เกร็ดดี จากคุณหมอผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการเด็ก
ช่วงเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ผมได้มีโอกาสขึ้นเวทีเสวนาเรื่องการเลี้ยงลูกคู่กับคุณหมอจิราภรณ์ อรุณากูร (หรือหมอโอ๋เจ้าของเพจเลี้ยงลูกนอกบ้าน) และคุณหมอธีรชัย บุญยะลีพรรณ ส่วนผมไปในฐานะคุณพ่อรุ่นใหม่ที่เลี้ยงลูกด้วยความเข้าใจ จึงได้มีโอกาสสนทนาเรื่องลูก กับคุณหมอทั้ง 2 ท่าน ซึ่งก็ได้ให้เคล็ดลับดีๆ ที่น่าสนใจในการเลี้ยงลูก ที่น่าสนุก และอยากเอามาแบ่งปันให้อ่านกันฮะ
- ความสม่ำเสมอ คุณหมอธี แนะนำว่า การสอนอะไรขอให้ทำให้สม่ำเสมอ ไม่ใช่อารมณ์ดีสอนอย่างหนึ่ง อารมณ์เสียสอนอย่างหนึ่ง เด็กจะไม่รู้ว่าที่ถูกคืออะไร นอกจากนั้นต้องตกลงกันให้ดีระหว่างพ่อและแม่ด้วย เช่น การรื้อกระเป๋า หากคุณแม่ดุ แต่คุณพ่อไม่ดุ เด็กจะเรียนรู้ว่าต่อหน้าคุณพ่อรื้อได้ แต่ถ้าคุณแม่อยู่ห้ามรื้อ ดังนั้นเด็กไม่ได้เรียนรู้ว่าการรื้อกระเป๋าไม่ดี ซึ่งหากไปรื้อกระเป๋าคุณครูที่โรงเรียนอาจจะกลายเป็นขโมยไป
- การให้รางวัลต่างกับการให้สินบน เด็กๆ ต้องการคำชมเมื่อเขาทำในสิ่งที่ดีดังนั้นถ้าเด็กทำดีต้องให้รางวัล ซึ่งก็คือคำชม เช่น ถ้าเจ้าตัวเล็กทานข้าวเอง ก็ให้ชมเชยเขาด้วย ถือเป็นการให้รางวัล แต่ในอีกกรณีถ้าเจ้าตัวลงไปนอนดิ้นกลางห้างสรรพสินค้าแล้วเราบอกว่าหยุดดิ้นเดี๋ยวซื้อของเล่นให้ ในกรณีหลังเข้าข่ายให้สินบนนะฮะ ซึ่งเจ้าตัวเล็กเรียนรู้เร็วซะด้วยนะ
- ตีลูกได้เฉพาะเวลาฉุกเฉินเท่านั้น เด็กกำลังเล่นปลั๊กไฟอาจจะรีบตีมือจะมามัวพูดดีๆ คงไม่ทัน และคุณหมอไม่ได้มองว่าการตีเป็นสิ่งที่ผิด (ตรงนี้ปะป๊าเอกเสริมคุณหมอว่าผมก็ตีนะฮะ แต่ไม่ได้ตีให้เจ็บ แต่ตีด้วยความเมตตา ตีเชิงสัญลักษณ์ให้รู้ว่าถูกตำหนิ) คุณหมอเสริมว่า เพราะหลายๆ คนมองว่าไม่ควรตี แต่การดุแรงๆ ตำหนิแรงๆ ก็เป็นการตีแบบหนึ่ง ซึ่งเด็กเองรู้สึกไม่ต่างกับถูกตี
- การพูดด้านบวก ในมื้อกลางวันมื้อหนึ่งปูนปั้นสนุกกับการหมุนอาหารให้คนโน้นคนนี้ แต่ด้วยความเป็นเด็กก็ชอบที่จะหมุนให้เร็ว ตามปกติปะป๊าก็คงสอนว่า “หมุนเร็วไม่ดีนะเพราะอาหารจะหก และถ้วยชามอาจจะหล่นแตกได้” แต่คุณหมอมีวิธีพูดที่น่ารักและด้านบวกกว่า โดยคุณหมอพูดกับเจ้าปูนปั้นว่า “ปูนปั้นหมุนอาหารให้ผู้ใหญ่ ใจดีจังเลย แต่หมุนแบบเร็วๆ อะหมุนง่าย ใครๆก็ทำได้ หมุนช้าๆ ทำยากกว่านะ มามาลุงหมอจะสอนให้” เจ้าปูนปั้นถึงกับหันมามองหน้าลุงหมอเลยทีเดียวฮะ แล้วผมก็หันไปหาภรรยาว่าต้องหัดพูดแนวนี้ซะแล้ว
- การกินผัก เข้าใจว่าเป็นประเด็นสำหรับหลายครอบครัว สำหรับเจ้าปูนปั้นเอง เป็นเด็กที่กินผักได้ ไม่ค่อยมีปัญหา มะระที่ผู้ใหญ่บ่นขมก็ยังทาน แต่จู่ๆบางวันก็ไม่ทานซะงั้น แม้แต่แครอทของชอบ ก็ต้องให้เขี่ยออกหมด ผมเลยได้โอกาสถามคุณหมอว่าเป็นเพราะอะไร คุณหมอบอกว่าเด็กกินผักมั้ยให้ดูภาพรวมๆ ดูค่าเฉลี่ยอย่าไปดูเป็นวันๆ เพราะเด็กจะมีอารมณ์แนวนี้อยู่อยากบ้างไม่อยากบ้างเป็นเรื่องปกติ ถ้าเฉลี่ยๆเขาทานเราก็เสริมเขาไปเรื่อยๆ ไม่ต้องไปกังวล
- การแบ่งปัน การที่สอนเด็กให้แบ่งปันเป็นเรื่องที่ดี แต่ประเด็นที่น่าสนใจจากการสนทนากับคุณหมอคือ การที่เด็กแบ่งปันยังไม่ใช่เรื่องคุณธรรมดาความดีแต่อย่างเดียว แต่เด็กทำเพราะอยากได้รับคำชม ดังนั้นถ้าเขาทำดีแล้วเราไม่ชม เขาก็อาจจะเลิกทำ แต่ถ้าเราชมเชยเวลาที่เขาแบ่งปัน จากการทำเพื่อรับคำชม ต่อไปคุณธรรมก็จะค่อยๆ ปลูกฝังเมื่อเขาเติบโตขึ้นเรื่อยๆ
- ติดจอ อีกหนึ่งปัญหาโลกแตก ซึ่งผมเคยเขียนเรื่องนี้ไปก็ได้รับคำคอมเมนต์ว่าจะให้ทำอย่างไร ไม่มีเวลาดูลูกตลอด หรือ ก็ไม่เห็นจะเป็นไรเลยลูกก็ดูปกติดี สิ่งที่ได้จากการสนทนาและเสวนาในครั้งนี้ที่น่าสนใจ คือ ผลที่จะเกิดอาจจะไม่ได้เกิดปัจจุบันทันด่วนในตอนนี้นะฮะ แต่จะสะสมไปเรื่อยๆ เช่น เด็กสามารถรูดจอเปลี่ยนภาพ เปลี่ยนอะไรดูได้รวดเร็วทันใจ สิ่งที่ค่อยๆสะสมคือ ความไม่รู้จักอดทนรอ เพราะทุกอย่างมันไม่สามารถรูดปรื้ดได้หมด หรือ อีกกรณีที่คุณหมอยกตัวอย่าง คือ สติในการตัดสินที่ต้องใช้เวลาชั่ววูบ เด็กที่ติดจออาจจะตัดสินใจแบบใช้สติน้อย ไม่รอบคอบ เช่น มีคนมาดักจี้ เอามีดมาจี้ขอมือถือ ถ้ามีสติเราน่าจะยอมให้และรักษาตัว แต่มีคนที่เลือกจะสู้เพราะผลจากการเสพสื่อพวกนี้ ใช้การตัดสินใจแบบวูบวาบไม่คิดให้รอบคอบkeyword คงอยู่ที่ การดูจอมากๆ อาจจะไม่ได้เห็นผลเสียในวันนี้นะฮะ
- เด็กง่วงนอนแล้วงอแง อันนี้คุณหมอแนะว่า ทำใจให้สบาย พยายามเข้าใจเขาว่าเขาเองก็ง่วง หงุดหงิด แต่ไม่อยากนอน เรารู้จักลูกมากที่สุด ต้องหาวิธีที่ทำให้เขาสงบ เป็นกลเม็ดครอบครัวใครครอบครัวเขา อย่าไปคิดฝืนดุเขา ตวาดหรือตีให้หยุด เพราะเป็นธรรมชาติของเด็กทุกคน
- ทำให้ดูเป็นแบบอย่าง หลักในการเลี้ยงลูกมีง่ายๆ คือ เลี้ยงให้ลูกเติบโตมาดีกว่าเรา ทำสิ่งที่ดีให้เขาดูเป็นตัวอย่าง อะไรไม่ดีก็อย่าทำให้เห็น คุณหมอชอบลูกอมมากแต่คุณหมอจะไม่ให้ลูกเห็น เวลาจะอมก็ไปหลบๆ ซึ่งพอโตมาลูกๆ คุณหมอก็ไม่อมลูกอมกันแต่จะซื้อมาฝากคุณหมอ เพราะรู้ว่าคุณพ่อชอบ อยากให้ลูกทำอะไรก็ทำให้ดูเป็นตัวอย่าง คุณหมอจะยกกรณีที่ปะป๊าเอก เก็บของให้ปูนปั้นดูเป็นตัวอย่าง จนปูนปั้นทำตามเป็นนิสัยปกติว่าเล่นของเล่นเสร็จแล้วต้องเก็บขึ้น ซึ่งคุณหมอพูดตัวอย่างนี้ทุกรอบ ผมขอเอาคลิปปูนปั้นเก็บของเล่น แบบดูไปอมยิ้มไปมาฝากด้วยครับ
ผมว่าเกร็ดเล็กๆ ข้างบนน่าจะปรับใช้ได้กับทุกครอบครัว จริงๆ ยังมีอีกหลานเรื่อง เช่น ทั้งเด็ก 2-3 ภาษา, การคุมอารมณ์ของพ่อแม่ เป็นต้น แต่จริงๆย้อนหลังอ่านที่ผมเคยเขียนไว้ได้นะฮะ ตบท้ายด้วยประโยคทีเด็ดของคุณหมอที่ช่วยลดความกดดันให้คุณพ่อคุณแม่ก็คือทำให้ดีที่สุดได้สัก 80% ก็เพียงพอแล้ว ถ้าตัดเกรดก็ได้ 4 แล้ว หวัง 100% คงยาก เมื่อได้อ่านเกร็ดต่างๆแล้ว หากครอบครัวไหนมีเกร็ดอะไรสนุกๆ มาคอมเมนต์แบ่งปันกันเพิ่มก็จะได้เป็นประโยชน์มากขึ้นนะครับ
ฝากช่องทางติดตามเจ้าปูนปั้นอีกที่คือที่ Youtube ช่อง PoonPun ‘The Smiling Boy’ นะครับ