AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

สร้างนิสัยใช้จ่ายชาญฉลาดให้ลูก ตอนที่ 1

แม่อู๊ดอี๊ด : ดิฉันมีลูกวัยกำลังโต 3 คน 8 ขวบ 5 ขวบ และ 3 ขวบ ค่ะ อยากฝึกให้เขารู้จักเก็บออม รู้จักใช้จ่ายเป็นตั้งแต่เล็กๆ โตขึ้นจะได้ไม่ลำบาก แต่จากที่เลี้ยงดูเขามา ดิฉันต้องมีวิธี เทคนิคกับลูกแต่ละคนต่างกัน พอมาถึงเรื่องเงินทอง คิดว่าต้องใช้วิธีต่างกันหรือไม่ อยากได้คำแนะนำค่ะ

อ.วรากรณ์ : นิสัยหรือพฤติกรรมซ้ำซากจนเป็นธรรมชาติของแต่ละคนนั้น ตำราจิตวิทยาบอกว่ามาจากการผสมกลมกลืนกันของ 2 อย่าง คือ พันธุกรรม (Nature) กับการบ่มเพาะ (Nurture)

พันธุกรรมก็คือ สิ่งที่ถ่ายทอดทางชีววิทยาจากพ่อแม่และบรรพบุรุษสู่ลูกหลาน ส่วนการบ่มเพาะคือ การอบรมเลี้ยงดูบ่มเพาะของพ่อแม่ตลอดจนอิทธิพลของสิ่งแวดล้อมในทุกระดับและสิ่งที่ได้ประสบในชีวิตมา

ถ้านิสัยใจคอเป็นพื้นที่สี่เหลี่ยมซึ่งเท่ากับด้านกว้างคูณด้านยาว ธรรมชาติกับการบ่มเพาะก็คือด้านกว้างและด้านยาว บางคนอาจมีพันธุกรรมเป็นด้านยาว และการบ่มเพาะเป็นด้านกว้าง และบางคนก็กลับกัน

การบ่มเพาะกินความกว้างขวางนับตั้งแต่การอบรม บ่มเพาะ สั่งสอนของพ่อแม่ ครอบครัว ครู ไปจนถึงสิ่งแวดล้อมในครอบครัว ในโรงเรียน ในสังคม และประสบการณ์ที่ลูกได้รับในชีวิตตั้งแต่แรกเกิดมา

พูดง่ายๆ ก็คือ เด็กบางคนพันธุกรรมมีอำนาจแรงกว่าการบ่มเพาะ และบางคนการเลี้ยงดูอบรม  สิ่งแวดล้อม มีอิทธิพลมากกว่าพันธุกรรม ซึ่งทั้งหมดประกอบกันเข้าเป็นนิสัยใจคอ

พันธุกรรมและการบ่มเพาะก็ใช่ว่าจะแยกขาดจากกันทั้งหมด ทั้งสองตัวมีผลกระทบต่อกันและกัน เช่น ความรุนแรงในครอบครัวเป็นผลพวงจากสภาพแวดล้อม (พ่อเมาเหล้า เสพยา การพบเห็นเคยชินกับความรุนแรง) ที่มีผลต่อเด็ก เด็กก็จะซึมซับรับเอาความรุนแรงมาใช้ในชีวิต เมื่อโตขึ้นก็เลียนแบบความรุนแรงนั้นอีก และก็ถ่ายทอดไปถึงลูกหลานต่อไปเป็นทอด จนเสมือนกับเป็นพันธุกรรม

บางครั้งพันธุกรรมก็มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เช่น ครอบครัวที่พ่อแม่มีน้ำหนักเกินมาตรฐานมากจำเป็นต้องบริโภคไม่เป็นเวลาเพราะธรรมชาติของร่างกายต้องการการบริโภคในลักษณะนั้นจนกลายเป็นสภาพแวดล้อมที่เด็กเห็นอยู่ทุกวันไป

โดยสรุปพันธุกรรมเป็นสิ่งที่พ่อแม่ควบคุมไม่ได้เลย เปรียบเสมือนไพ่ที่ถูกแจกให้เราเล่น ทางเดียวที่ทำได้คือจัดการฝั่งการบ่มเพาะ อบรมสั่งสอนลูกเราซึ่งเสมือนกับการเล่นไพ่ที่ถูกแจกมาแล้วให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้

 

อ่านต่อ สร้างนิสัยใช้จ่ายชาญฉลาดให้ลูก ตอนจบ

 

บทความโดย: ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ ผู้เท่าทันเงินทองและคุณปู่ของหลานสาวคนเดียว