การเขียนพินัยกรรม คือการสั่งเสียความต้องการของผู้ตายได้ทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็น การจัดการมรดก การจัดงานศพ การตั้งผู้ปกครองดูแลบุตร การไม่ให้ทายาทบางคนได้รับมรดก เป็นต้น
1.การตั้งผู้ปกครองดูแลบุตร
ผู้เขียนพินัยกรรมสามารถกำหนดเกี่ยวกับการดูแลบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ กำหนดบุคคลที่จะมาเป็นผู้ปกครองเมื่อตนถึงความตาย โดยต้องมีคุณสมบัติครบถ้วนตามกฎหมาย และเต็มใจรับเป็นผู้ปกครอง
2.การตั้งผู้ปกครองทรัพย์
ผู้ทำพินัยกรรมต้องการยกทรัพย์สินให้แก่ผู้เยาว์ หรือบุคคลไร้ความสามารถ แต่ไม่ต้องการให้ผู้ดูแลจัดการทรัพย์สินนั้น จึงทำพินัยกรรม ตั้งบุคคลอื่นให้มีอำนาจจัดการทรัพย์สินแทน ซึ่งจะดูแลได้เฉพาะทรัพย์สินบางประเภท เช่น อสังหาริมทรัพย์ และสังหาริมทรัพย์พิเศษ
3.การตัดทายาทไม่ให้ได้รับมรดก
โดยทั่วไป เป็นการทำพินัยกรรมเพื่อให้คนใดคนหนึ่งได้รับมรดกของผู้ทำพินัยกรรม แต่บางกรณีผู้ทำพินัยกรรมอาจมีความต้องการตรงข้าม คือไม่ต้องการให้ทายาทได้รับมรดกของตนเอง ซึ่งสามารถทำได้เช่นกัน โดยระบุตัวทายาทที่ถูกตัดออกอย่างชัดเจน ใช้ถ้อยคำที่ชัดเจน ข้อควรระวังคือจะมีผลรวมไปถึงทายาทของผู้ตัดสิทธิในการได้รับมรดกด้วย เรียกได้ว่าตัดไม่ให้ได้รับมรดกตลอดสาย
4.การกำหนดให้ผู้รับมรดกโอนมรดกให้บุคคลอื่น
โดยปกติจะเป็นการทำพินัยกรรมเพื่อยกมรดกให้กับคนๆ นั้น แต่ก็อาจมีบางกรณีที่ผู้ทำพินัยกรรมต้องการให้ผู้ที่ได้รับมรดกโอนมรดกให้บุคคลอื่นอีกทอดหนึ่ง เช่น นาย ก ทำพินัยกรรมยกที่ดินให้ นาย ข และให้นาย ข โอนที่ดินให้นาย ค เมื่อนาย ค บรรลุนิติภาวะ เหมือนเป็นการฝากมรดกเอาไว้ก่อน การทำพินัยกรรมในลักษณะนี้กฎหมายห้ามไม่ให้กระทำ เพราะไม่สามารถบังคับตามกฎหมายได้
5.การยกทรัพย์สินที่ไม่ใช่ของตัวเองให้บุคคลอื่น
กรณีนี้เกิดจากผู้ทำพินัยกรรมเข้าใจผิด คิดว่าทรัพย์สินนั้นเป็นของตนเอง แล้วตัดสินใจทำพินัยกรรมยกทรัพย์สินนั้นให้บุคคลอื่น ซึ่งพินัยกรรมนั้นย่อมตกเป็นโมฆะ เพราะผู้ทำพินัยกรรมไม่มีสิทธิในทรัพย์สินนั้น
6.การตั้งผู้จัดการมรดก
ผู้จัดการมรดก คือผู้ที่มีอำนาจในการจัดการแบ่งทรัพย์สินของเจ้าของมรดกให้แก่ทายาท รวมถึงการจัดสรรทรัพย์สินเพื่อชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ของกองมรดก ถ้าทายาทสามารถตกลงแบ่งปันทรัพย์สินกันได้ ไม่มีปัญหาติดขัด ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องมีผู้จัดการมรดก การตั้งผู้จัดการมรดกนั้นสามารถทำได้ 2 กรณีคือ จากพินัยกรรม หรือจากคำสั่งศาล