื้อ ยื้อ แกล้งงง หยิบผิดหยิบถูก
- เด็กที่ชอบเส้นทางเดิมๆและมักร้องโวยวาย ถ้าเปลี่ยนเส้นทาง เด็กกลุ่มนี้มักจะมีความสามารถ ทางสายตาดีมาก อาจเล่นเกมที่เกี่ยวกับการมองเห็น เช่น ชี้ให้ดูป้ายรถที่แตกต่างกัน ชี้ให้ดู สัญญาณไฟจราจร
ข้อแนะนำ
เด็กที่มีปัญหาการประมวลข้อมูลได้ไม่ดี เด็กอาจจะไม่สามารถ สังเกตตอบคำถามหรือทำสิ่งที่ ซับซ้อนได้ทันที่ แต่ ถ้าทำบ่อยๆ ฝึกการสังเกต ตั้งคำถามให้เด็กชวนสงสัย และพูดถึง ประสบการณ์ต่างๆบ่อยๆ ทุกวันทุกวัน (อย่างสร้างสรรค์ สนุกสนานและไม่น่าเบื่อ) เด็กจะ ค่อยๆเรียนรู้และซึมซับไปเอง วันหนึ่งคุณจะแปลกใจที่เห็นลูกทำได้
การเลือกเล่นเกม ถามคำถาม ใช้ตัวอย่างที่เด็กรู้จักดี (สิ่งของ สถานที่ หรือคน) หรือเคยมี ประสบการณ์มาก่อน ใส่อารมณ์ความรู้สึกลงไปในเกมนั้นๆ
สิ่งทีสำคัญที่สุด คือ ความรู้สึกสนุก ชอบและ ดีใจที่ได้อยู่กับลูกเล่นกับลูก สามารถมีปฏิสัมพันธ์ และส่งเสริมพัฒนาการลูกได้ในทุกอารมณ์ ทุกโอกาสและทุกสถานการณ์
ข้อมูลอ้างอิง : www.manager.co.th
คลินิคพัฒนาการเด็ก : สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล
www. floortimerepository.com
Greenspan, S. Wieder, S. 2006. Engaging Autism. United States of America: DA Capo Press.
พุทธิตา. 2550. บูรณาการเพื่อลูกออทิสติก. กรุงเทพฯ: แฮปปี้ แฟมิลี่.