AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

3 บุคลิกภาพทางการเงิน คุณเป็นแบบไหนกัน

บางสิ่งในชีวิตของเรา คนอื่นเป็นผู้เลือกหรือมอบให้โดยไม่ถามเราสักคำ เรานับถือศาสนาอะไร พ่อแม่เป็นผู้เลือกให้เราตั้งแต่ก่อนเกิดแล้ว เพราะถ้าวัยเด็กเราไร้ศาสนาอาจเป็นปัญหาต่อไปในภายภาคหน้าได้ รวมไปถึงเรื่องเงินทอง พ่อแม่ก็เป็นผู้มอบให้เราด้วยเช่นกัน ซึ่งคนเรามีบุคลิกภาพเกี่ยวกับเงิน (Money Personality) แตกต่างกัน  โดยอาจแบ่งออกได้เป็น 3 ประเภท

ประเภทแรก คือพวกปกป้องเงิน (Protectors)

กลุ่มนี้ประหยัดและมีความมัธยัสถ์สูง ไม่ใช้จ่ายเงินในเรื่องที่ไม่จำเป็นอย่างง่ายๆ หรืออย่างเขลาๆ มีความสุขกับการเห็นเงินในบัญชีออมทรัพย์ที่สะสมเพิ่มพูนขึ้น (ว่างๆ อาจเอาสมุดฝากเงินขึ้นมานอนดู และยิ้มน้อยยิ้มใหญ่)  คนกลุ่มนี้ได้รับอิทธิพลจากการสอนของพ่อแม่เต็มที่อย่างไม่ต้องสงสัยและอาจได้รับบทเรียนจากชีวิต จึงระมัดระวังการใช้จ่ายและไม่ค่อยยอมเสี่ยงกับการลงทุนถึงแม้จะมีเงินออมสูงและมีหนี้ต่ำก็ตาม

ประเภทที่สอง คือพวกหลีกเลี่ยง (Avoiders)

คนกลุ่มนี้ชอบที่จะหลีกเลี่ยงปัญหาการเงินโดยการไม่สนใจหรือใส่ใจ คล้ายกับว่าถ้าไม่ไปยุ่งกับมันแล้วปัญหาก็จะหายไป  พวกนี้ไม่ชอบเปิดซองแจ้งหนี้บัตรเครดิตจากธนาคาร (ใครๆ ก็ไม่ชอบทั้งนั้น แต่กลุ่มนี้หนักกว่า คือบางครั้งถึงกับไม่เปิดซองเลย) ไม่วางแผนการเงิน ใช้เงินไปวัน ๆ ถึงแม้จะไม่ใช่คนสุรุ่ยสุร่ายก็ตามที พวกชิลๆ กับเงินเหล่านี้อาจรู้สึกว่าตนเองไม่มีปัญญาจัดการเรื่องเงินเพราะมันเป็นอะไรที่ยิ่งใหญ่ และยากเกินกว่าที่จะเข้าใจ

ประเภทที่สาม คือพวกเลียนแบบเพื่อน (The Joneses)

คนกลุ่มนี้จะใช้เงินราวกับพิมพ์ได้เอง คนอื่นซื้อหาอะไรมาตนต้องเลียนแบบตามบ้าง เพื่อจะได้ไม่รู้สึกว่าตกรุ่นหรือล้าสมัย มีความสุขกับการใช้เงินในปัจจุบันโดยไม่แยแสกับปัญหาที่อาจเกิดในอนาคต นอกจากไม่วางแผนทางการเงินแล้วมักมีหนี้มากกว่าคนกลุ่มอื่นด้วย

 ถ้าหากคุณพ่อคุณแม่สามารถประเมินตัวเองอย่างซื่อสัตย์ได้ว่าอยู่ในประเภทไหนก็จะช่วยทำให้เกิดผลดีขึ้นได้ครับ แม้นิสัยเรื่องเงินของมนุษย์เปลี่ยนแปลงได้ยาก แต่เราสามารถพยายามหาหนทางเยียวยาให้ดีที่สุดได้

คนที่ปกป้องเงิน มักเป็นคนอนุรักษ์นิยมในด้านการลงทุนมากเกินไปจนอาจเสียโอกาสได้ การยอมเสี่ยงเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย เช่น จากฝากเงินบัญชีออมทรัพย์มาเป็นซื้อพันธบัตรรัฐบาลอาจให้ผลตอบแทนเพิ่มขึ้นมาก     การหาความสุขจากเงินที่หามาและรักษาไว้ได้ขณะมีชีวิตอยู่น่าจะเหมาะกว่าการทิ้งเงินไว้ให้คนที่ไม่รู้จักอีกหลายคนใช้เงินของท่านอย่างสนุกมือ

 

ส่วนพวกหลีกเลี่ยง ต้องจัดการเงินให้ดีขึ้นโดยใช้การหักเงินจากบัญชีโดยอัตโนมัติเพื่อออมใช้บัตรเดบิต (จ่ายตามเงินสดที่มีในบัตร) ในการซื้อของ ออมเงินโดยหักเข้าบัญชีเมื่อได้รับเงินเดือน ฯลฯ

 

สำหรับพวกเลียนแบบเพื่อน ซึ่งมักมีหนี้สูง ต้องแก้ไขปัญหาหนี้ด้วยการตั้งเป้าหมายที่เป็นไปได้ทีละเป้าหมาย เช่น แก้ไขหนี้บัตรเครดิตของเจ้าหนึ่งให้ได้ คบหาเพื่อนที่ไม่ใช่คนประเภทสามด้วยกัน มีวิธีออมโดยอัตโนมัติผ่านการหักเงินเดือน ฯลฯ การเข้าใจบุคลิกภาพทางการเงินของตนเองเป็นเรื่องสำคัญ เพราะจะช่วยให้ไม่เสียโอกาส และลดโอกาสในการเกิดปัญหาใหญ่ในอนาคต

 

บทความโดย ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ