AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

สิทธิการเลี้ยงดูบุตร เมื่อไม่ได้จดทะเบียน

เรื่องความสัมพันธ์ในครอบครัวเป็นเรื่องละเอียดอ่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องของความสัมพันธ์ระหว่าง พ่อ แม่ และลูก  ซึ่งมีความสำคัญตั้งแต่แรกเกิด ก่อให้เกิด สิทธิการเลี้ยงดูลูก และหน้าที่ทั้งในทางกฎหมายและในทางปฏิบัติระหว่างกันและกันมากมาย

และที่น่าจะเป็นปัญหามากที่สุดในสังคมตอนนี้ก็ คือ สิทธิการเลี้ยงดูบุตร เนื่องจากยุคสมัยได้เปลี่ยนไปบางครอบครัวจดทะเบียนสมรสกันถูกต้องตามกฎหมาย ในขณะเดียวกันก็มีหลายครอบครัวที่สามีภรรยาไม่ได้จดทะเบียนสมรสกัน ดังนั้น เมื่อมีลูกจึงเกิดปัญหาว่าใครเป็นผู้มีสิทธิในการดูแลลูก

สิทธิการเลี้ยงดูลูก

เมื่อคุณแม่ต้องกลายเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยว กฎหมายที่นำมาบังคับใช้เกี่ยวกับเรื่องสิทธิในการดูแลบุตรได้แก่ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งในกรณีนี้สิทธิของมารดากฎหมายกำหนดไว้อย่างชัดเจนในมาตรา 1546 ว่า

เด็กเกิดจากหญิงที่มิได้มีการสมรสกับชาย ให้ถือว่าเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของหญิงนั้น หมายความว่า ในกรณีที่หญิงไม่ได้จดทะเบียนสมรสกับชายแต่เกิดตั้งครรภ์และคลอดบุตรออกมา เด็กที่เกิดนี้ถือว่า เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของหญิงนั้นแต่เพียงผู้เดียวเท่านั้น ถือเป็นหลักที่ว่าบุตรเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของมารดาเสมอไม่ว่าในกรณีใด ๆ ก็ตาม

*ตรงกันข้ามกับการเป็นบิดาของเด็กที่เกิดโดยบิดามารดาไม่ได้จดทะเบียนสมรสกันซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องพิสูจน์และมีปัญหายุ่งยากในการพิสูจน์

ซึ่งการทำให้เด็กที่เกิดนอกสมรสกลายเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของผู้เป็นพ่อนั้น ตามมาตรา 1547 กำหนดว่า เด็กที่เกิดจากพ่อแม่ที่มิได้สมรสกัน จะเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายต่อเมื่อคุณพ่อคุณแม่ได้สมรสกันในภายหลัง หรือผู้เป็นพ่อได้จดทะเบียนว่าเป็นลูก หรือศาลพิพากษาว่าเป็นลูกของตน

หมายความว่า เด็กที่เกิดจากแม่ที่ไม่ได้สมรสกับพ่อนั้นให้ถือว่า เป็นลูกที่ชอบด้วยกฎหมายของผู้เป็นแม่แต่เพียงผู้เดียวเท่านั้น แม้พ่อจะมาอยู่กินกันฉันสามีภรรยากับแม่โดยเปิดเผยก็ไม่ถือว่าเป็นพ่อโดยชอบด้วยกฎหมาย

ผู้เป็นพ่อสามารถนำเด็กมาเลี้ยงไว้เองได้หรือไม่?

เมื่อแม่เป็นแม่ที่ชอบด้วยกฎหมาย ส่วนพ่อเป็นพ่อนอกกฎหมาย ดังนั้น แม่จึงเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองลูกได้แต่เพียงผู้เดียว มีสิทธิที่จำกำหนดที่อยู่ของลูก และสิทธิที่จะเรียกลูกคืนจากบุคคลผู้ไม่มีสิทธิที่จะกักลูกไว้ ซึ่งรวมถึงพ่อนอกกฎหมายด้วย แต่ตามมาตรา 1566  เด็กซึ่งยังไม่บรรลุนิติภาวะต้องอยู่ใต้อำนาจปกครองของพ่อแม่ อำนาจปกครองอยู่กับพ่อหรือแม่ในกรณีดังต่อไปนี้

(1) แม่หรือพ่อ เสียชีวิต

(2) ไม่แน่นอนว่าแม่หรือพ่อ มีชีวิตอยู่หรือตาย

(3) แม่ หรือ พ่อ ถูกศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถหรือเสมือนไร้ความสามารถ

(4) แม่ หรือ พ่อ  ต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลเพราะจิตฟั่นเฟือน

(5) ศาลสั่งให้อำนาจปกครองอยู่กับพ่อหรือแม่

(6) พ่อและแม่ตกลงกันตามที่มีกฎหมายบัญญัติไว้ให้ตกลงกันได้

และตามมาตรา 1567  ผู้ใช้อำนาจปกครองมีสิทธิ

(1) กำหนดที่อยู่ของบุตร

(2) ทำโทษบุตรตามสมควรเพื่อว่ากล่าวสั่งสอน

(3) ให้บุตรทำการงานตามสมควรแก่ความสามารถและฐานานุรูป

(4) เรียกบุตรคืนจากบุคคลอื่นซึ่งกักบุตรไว้โดยมิชอบด้วยกฎหมาย

แต่หากว่าผู้เป็นแม่ได้สิทธิในเลี้ยงดูบุตรโดยชอบธรรมแล้ว ต้องการฟ้องร้องเรียกค่าเลี้ยงดูจากผู้เป็นพ่อที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสกันนั้นจะสามารถทำได้หรือไม่อย่างไร >> คลิกอ่านต่อหน้า 2

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids

 

การฟ้องร้องเรียกค่าเลี้ยงดูจากผู้เป็นพ่อที่ไม่ได้จดทะเบียน

เมื่อคุณแม่ต้องกลายเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยว ในกรณีที่ผู้เป็นแม่มีลูกด้วยกันกับพ่อแล้ว แต่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสกัน ลูกก็ถือว่าเป็นเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของคุณแม่ แต่ก็เป็นลูกไม่ชอบด้วยกฎหมายของผู้เป็นพ่อ … ดังนั้นพ่อผู้ให้กำเนิดก็ไม่ต้องจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรตามกฎหมาย

แต่ถ้าคุณแม่ต้องการให้ผู้เป็นพ่อจ่ายเงินค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตร คุณแม่ควรดำเนินการให้ลูกเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้เป็นพ่อเสียก่อน คุณแม่จึงจะมีสิทธิเรียกร้องเงินค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรได้

>> ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1547 “เด็กที่เกิดจากพ่อแม่ที่ไม่ได้สมรสกัน จะเป็นลูกชอบด้วยกฎหมายต่อเมื่อพ่อแม่ได้สมรสกันในภายหลัง หรือบิดาได้จดทะเบียนว่าเป็นบุตร หรือศาลพิพากษาว่าเป็นบุตร”

ซึ่งการจดทะเบียนรับรองบุตรที่ถูกต้องนั้น ต้องให้ผู้เป็นพ่อไปทำการจดทะเบียนรับรองบุตรกับนายทะเบียนที่สำนักงานเขตหรือที่อำเภอ โดยแม่ของลูกและลูกต้องให้ความยินยอม (เด็กต้องพูดให้ความยินยอม หากเด็กยังเล็กมากไม่สามารถให้ความยินยอมได้ก็อาจขอให้ศาลมีคำสั่งแทนคำยินยอมของเด็ก) ลูกจึงจะเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของพ่อ หรือเมื่อคุณแม่กับคุณพ่อจดทะเบียนสมรสกัน หรือเมื่อศาลพิพากษาว่าเป็นลูก เด็กก็จะเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของพ่อโดยมีผลย้อนหลังไปนับแต่วันที่ลูกเกิด

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids

 

และเมื่อทำการจดทะเบียนรับรองบุตร เรียบร้อยแล้วตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1564 บัญญัติว่า “พ่อแม่จำต้องอุปการะเลี้ยงดูและให้การศึกษาตามสมควรแก่ลูกในระหว่างที่เป็นผู้เยาว์”

และมาตรา 1598/38 “ค่าอุปการะเลี้ยงดูระหว่างสามีภริยา หรือระหว่างพ่อแม่กับลูกนั้นย่อมเรียกจากกันได้ในเมื่อฝ่ายที่ควรได้รับอุปการะเลี้ยงดูไม่ได้รับการอุปการะเลี้ยงดูหรือได้รับการอุปการะเลี้ยงดูไม่เพียงพอแก่อัตภาพ ค่าอุปการะเลี้ยงดูนี้ศาลอาจให้เพียงใดหรือไม่ให้ก็ได้ โดยคำนึงถึงความสามารถของผู้มีหน้าที่ต้องให้ ฐานะของผู้รับและพฤติการณ์แห่งกรณี”

ดังนั้น หากผู้เป็นพ่อไม่ได้ส่งเสียเลี้ยงดูลูกเลย คุณแม่ก็สามารถดำเนินการฟ้องศาลขอให้ผู้เป็นพ่อของลูกนั้นรับเด็กเป็นลูกโดยชอบด้วยกฎหมาย โดยเหตุในการฟ้องคดีเป็นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  มาตรา 1555 “ในคดีฟ้องขอให้รับเด็กเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมาย ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเด็กเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของชายเมื่อปรากฏข้อเท็จจริงอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้

พฤติการณ์ที่รู้กันทั่วไปตลอดมาว่าเป็นบุตรนั้น ให้พิจารณาข้อเท็จจริงที่แสดงความเกี่ยวข้องฉันบิดากับบุตรซึ่งปรากฏในระหว่างตัวเด็กกับครอบครัวที่เด็กอ้างว่าตนสังกัดอยู่เช่น บิดาให้การศึกษา ให้ความอุปการะเลี้ยงดูหรือยอมให้เด็กนั้นใช้ชื่อสกุลของตนหรือโดยเหตุประการอื่น ในกรณีใดกรณีหนึ่งดังกล่าวข้างต้น ถ้าปรากฏว่าชายไม่อาจเป็นบิดาของเด็กนั้นได้ ให้ยกฟ้องเสีย

ทั้งนี้ คุณแม่สามารถยื่นฟ้องผู้เป็นพ่อต่อศาลเยาวชนและครอบครัวที่คุณมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตอำนาจศาลได้ โดยในคำฟ้องฉบับเดียวกัน คุณแม่สามารถฟ้องขอให้ผู้เป็นพ่อรับเด็กเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมาย และเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูในคราวเดียวกันได้ และเมื่อพ่อรับรองบุตรโดยปริยาย ลูกก็มีสิทธิรับมรดก ของพ่อได้อีกเช่นกัน  อย่างไรก็ตามหากผู้เป็นพ่อเป็นบิดาโดยชอบด้วยกฎหมายของเด็ก ก็ย่อมมีอำนาจปกครองเด็ก ซึ่งคุณแม่ก็อาจต้องคิดถึงข้อนี้เผื่อไว้ด้วยเช่นกันนะคะ

สำหรับคุณแม่ที่ต้องการดำเนินคดีที่ศาลควรติดต่อทนายความเพื่อฟ้องผู้เป็นพ่อให้รับเด็กเป็นลูก และจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตร เอกสารที่ต้องใช้ในเบื้องต้น ได้แก่ ทะเบียนบ้าน บัตรประจำตัวประชาชนของคุณแม่ สูติบัตรของลูก และพยานหลักฐานอื่นที่ใช้ในการฟ้องคดี ขอให้รับเด็กเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมาย

อนึ่ง หากคุณแม่เป็นคนยากจนไม่มีรายได้ คุณแม่ก็สามารถร้องขอความช่วยเหลือทางคดีได้ที่ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายช่วยเหลือทางกฎหมาย 2  สำนักงานอัยการสูงสุด อาคารหลักเมือง ชั้น 1  ถนนหน้าหับเผย  แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร โทร 02 223 2945 , 02 222 8121 ต่อ 101-105 หรือที่สำนักงานคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชน และการบังคับคดีทั่วประเทศ

อ่านต่อ >> “กรณีพ่อแม่จดทะเบียนสมรสกัน และหย่าขาดกันด้วยความสมัครใจทั้งสองฝ่าย ลูกจะอยู่ที่ใคร” คลิกหน้า 3

กรณีพ่อและแม่จดทะเบียนสมรสกัน  และหย่าขาดกันด้วยความสมัครใจทั้งสองฝ่าย โดยไม่ต้องมีการฟ้องหย่า

การหย่าโดยความยินยอม คู่สมรสสามารถตกลงกันก่อนหย่าในเรื่องทรัพย์สิน อำนาจปกครอง และการอุปการะเลี้ยงดูบุตร ตลอดจนค่าเลี้ยงชีพ โดยต้องทำเป็นหนังสือและมีพยานลงลายมือชื่ออย่างน้อย 2 คน และนำไปจดทะเบียนหย่าที่เขต

ส่วนใน เรื่องของค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตร ก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งต้องพิจารณา การหย่าโดยความยินยอมของสามีภรรยา ต้องทำความตกลงกันไว้ในสัญญาหย่าว่า ทั้งสองฝ่าย หรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะออกเงินค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรเป็นจำนวนเท่าใด ถ้าไม่ได้ตกลงกันไว้ก่อนก็สามารถให้ศาลเป็นผู้กำหนดได้ ศาลจะชี้ขาดโดยคำนึงถึงประโยชน์และความผาสุกของบุตรเป็นหลัก

อย่างไรก็ตามคงไม่มีครอบครัวไหน อยากมีเรื่องราวคดีความเกี่ยวกับ สิทธิการเลี้ยงดูบุตร อย่างแน่นอน ทั้งนี้ทาง Amarin Baby & Kids ขอเป็นกำลังใจให้ทุกครอบครัวผ่านพ้นปัญหาและอุปสรรคทุกอย่างไปได้ด้วยความรักและความเข้าใจ  เพื่อลูกของคุณและคนที่คุณรัก

อ่านต่อบทความน่าสนใจ คลิก!

คุณแม่ควรรู้ไว้!! ประโยชน์ของทะเบียนสมรสที่คุณอาจไม่เคยรู้
แบ่งทรัพย์สินอย่างไร หากไม่ได้จดทะเบียนสมรส
สร้างความมั่นใจให้ลูก เมื่อพ่อแม่ต้องแยกทาง
ชาวเน็ตยกนิ้วให้! คลิปหนูน้อย 6 ขวบพูดเตือนสติแม่ ขอให้เป็นเพื่อนกับพ่อแม้เลิกกัน

ขอบคุณข้อมูลจาก : www.lawyerleenont.com , xn--m3ceg0bw3dk0r.com , www.matichon.co.th

Save