เลือกวิธีพูดสื่อความหวังดีให้เป็น
ไม่มีเวทมนตร์ใดเสกให้ลูก ‘เชื่อฟัง’ และ ‘ทำตาม’ พ่อแม่!!
สมัยอยู่กรุงเทพฯ หมอกับทีมนักจิตวิทยาเคยจัดอบรมเรื่องเทคนิคการปรับพฤติกรรมเด็กอยู่หลายครั้งค่ะ พอถึงหัวข้อเรื่อง “เทคนิคการสื่อสาร” ทีไร คุณพ่อคุณแม่มักถามหาว่า มีคำพูดแบบไหนที่จะทำให้ลูก “เชื่อฟัง” และ “ทำตาม” ที่เราพูดได้
แหม..ถ้ามีเวทมนตร์แบบนั้นก็คงดีนะคะ (ฮา)
เพราะความจริงแล้ว ไม่มีคำพูดคำไหนหรอกค่ะที่จะไปควบคุมความคิดจิตใจของคนอื่นได้ และลูกๆก็คือคนคนหนึ่งที่มีความคิดของตัวเอง ไม่ใช่หนึ่งในอวัยวะในความควบคุมของเรา
เทคนิคการพูดที่ดีจึงไม่ได้มีจุดประสงค์เพื่อจะไปสั่งการใคร แต่การพูดที่ดี คือพูดแล้ว คนฟังเข้าใจว่าต้องการจะสื่ออะไร และไม่ทำให้คนฟังขุ่นข้องหมองใจโดยไม่จำเป็น
เจตนาที่ดีของเราจะได้สื่อไปถึงลูก ไม่หล่นหายไปกลางทางเพราะการเลือกใช้คำผิด
เทคนิคง่ายๆ ก็คือ การพูดความคิดเห็นและความรู้สึกของเรา โดยใช้ตัวเราเป็น “ประธาน” ขึ้นต้นประโยค หรือที่เราเรียกกันว่าเทคนิค “I-message” ค่ะ เช่น ถ้าเราเป็นห่วงที่ลูกไม่ทำการบ้านตามเวลา เราก็พูดไปตรงๆค่ะ ว่า
“แม่เป็นห่วง กลัวลูกจะทำการบ้านไม่ทัน”
ฟังแล้วก็เข้าใจเลยใช่ไหมคะว่าคุณแม่คนนี้เป็นห่วงลูก (สังเกตนะคะว่าประโยคนี้ มี “แม่” หรือ “ผู้พูด” เป็นประธานของประโยค)
แต่ถ้าเราเปลี่ยนเป็นพูดอีกแบบ เช่น
“ดึกป่านนี้แล้วทำไมลูกไม่รู้จักทำการบ้าน” หรือ “ทำไมลูกเหลวไหลแบบนี้” (สังเกตนะคะว่าในประโยค มี “ลูก” หรือ “ผู้ฟัง” เป็นประธานของประโยค)
พูดแบบนี้ฟังแล้วเหมือนเป็นการตำหนิใช่ไหมคะ ลองนึกดูนะคะ ว่าเวลาลูกฟังประโยคนี้แล้ว แทนที่จะไปคิดเรื่องการบ้าน อาจจะกลายเป็นอารมณ์เสียกับคุณแม่แทน เพราะรู้สึกว่าคุณแม่ไปบ่นเขา ความหวังดีของคุณแม่ก็ถูกบดบังไปอย่างน่าเสียดายค่ะ
ซึ่งแน่นอนค่ะ ว่าเทคนิค “I-message” นี้ไม่ใช่เวทมนตร์ที่จะเสกให้เด็กลุกไปทำการบ้านหรือทำตามใจพ่อแม่ แต่เราเชื่อค่ะว่าถ้าคุณพ่อคุณแม่สื่อสารเจตนาดีของตัวเองให้เด็กเข้าใจได้ เด็กจะเลือกสิ่งที่ดีให้กับตนเอง และครอบครัวก็ไม่ต้องเสียเวลาทะเลาะกันเพราะถ้อยคำที่ผิดหูไม่กี่คำ
เพราะคำพูดที่ผู้พูดนึกว่าเป็นเรื่องเล็กน้อย มีผลกับความรู้สึกผู้ฟังมากกว่าที่คิดนะคะ
เรื่องโดย : พญ.พิชญา ตันธนวิกรัย จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น รพ.พหลพลพยุหเสนา
ภาพ : Shutterstock