AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

” กฎหมายอุ้มบุญ ” เรื่องน่าสนใจพ่อแม่ยุคใหม่ต้องรู้

กฎหมายอุ้มบุญ เรื่องน่าสนใจที่พ่อแม่ยุคใหม่ต้องรู้ หากคิดรับบุตรมาเติมเต็มความสมบูรณ์ของครอบครัว

 

 

การมีบุตรนับเป็นหัวใจสำคัญของการเติมเต็มความสมบูรณ์ให้กับครอบครัว หลายคู่จึงแสวงหาวิธีที่จะให้ได้บุตรมาเติมเต็มความสมบูรณ์ ซึ่งบางครอบครัวเลือกใช้วิธีการรับบุตรบุญธรรม หรือใช้วิธีการว่าจ้างให้หญิงอื่นมาอุ้มบุญหรือตั้งครรภ์แทน ทั้งนี้ในบางกรณีกฎหมายไม่เปิดช่องให้ดำเนินการได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกฎหมายของประเทศไทยบ้านเรา ยกตัวอย่างเช่น ในกรณีของกลุ่มบุคคลที่มีรสนิยมรักร่วมเพศ หรือสามีภรรยาซึ่งไม่ได้จดทะเบียนสมรสนั้น วิธีการดังกล่าวถือมีความผิดตามกฎหมาย และมีโทษทางอาญา

อย่างไรก็ดีปัจจุบันมีกฎหมายรองรับเรื่องการอุ้มบุญ หรือตั้งครรภ์แทนแล้ว โดยอาศัยเทคโนโลยีทางการแพทย์ในการช่วยให้เกิดการตั้งครรภ์ภายใต้เงื่อนไขตามพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ พ.ศ. 2558 การตั้งครรภ์แทน โดยมีเงื่อนไขตามพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ พ.ศ. 2558 ตามมาตรา 21

คลิกอ่านต่อข้อกฎหมาย มาตรา 21 ได้ที่หน้าถัดไป

 

 

พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ พ.ศ. 2558 ตามมาตรา 21 ได้บัญญัติไว้ดังต่อไปนี้

(1) สามีและภริยาที่ชอบด้วยกฎหมายซึ่งภริยาไม่อาจตั้งครรภ์ได้ที่ประสงค์จะมีบุตรโดยให้หญิงอื่น ตั้งครรภ์แทน ต้องมีสัญชาติไทย ในกรณีที่สามีหรือภริยามิได้มีสัญชาติไทย ต้องจดทะเบียนสมรสมาแล้ว ไม่น้อยกว่าสามปี

(2) หญิงที่รับตั้งครรภ์แทนต้องมิใช่บุพการีหรือผู้สืบสันดานของสามีหรือภริยาที่ชอบด้วย กฎหมายตาม (1)

(3) หญิงที่รับตั้งครรภ์แทนต้องเป็นญาติสืบสายโลหิตของสามีหรือภริยาที่ชอบด้วยกฎหมาย ตาม (1) ในกรณีที่ไม่มีญาติสืบสายโลหิตของสามีหรือภริยาที่ชอบด้วยกฎหมายให้หญิงอื่นรับตั้งครรภ์แทนได้ ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขประกาศกำหนดโดยคำแนะนำของคณะกรรมการ

(4) หญิงที่รับตั้งครรภ์แทนต้องเป็นหญิงที่เคยมีบุตรมาก่อนแล้วเท่านั้น ถ้าหญิงนั้นมีสามีที่ชอบด้วยกฎหมายหรือชายที่อยู่กินฉันสามีภริยาจะต้องได้รับความยินยอมจากสามีที่ชอบด้วยกฎหมาย หรือชายดังกล่าวด้วย

* การดำเนินการให้มีการตั้งครรภ์แทนตามพระราชบัญญัติดังกล่าว ให้กระทำได้สองวิธี ตามมาตรา 22 คือ

(1) ใช้ตัวอ่อนที่เกิดจากอสุจิของสามีและไข่ของภริยาที่ชอบด้วยกฎหมายที่ประสงค์จะให้มีการตั้งครรภ์แทน

(2) ใช้ตัวอ่อนที่เกิดจากอสุจิของสามีหรือไข่ของภริยาที่ชอบด้วยกฎหมายที่ประสงค์จะให้มี การตั้งครรภ์แทนกับไข่หรืออสุจิของผู้อื่น ทั้งนี้ ห้ามใช้ไข่ของหญิงที่รับตั้งครรภ์แทน

เพราะอะไรทำไมกฎหมายถึงห้ามไม่ให้ใช้ไข่ของหญิงที่รับตั้งครรภ์แทน คลิก!

 

เพราะอะไร กฎหมายอุ้มบุญ ถึงห้ามใช้ไข่ของหญิงที่รับตั้งครรภ์แทน?

สำหรับสาเหตุสาเหตุที่กฎหมายห้ามใช้ไข่ของหญิงที่รับตั้งครรภ์แทน รวมถึงหญิงที่รับตั้งครรภ์แทนต้องมิใช่บุพการีหรือผู้สืบสันดานของสามีหรือภรรยาที่ประสงค์จะให้มีการตั้งครรภ์แทนนั้น สืบเนื่องมาจากป้องกันปัญหาเรื่องความผูกพันกับทารกที่เกิดมาโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธ์ทางการแพทย์ดังกล่าว จนอาจจะมีการฟ้องร้องกันเกิดขึ้นในอนาคต

นอกจากนี้เรื่องของสิทธิในตัวเด็ก ซึ่งเกิดมาโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ตามพระราชบัญญัติดังกล่าวนั้น มาตรา 29 ได้บัญญัติไว้ถึงการกำหนดให้เด็กเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของสามีและภริยา ซึ่งประสงค์จะมีบุตรดังกล่าว ไม่ว่าจะตั้งครรภ์โดยภริยาของสามีซึ่งประสงค์จะมีบุตรเป็นผู้ตั้งครรภ์หรือให้มีการตั้งครรภ์แทนโดยหญิงอื่น ทั้งนี้ แม้ว่าสามีหรือภริยาที่ชอบด้วยกฎหมายซึ่งประสงค์จะมีบุตรถึงแก่ความตายก่อนเด็กเกิดก็ตาม

สำหรับครอบครัวไหน ที่ประสงค์จะมีบุตรโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์นั้น จะต้องศึกษาให้ละเอียดและเงื่อนไขให้ดีก่อนการตัดสินใจนะคะ ที่สำคัญควรเลือกผู้ให้บริการเกี่ยวกับเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ที่ได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการให้ดำเนินการให้มีการตั้งครรภ์แทนให้แก่สามีและภริยาซึ่งประสงค์จะมีบุตรเท่านั้น ทั้งนี้ เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายแก่เด็กแม่อุ้มบุญ สามีหรือภริยา ซึ่งประสงค์จะมีบุตรในอนาคตนั่นเองค่ะ

เรื่องอื่น ๆ ที่น่าสนใจ:

 

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids