‘แม่ไม่ชอบผม คอยดุว่าตลอด’
‘เราอยากให้เขาได้ดี เลยต้องคอยบอกคอยสอน’
ครอบครัวคุณเข้าใจสวนทางกันแบบนี้หรือเปล่า!?
หนึ่งในหน้าที่หลักของจิตแพทย์เด็กคือการรับฟังค่ะ
เรารับฟังทั้งเด็กและผู้ปกครอง บางทีก็ฟังทั้งสองฝ่ายไปพร้อมๆกัน บางทีก็ขอฟังแยกทีละคน และเวลาที่เรารับฟังเด็กและผู้ปกครองแยกจากกันนี่แหละค่ะ ที่เรามักจะพบเรื่องราวที่น่าสะดุดใจ..โดยเฉพาะอย่างยิ่งเวลาที่คำพูดของทั้งสองฝ่ายไม่ตรงกัน
เมื่อเด็กพูดว่า “แม่เขาไม่ชอบผม ไม่ว่าผมจะทำอะไรก็ไม่เคยถูกใจ คอยแต่จะหาเรื่องดุว่าตลอด”
ส่วนคุณแม่พูดว่า “เรารักเขา อยากให้เขาได้ดี เลยต้องคอยบอกคอยสอน”
ฟังสองประโยคนี้แล้ว รู้สึกยังไงกันบ้างคะ?
บางคนก็คงฟังแล้วถอนใจว่า “เอาน่า ที่แท้ก็แค่เข้าใจผิดกันเท่านั้นเอง อีกหน่อยโตเป็นผู้ใหญ่ เด็กก็คงคิดได้เองว่าคนเป็นพ่อเป็นแม่นั้นหวังดี”
แต่การปล่อยผ่านไปเฉยๆ ก็ดูจะเป็นการผลักภาระให้เด็กและโชคชะตาเกินไปซักหน่อยค่ะ เพราะจากประสบการณ์ที่ผ่านมา เราพบว่าก็ไม่ใช่ทุกบ้านนะคะที่ตอนท้ายจะมาลงเอยด้วยดี
เพราะการปล่อยให้เด็กต้องอยู่ในความคับข้องใจนานๆ หรือปล่อยความแตกแยกให้บานปลาย ก็อาจกลายเป็นรอยร้าวที่ยากต่อการสมานค่ะ
จากคำให้การที่ขัดแย้งกันข้างต้น สิ่งที่สะกิดใจหมอที่สุดก็คือ..น่าจะมีความผิดพลาดในการสื่อสารระหว่างแม่ลูกคู่นี้ ความปรารถนาดีของคุณแม่ถึงได้ถูกแปลไปในทางลบ
ลองนึกดูนะคะ ถ้าคุณผู้ปกครองหวังดี อยากให้ลูกได้ดี แต่คำพูดที่ออกไปคือ “ทำไมทำตัวแบบนี้ ทำไมไม่ทำแบบนั้น ทำไมไม่เอาอย่างคนอื่นเขาบ้าง” เวลาที่เด็กรับฟังคำพูดเหล่านี้ คุณคิดว่าสิ่งที่ตกค้างในใจเด็กจะเป็นความหวังดีของเรา หรือจะเป็นความรู้สึกแย่ๆที่โดนตำหนิมากกว่ากันคะ
ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่ทุกท่านก็อย่าลืมที่จะคอยสำรวจคำพูดของเราเองอยู่เสมอนะคะว่าเผลอทำให้ลูกน้อยเนื้อต่ำใจหรือเปล่า เพราะความหวังดี ที่สื่อสารออกไปได้ไม่ดี อาจจะกลายเป็นอาวุธที่ทิ่มแทงจิตใจเด็กของเราอยู่ก็ได้ค่ะ
ปล.ส่วนเคล็ดลับและเทคนิคอื่น ๆ ที่เราใช้ในการสื่อสารกับเด็กให้ได้ประสิทธิภาพ หมอจะขอเล่าต่อในบล็อกถัดไปค่ะ
เรื่องโดย : พญ.พิชญา ตันธนวิกรัย จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น รพ.พหลพลพยุหเสนา
ภาพ : Shutterstock