พินัยกรรม คือ การแสดงเจตนากำหนดการ เผื่อเสียชีวิต หรือเรียกอีกอย่างว่า คำสั่งเสีย ซึ่งจะมีผลตามกฎหมาย เมื่อทำตามรูปแบบที่กำหนดไว้ 5 แบบ ดังนี้
1.แบบธรรมดา จะทำเป็นหนังสือ ลงวันเดือนปีขณะที่ทำ ระบุคำสั่งเสียชัดเจน แล้วลงลายมือชื่อผู้ทำพินัยกรรม ต่อหน้าพยาน 2 คน จะเขียนด้วยลายมือ หรือพิมพ์ก็ได้ หรือจะให้บุคคลอื่นเป็นผู้เขียน หรือพิมพ์ก็ได้ แต่ต้องระบุชื่อ ที่อยู่ของผู้เขียนชัดเจน
2.แบบเขียนเองทั้งฉบับ ผู้ทำพินัยกรรมเขียนข้อความทั้งหมดด้วยตัวเอง ทั้งวันเดือนปี คำสั่งเสีย และการลงลายมือชื่อ ซึ่งกฎหมายไม่ได้บังคับว่าต้องมีพยาน คือจะมีหรือไม่มีก็ได้ แต่ถ้ามีพยานก็จะน่าเชื่อถือมากขึ้น การนำแบบพิมพ์พินัยกรรมมากรอดข้อความลงไป ไม่ใช่การทำแบบเขียนเองทั้งฉบับ แต่คือแบบธรรมดา
3.แบบเอกสารฝ่ายเมือง ทำโดยไปติดต่อนายอำเภอ ให้ช่วยทำพินัยกรรมให้ นายอำเภอจะจดข้อความที่จะระบุในพินัยกรรม และลงลายมือชื่อต่อพยาน 2 คน
4.แบบลับ ผู้ทำพินัยกรรมต้องทำพินัยกรรมแล้วปิดผนึก ลงลายมือชื่อคาบรอยผนึก แล้วนำไปแสดงต่อนายอำเภอ และพยาน 2 คน ให้นายอำเภอจดถ้อยคำของผู้ทำพินัยกรรม วันเดือนปีที่ทำพินัยกรรมไว้บนซอง ประทับตราตำแหน่ง ลงลายมือชื่อนายอำเภอ ผู้ทำพินัยกรรม และพยาน
5.แบบวาจา มีผลบังคับใช้ทางกฎหมายได้ต่อเมื่อ ทำขึ้นในขณะที่มีพฤติกรรมพิเศษ เช่น ตกอยู่ในอันตรายใกล้ความตาย มีโรคระบาด สงคราม โดยแสดงเจตนาต่อหน้าพยานอย่างน้อย 2 คน โดยพยานจะต้องแสดงตนต่อนายอำเภอโดยเร็ว แจ้งข้อความที่ผู้ตายสั่งไว้ พร้อมแจ้งวันเดือนปี สถานที่ และเหตุการณ์ที่ทำพินัยกรรมไว้