การเรียนรู้เริ่มต้นที่.... - Amarin Baby & Kids

การเรียนรู้เริ่มต้นที่….

Alternative Textaccount_circle
event

Q สวัสดีค่ะ คุณหมอ คุณแม่เห็นข่าวสารยุคนี้ที่พูดถึงปัญหาการศึกษาของเด็กไทย เลยกังวลว่าลูกน้อยวัย 4 เดือนจะประสบกับปัญหาเรื่องนี้ไหม แล้วคุณพ่อคุณแม่ต้องรับมือลูกน้อยอย่างไร นอกจากนี้ คุณแม่ตั้งข้อสังเกตว่าเด็กๆ กว่าเขาจะไปโรงเรียนก็ต้องรอให้โตก่อน ถ้าอย่างนั้นระหว่างที่เขายังเล็กคุณพ่อคุณแม่ควรทำอย่างไรเกี่ยวกับการเรียนรู้ของเขาดีคะ

            เคยตั้งข้อสงสัยกันไหมคะว่า ในอดีตเด็กๆ ถูกเลี้ยงดูและอบรมสั่งสอนที่บ้านมากกว่าที่โรงเรียน แต่ยุคนี้กลับพบเด็กหลายคนไปโรงเรียนตั้งแต่อายุยังน้อย และหากมาทำความเข้าใจเรื่องพัฒนาการของเด็ก จะเห็นว่าสมองของเด็กมีพัฒนาการอย่างต่อเนื่องโดยไม่ได้รอว่ามาโรงเรียนจึงค่อยพัฒนา ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่สามารถอบรมเลี้ยงดูเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ของลูกได้ตั้งแต่ที่บ้านค่ะ โดยการพัฒนาเครื่องมือสำหรับเรียนรู้ของเด็กซึ่งก็คือสมอง ให้เหมือนที่เราสร้างบ้าน คือ ต้องวางรากฐานที่มั่นคงก่อน ด้วยการ

  • วางระบบสมอง สมองของเด็กมีการแตกกิ่งก้านสาขาและเชื่อมต่อเป็นโครงข่ายสายใยประสาทด้วยการรับข้อมูลจากสิ่งแวดล้อม เราจึงควรบำรุงสมองด้วยอาหารที่จำเป็นต่อการสร้างเครือข่ายสายใยประสาทและให้เด็กได้สำรวจโลกอย่างเหมาะสมตามวัย เพื่อให้สมองของเด็กได้รับข้อมูลเข้าไป
  • เข้าใจการพัฒนาสมอง เนื่องจากสมองทำงานด้วยการส่งผ่านกระแสประสาทขณะรับข้อมูล ดังนั้นยิ่งมีข้อมูลมากสมองก็จะยิ่งทำงานและเรียนรู้มาก ข้อมูลดังกล่าวมาจากประสบการณ์ตรงที่เด็กได้สำรวจโลกผ่านประสาทสัมผัสและการลงมือทำ
  • เรียนรู้ผ่านการเล่น เพราะสมองของเด็กเล็กเรียนรู้โลกผ่านประสาทสัมผัสและการเคลื่อนไหว ขณะที่เขาจ้องมองใบหน้าของคุณพ่อคุณแม่ จ้องมองของเล่น หรือนกที่บินผ่าน (ตา) เขายังได้ยินเสียงพูดคุยกับเขา เสียงร้องเพลงให้เขาฟัง หรือเสียงนกร้องลมพัด(หู) ได้กลิ่นอาหารในบ้าน หรือกลิ่นดอกไม้ในสวน (จมูก) ได้สัมผัสใบหน้า หรือเงยหน้าและเอื้อมมือเพื่อจะคว้านก (สัมผัสที่ผิว การรับรู้กล้ามเนื้อข้อต่อ และการใช้กล้ามเนื้อ) รวมถึงเขายังอาจต้องนั่งทรงตัวบนตักคุณแม่ (Vestibular) ยิ่งลูกน้อยได้เล่น (ตามวัย) มากเท่าไหร่ เครือข่ายสายใยประสาทของลูกยิ่งแข็งแรงมากขึ้นเท่านั้น
  • เรียนรู้ผ่านภาษาและการพูดคุย ช่วงอายุระหว่าง 2 – 7 ขวบหรือตั้งแต่ลูกน้อยเริ่มพูดได้ เขาจะพัฒนาความเข้าใจภาษาและการพูดคุยอย่างรวดเร็วขณะเล่น หรือพูดคุยกับผู้ใหญ่ จากเด็กน้อยที่พูดเป็นคำเดี่ยวๆ จนสามารถพูดเป็นวลี เป็นประโยคง่ายๆ และซับซ้อนมากขึ้น เขาต้องเติบโตในสิ่งแวดล้อมที่มีผู้ใหญ่พูดคุยและรับฟังเขา รวมถึงการร้องเพลงและการเล่านิทาน
  • เรียนรู้ผ่านกิจวัตรประจำวัน เพราะการเรียนรู้และการพัฒนาสมอง คือ เด็กได้ฝึกฝนทักษะการช่วยเหลือตนเองตามวัย ถึงวัยที่ต้องหยิบของป้อนตัวเอง (ประมาณ 7 เดือนขึ้นไป) ก็ได้ทำ เมื่อมีพัฒนาการที่ดีขึ้นที่เขาสามารถดื่มน้ำจากแก้วได้โดยไม่หก ( ประมาณ1 ขวบครึ่ง) ใช้ช้อนป้อนตัวเองได้ (1.5 – 2 ขวบ) ถอดและใส่เสื้อผ้าได้เอง และอื่นๆ อีกมากมาย โดยขณะที่เด็กได้ช่วยเหลือตัวเอง ก็มีผู้ใหญ่คอยดูแลและพูดคุยกับเขาบ้าง นอกจากเด็กจะมีพัฒนาการกล้ามเนื้อและทักษะสังคม-การช่วยเหลือตัวเองดีขึ้นแล้ว พัฒนาการด้านอารมณ์-จิตใจก็ยังได้พัฒนาและสร้างเสริมความสัมพันธ์ระหว่างลูกน้อยกับคุณพ่อคุณแม่อีกด้วยค่ะ
  • เรียนรู้ผ่านความจริง และประสบการณ์ตรง เด็กจะสามารถเชื่อมโยงเหตุและผลได้ เขาต้องได้รับประสบการณ์ตรงที่หลากหลาย เช่น สำรวจพื้นที่นอกบ้าน เรียนรู้ห้องต่างๆ ในบ้าน หน้าที่ของแต่ละอาชีพ ฝึกเปรียบเทียบความเหมือน-แตกต่างของสิ่งต่างๆ (เช่น รถไฟธรรมดา กับ รถไฟฟ้า) สิ่งสำคัญตรงนี้ คือ ผู้ใหญ่ที่พูดคุย ถกเถียงและกระตุ้นให้เขาคิด

 

ดังนั้นถ้าจะให้คุณหมอตอบคำถามคุณแม่ว่าการเรียนรู้ควรเริ่มที่ไหนดี คำตอบ คือ ที่บ้าน ที่ครอบครัว ที่คุณพ่อคุณแม่ สิ่งต่างๆ รอบตัว ที่สมอง และหัวใจของลูกค่ะ

 

 

เรื่องโดย : พญ.นลินี เชื้อวณิชชากร
ภาพ : Shutterstock

 

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up