บัตรคนจน หรือ บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ถือเป็นโครงการช่วยเหลือครอบครัว คุณพ่อคุณแม่ผู้มีรายได้น้อย ซึ่งจะต้องทำอย่างไรถึงจะได้บัตรนี้ และมีวิธีใช้ หรือซื้ออะไรได้บ้าง Amarin Baby & Kids มีคำตอบมาฝากค่ะ
จากโครงการช่วยเหลือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือ บัตรคนจน ที่ทางรัฐบาลได้จัดขึ้น ซึ่งได้เริ่มต้นขึ้นแล้วเมื่อ วันที่ 1 ตุลาคม 2560 ที่ผ่านมา ก็มีคุณพ่อคุณแม่ และผู้มีรายได้น้อย หลายคนทยอยมาลงทะเบียนรับบัตรคนจน เป็นจำนวนมากโดยรัฐบาลได้เปิดให้ผู้ที่มีบัตรคนจนทุกคน สามารถนำบัตรไปใช้สิทธิต่าง ๆ ทั้งชำระค่าสินค้าและบริการ ผ่านเครื่องรับชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ของหน่วยงาน หรือร้านค้าที่กำหนด
เช็กสิทธิ์และวิธีการใช้ บัตรคนจน เพื่อพ่อแม่รายได้น้อย
แต่ก่อนที่จะได้รับสิทธิ์นั้นหลายคนอาจสงสัยว่าบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ สามารถนำไปใช้ได้อย่างไรบ้างและที่สำคัญมีขั้นตอนอย่างไรในการพิจารณา ถึงจะได้รับสิทธิ์การใช้บัตรคนจน เริ่มต้นขอกล่าวถึงคุณสมบัติของผู้ที่มีสิทธิ์ที่จะได้รับการช่วยเหลือลงทะเบียนคนจนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐปี 2560
1. ต้องมีสัญชาติไทย อายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไปโดยต้องเกิดก่อนวันที่ 15 พฤษภาคม 2542
2. ต้องเป็นคนว่างงานหรือมีรายได้ในปี 2559 ไม่เกิน 1 แสนบาท
3. ต้องเป็นผู้ที่ไม่มีหรือมีทรัพย์สินทางการเงิน เช่น เงินฝากธนาคารสลากออมสิน พันธบัตร และตราสารหนี้ รวมทั้งสิ้นไม่เกิน 1 แสนบาท
4. ต้องไม่เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ตามกฎหมายหรือถ้าเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ดังกล่าวต้องเข้าหลักเกณฑ์ที่กำหนด คือ
- กรณีที่อยู่อาศัยและสิ่งปลูกสร้าง (บ้านพร้อมที่ดิน)
- กรณีอยู่อย่างเดียวต้องเป็นบ้านหรือทาวน์เฮ้าส์พื้นที่ไม่เกิน 25 ตารางวา
- กรณีเป็นที่อยู่อาศัยและใช้ประโยชน์ในที่ดิน เพื่อการเกษตรต้องมีพื้นที่ไม่เกิน 10 ไร่ หรือ การอื่นที่ไม่ใช่การเกษตรต้องมีพื้นที่ไม่เกิน 1 ไร่
- กรณีที่ดิน หากเพื่อการเกษตรต้องมีไม่เกิน 10 ไร่ หรือ กรณีเพื่อการอื่นที่ไม่ใช่การเกษตรต้องไม่เกิน 1 ไร่
หลังจากที่ลงทะเบียนคนจนเรียบร้อยแล้ว ต้องรอการตรวจสอบประวัติและพิจารณาว่าผ่านเกณฑ์ตามที่กำหนดไว้ข้างต้นหรือไม่ ซึ่งวันที่ 15 กันยายน 2560 ได้ประกาศผู้ที่ผ่านเกณฑ์ โดยมีผู้ลงทะเบียนคนจนทั้งหมดถึง 14,176,170 คน และมีผู้ผ่านคุณสมบัติ 11,431,681 คน
ซึ่งสามารถตรวจสอบได้โดยการกรอกหมายเลขบัตรประชาชน 13 หลักเพื่อเช็คสิทธิ์ได้ที่ รายชื่อผู้ผ่านคุณสมบัติโครงการลงทะเบียนเพื่อรับสวัสดิการแห่งรัฐ 2560
แต่ถ้าหากใครไม่ผ่านเกณฑ์ก็สามารถขออุทธรณ์ให้ตรวจสอบคุณสมบัติใหม่ได้ภายในวันที่ 29 กันยายน 2560 และจะประกาศผลอุทธรณ์ในวันที่ 24 ตุลาคม 2560 >> คลิกอ่าน รายละเอียดการยื่นอุทธรณ์
เมื่อได้รับ บัตรคนจน หรือ บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ
สามารถนำไปทำอะไรได้บ้าง ?
ซึ่ง บัตรคนจน หรือ บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ก็จะคล้ายบัตรเครดิตและ ATM คือ สามารถนำกดเงินจากตู้ ATM ได้ นำไปชำระค่าสินค้าและค่าบริการขนส่ง รวมทั้งใช้ยืนยันสิทธิในการรับความช่วยเหลือจากภาครัฐทุกครั้ง แต่ทั้งนี้ก็ยังมีคุณพ่อคุณแม่หลายคนที่สงสัยในวิธีการใช้บัตรคนจนนี้ว่า สามารถใช้ที่ใด ซื้อของอะไรได้บ้าง มีเงื่อนไขอย่างไรและสามารถถอนเงินออกมาใช้ได้หรือไม่? ตามไปดูรายละเอียดของสิทธิและการใช้บัตรคนจน กันเลยค่ะ….
อ่านต่อ >> “รายละเอียดของสิทธิและการใช้บัตรคนจน” คลิกหน้า 2
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
เมื่อได้รับบัตรคนจน หรือ บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จะสามารถนำไปทำอะไรได้บ้าง ?
อันดับแรก มาทำความเข้าใจแนวทางการให้ความช่วยเหลือจากบัตรคนจน หรือ เจ้าบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ของผู้มีรายได้น้อย เบื้องต้นก่อน โดยบัตรคนจน นี้ มีอายุ 5 ปี เป็นบัตรชิปการ์ดใช้รูดผ่านเครื่องรับบัตรอัตโนมัติ หรือ EDC
ประชารัฐสวัสดิการ คือ การให้วงเงินใน บัตรคนจน 200-300 บาทต่อเดือน สำหรับ
- นำไปใช้เป็นส่วนลดหรือใช้รับสวัสดิการรัฐ เช่น ส่วนลดค่าน้ำ ค่าไฟ ค่ารถเมล์ รถไฟ และสามารถเพิ่มหรือลดสวัสดิการได้
- นำไปซื้อสินค้าและบริการต่าง ๆ ในร้านธงฟ้าประชารัฐ และร้านค้าอื่น ๆ ด้วยวิธีการจ่ายเงินง่ายๆ ผ่านเครื่องรับชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ ของหน่วยงานหรือร้านค้าที่กระทรวงพาณิชย์กำหนด จากนั้นก็จะได้ใบเสร็จเป็นแสดงยอดที่ใช้จ่ายไปและยอดคงเหลือในบัตรออกมา
โดยเมื่อชำระค่าสินค้าและบริการแล้ว วงเงินจะลดลงตามยอดที่ใช้จ่าย และถึงรอบวันที่ 1 ของทุกเดือนนั่นเอง (ยกเว้น วงเงินส่วนลดค่าซื้อก๊าซหุงต้ม ทุกวันที่ 1 ของทุก 3 เดือน)
>> ในกรณีที่สินค้าที่ซื้อ มีราคาเกินกว่าเงินที่อยู่ใน บัตรคนจน ก็สามารถเติมเงินเข้าไปใน บัตรคนจน / บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ได้ผ่านบริการกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-Money ของธนาคารกรุงไทยได้
*หากใครนึกภาพไม่ออกให้นึกถึงวิธีการ บัตรเครดิต+บัตร ATM ที่แสนสะดวกสบายในการจ่ายเงิน เพียงแค่รูดบัตรผ่านเครื่องรับชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ เครื่อง EDC ไปเลย
รายละเอียดของสิทธิและการใช้บัตรคนจน
การช่วยเหลือของโครงการผู้มีรายได้น้อยบัตรคนจน นี้จะแยกเป็น 2 ส่วน คือ
- ส่วนแรกจะช่วยลดค่าใช้จ่ายในการดำรงชีพ
- ส่วนที่สองจะช่วยเหลือในเรื่องค่าใช้จ่ายการเดินทาง
โดยในส่วนแรก…
1.) ช่วยลดค่าใช้จ่ายในการดำรงชีพ
ผู้ถือ บัตรคนจน / บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จะสามารถซื้อสินค้าต่างๆ ตามที่กำหนด จากร้านธงฟ้าประชารัฐ ได้ใน 3 หมวดใหญ่ๆ ประกอบด้วย
- สินค้าอุปโภค บริโภค เช่น หมวดอาหารสด, หมวดอาหารและเครื่องดื่ม, หมวดของใช้ประจำวัน, หมวดยารักษาโรค
- สินค้าเพื่อการศึกษา เช่น เครื่องแบบนักเรียน และ เครื่องเขียน อุปกรณ์การเรียน
- สินค้าเพื่อเกษตรกรรม เช่น ปุ๋ยเคมี ปุ๋ยอินทรีย์ และเมล็ดพันธุ์พืชต่างๆ
ซึ่งรัฐบาลจะให้วงเงินช่วยเหลือใน บัตรคนจน / บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ไปซื้อสินค้าต่างกัน สำหรับกลุ่มคนที่ต่างกัน คือ
- กลุ่มที่มีรายได้ต่ำกว่า 30,000 บาทต่อปี จะได้รับเงินจำนวน 300 บาทต่อเดือน (หรือ 3,600 บาทต่อปี)
- กลุ่มที่มีรายได้ตั้งแต่ 30,000 บาทขึ้นไป แต่ไม่กิน 100,000 บาท จะได้รับเงินจำนวน 200 บาทต่อเดือน (หรือ 2,400 บาทต่อปี)
นอกจากนี้ ทั้ง 2 กลุ่ม ยังได้วงเงินสำหรับเป็นส่วนลดซื้อก๊าซหุงต้มจากร้านค้าที่กระทรวงพลังงานกำหนดอีกคนละ 45 บาทต่อ 3 เดือน
**อย่างไรก็ตาม เงินในบัตรจำนวนดังกล่าวจะไม่สามารถนำไปใช้หนี้ที่ค้างชำระกับร้านค้า หรือนำไปซื้อสุรา บุหรี่ได้ เพราะไม่ใช่สินค้าอุปโภคที่จำเป็น แต่สินค้าที่สามารถซื้อได้ เช่น ข้าวสาร ผงซักฟอก ยาสีฟัน ชุดนักเรียน อุปกรณ์การเรียน และปุ๋ยเคมีกรณี
ส่วนที่สอง…
2.) ช่วยลดค่าใช้จ่ายการเดินทาง
ประกอบด้วย ค่าโดยสารรถเมล์ รถไฟฟ้า รถร่วมของ บขส. และรถไฟ โดยเงินช่วยเหลือในบัตรคนจนที่ผู้มีรายได้น้อย ได้รับ
- ค่าโดยสารรถเมล์ รถไฟฟ้า จำนวน 500 บาทต่อเดือน (ใช้ชำระค่าโดยสารด้วยระบบ e-Ticket)
- ค่าโดยสารรถ บขส. วงเงินไม่เกิน 500 บาทต่อเดือน
- ค่าโดยสารรถไฟ วงเงินไม่เกิน 500 บาทต่อเดือน
โดยรถโดยสารที่ร่วมโครงการจะทำการติดตั้งอุปกรณ์ e-Ticket (อี-ทิกเก็ต) เพื่อใช้สำหรับคิดเงินค่าโดยสารจาก บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เพียงแค่แตะเบาๆ ก็สามารถจ่ายค่าโดยสารไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
**ทั้งนี้ วงเงินช่วยเหลือในบัตรคนจน แต่ละส่วนจะแยกออกจากกันอย่างชัดเจน ไม่นำมารวมกัน
อ่านต่อ >> “เช็กจุดบริการที่คุณพ่อคุณแม่สารมารถใช้สิทธิบัตรคนจนได้” คลิกหน้า 3
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
ในส่วนจุดบริการใช้สิทธิบัตรคนจนผ่านเครื่องรับชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ของหน่วยงานหรือ ร้านค้าที่กำหนดไว้ จะมีดังนี้
- จุดรับชำระเงินตามร้านธงฟ้าประชารัฐ และร้านอื่นๆ ที่กระทรวงพาณิชย์กำหนด
- จุดรับชำระเงินตามร้านค้าก๊าซที่กระทรวงพลังงานกำหนด
- เครื่องแตะบัตรชำระเงินบนรถประจำทาง ขสมก./รถไฟฟ้า
- จุดจำหน่ายบัตรโดยสารรถ บขส.
- จุดจำหน่ายบัตรโดยสารรถไฟทุกสถานี (รฟท.)
รูปแบบบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ
บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ มี 2 รูปแบบ
แบบที่ 1 บัตร Hybrid 2 Chips เป็น Contact Chip และ Contactless Chip และแถบแม่เหล็ก โดย Contactless Chip จะเป็นไปตามมาตรฐานกลางระบบตั๋วร่วม (แมงมุม) ผู้ที่ได้รับบัตรรูปแบบนี้ ได้แก่ผู้มีสิทธิที่ลงทะเบียนในเขตกรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ นนทบรี ปทุมธานี สมุทรสาคร นครปฐม อยุธยา
แบบที่ 2 บัตร EMV เป็น Contact Chip และแถบแม่เหล็ก ผู้ที่ได้รับบัตรประเภทนี้ ได้แก่ผู้มีสิทธิที่ลงทะเบียนนอกเขตจังหวัดดังกล่าว (นอกเขตกรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ นนทบรี ปทุมธานี สมุทรสาคร นครปฐม อยุธยา)
ทั้งนี้เงินช่วยเหลือจะถูกโอนเข้าบัตรสวัสดิการแห่งรัฐทุกวันที่ 1 ของทุกเดือน ยกเว้นวงเงินส่วนลดค่าซื้อก๊าซหุงต้มจะเข้าทุกวันที่ 1 ของทุก 3 เดือน ซึ่งวงเงินคงเหลือของเดือนที่ผ่านมาจะไม่มีการสะสมในเดือนถัดไป
** คำแนะนำการใช้บัตรคนจน **
- บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือบัตรคนจน เป็นสิทธิเฉพาะตัวของบุคคลที่ระบุบนหน้าบัตรเท่านั้น เว้นแต่ ผู้พิการ ผู้สูงอายุ และผู้ป่วยติดเตียง ที่ไม่สามารถเดินทางได้ สามารถให้ผู้ดูแลเป็นผู้ใช้สิทธิแทนได้ ตามเงื่อนไขที่กำหนด
- กรุณาเก็บ บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือบัตรคนจน และรักษาบัตรไว้เป็นอย่างดี เพื่อประโยชน์ของท่านในการรับสวัสดิการจากรัฐบาล
- หากมีการตรวจสอบแล้วพบว่าให้ผู้อื่นนำ บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ บัตรคนจน ไปใช้ เจ้าของบัตรจะถูกตัดสิทธิในบัตรและผู้ที่นำบัตรผู้อื่นไปใช้จะมีความผิด ต้องชดใช้เงินคืนแก่ทางราชการ
⊕ การออกบัตรใหม่ (ตามเงื่อนไขที่กำหนด)
เปลี่ยนแปลงที่อยู่ จากเขตจังหวัดอื่น มาอาศัยในเขต กทม. นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ พระนครศรีอยุธยา นครปฐม และสมุทรสาคร ติดต่อสำนักงานคลังจังหวัด พร้อมทั้งนำบัตรเก่ามาแสดง (ไม่มีค่าใช้จ่าย)
⊕ กรณีบัตรสูญหาย ชำรุด
สามารถติดต่อได้ที่สาขาของ บมจ.ธนาคารกรุงไทย โดยทางธนาคารจะแจ้งต่อไปยังกรมบัญชีกลาง เพื่อตรวจสอบสิทธิ์และดำเนินการออก บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ / บัตรคนจน ใหม่ให้ แต่เรื่องค่าใช่จ่ายเป็นส่วนรับผิดชอบของผู้ใช้สิทธิเอง
- บัตร EMV หาย ออกบัตรใหม่ภายใน 15 วันทำการ (เสียค่าใช้จ่าย 50 บาท)
- บัตร EMV + ตั๋วร่วม (แมงมุม) หาย ออกบัตรใหม่ภายใน 30 วันทำการ (เสียค่าใช้จ่าย 100 บาท)
ทั้งนี้ หากมีข้อสงสัยเพิ่มเติม สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ Call Center ของบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ บัตรคนจน ใช้ยังไง โทร. 0-2109-2345 ทุกวันจันทร์-วันศุกร์ ระหว่างเวลา 08.30 – 17.30 น. หรือ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง โทร. 02-273-9020
ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก : www.ktb.co.th , News – Voice TV , www.bugaboo.tv และ เฟซบุ๊กเพจ กรมประชาสัมพันธ์