AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

แม่เฮ! เพิ่มเงินสงเคราะห์บุตร จาก 600 เป็น 800 เริ่ม 1 มค. 64

เพิ่มเงินสงเคราะห์บุตร

นับเป็นของขวัญปีใหม่ของผู้ประกันตน เมื่อคณะรัฐมนตรีเห็นชอบให้ เพิ่มเงินสงเคราะห์บุตร จากเดิมเดือนละ 600 บาท เป็นเดือนละ 800 บาท อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่นี่

แม่เฮ! เพิ่มเงินสงเคราะห์บุตร จาก 600 เป็น 800 เริ่ม 1 มค. 64

ในวันที่ 14 ธันวาคมที่ผ่านมา นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้แจ้งว่าทางกระทรวงแรงงานได้จัดเตรียมของขวัญปีใหม่ให้แก่ผู้ใช้แรงงาน ลูกจ้าง นายจ้าง และประชาชนทุกคน โดยได้เสนอแผนเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ต่อไปนี้

  1. ปรับเพิ่มเงินสงเคราะห์บุตรจากเดิมเดือนละ 600 บาท เป็นเดือนละ 800 บาท
  2. ปรับเพิ่มเงินค่าคลอดบุตรเหมาจ่าย จากครั้งละ 13,000 บาท เป็นครั้งละ 15,000 บาท
  3. ปรับลดอัตราเงินสมทบ ในส่วนของนายจ้างและลูกจ้างผู้ประกันตน เหลือฝ่ายละ 3% หลังจากที่ได้เคยปรับลดในช่วงเดือนกันยายน-พฤศจิกายน 2563 เป็นเวลา 3 เดือน ให้นำส่งฝ่ายละ 2% เพื่อช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายให้ทั้งนายจ้างและลูกจ้างผู้ประกันตนจากผลกระทบการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
  4. จัดฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงาน (จป.) โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
  5. ปล่อยกู้กองทุนรับงานไปทำที่บ้าน แบบปลอดดอกเบี้ย

และในวันนี้ (22 ธันวาคม 2563)  นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า

สืบเนื่องจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อสภาวะเศรษฐกิจ โดยเฉพาะครอบครัวที่มีเด็กเล็ก ทำให้รายได้ลดลงหรือไม่มีรายได้ เนื่องจากต้องหยุดงานหรือต้องออกจากงาน ในขณะที่รายจ่ายเกี่ยวกับเด็กแรกเกิดเป็นรายจ่ายที่จำเป็น

ดังนั้น เพื่อเป็นการบรรเทาภาระของผู้ประกันตนให้สอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน ครม. จึงมีมติเห็นชอบร่างกฎกระทรวงการจ่ายประโยชน์ทดแทนกรณีสงเคราะห์บุตร  โดยมีสาระสำคัญดังนี้

  1. เพิ่มอัตราการจ่ายประโยชน์ทดแทนในกรณีสงเคราะห์บุตรเหมาจ่าย จากเดิม 600 บาทต่อเดือนต่อบุตร 1 คน เพิ่มเป็น 800 บาทต่อเดือนต่อบุตร 1 คน มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2564 เป็นต้นไป
    2.ผู้ที่มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีสงเคราะห์บุตร ตามกฎกระทรวงฯ ฉบับเดิม (พ.ศ. 2561) จะยังคงได้รับสิทธิตามอัตราที่กำหนดใหม่ในกฎกระทรวงฉบับนี้ นับตั้งแต่วันที่กฎกระทรวงมีผลใช้บังคับ
เงินสงเคราะห์บุตร

คุณสมบัติของผู้มีสิทธิได้รับเงินสงเคราะห์บุตรเพิ่ม

  1. พ่อหรือแม่ต้องเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 หรือ มาตรา 39
  2. จ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 12 เดือน ภายในระยะเวลา 36 เดือน ก่อนเดือนที่มีสิทธิได้รับเงินสงเคราะห์บุตร
  3. บุตรมีอายุ 0-6 ปี (หลังจากอายุครบ 6 ปีแล้วจะไม่ได้รับเงินจำนวนนี้)
  4. จำกัดครอบครัวละไม่เกิน 3 คน
  5. ต้องเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย

สำหรับผู้ที่ได้รับเงินสงเคราะห์บุตรอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องยื่นเพื่อขอ เพิ่มเงินสงเคราะห์บุตร แต่อย่างใด ระบบจะปรับให้อัตโนมัติ โดยในเดือนมกราคม 2564 คุณแม่จะได้รับเงินสงเคราะห์บุตรจำนวน 800 บาททุกเดือนจนกว่าบุตรจะมีอายุครบ 6 ปี

และยังมีอีก 1 ข่าวดีให้กับผู้ประกันตน ซึ่งก็คือการเห็นชอบจากครม. ให้ปรับลดเงินสมทบประกันสังคมให้กับนายจ้างและลูกจ้าง จากเดิมให้นำส่งร้อยละ 5 เหลือเพียงร้อยละ 3 และให้กับผู้ประกันตนมาตรา 39 จากเดิมเดือนละ 432 บาท เหลือเดือนละ 278 บาท เป็นระยะเวลา 3 เดือน – ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2564 ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2564 โดยมีรายละเอียดของข่าว ดังนี้

นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2563 ว่า ครม.อนุมัติร่างกฎกระทรวงกำหนดอัตราเงินสมทบกองทุนประกันสังคม พ.ศ. ตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ ซึ่งจะปรับลดอัตราเงินสมทบกองทุนประกันสังคมนาน 3 เดือน โดยมีรายละเอียดดังนี้

  • ลดอัตราเงินสมทบฝ่ายนายจ้างและฝ่ายผู้ประกันตนตามมาตรา 33 จากเดิมร้อยละ 5 ลดเหลือร้อยละ 3 ผู้ประกันตนมาตรา 39 ให้ปรับลดอัตราเงินสมทบกองทุนประกันสังคม จากเดิมเดือนละ 432 บาท เหลือเดือนละ 278 บาท เป็นระยะเวลา 3 เดือน – ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2564 ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2564
  • ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2564 ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2564 ให้รัฐบาล นายจ้างและผู้ประกันตน ตามมาตรา 33 ออกเงินสมทบเข้ากองทุนเพื่อการจ่ายประโยชน์ทดแทนกรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย กรณีทุพพลภาพ กรณีตาย และกรณีคลอดบุตร ฝ่ายละร้อยละ 1.05
    • การจ่ายประโยชน์ทดแทนกรณีสงเคราะห์บุตร และกรณีชราภาพ ในส่วนของนายจ้างและผู้ประกันตน ฝ่ายละร้อยละ 1.85 และรัฐบาลปรับเป็นร้อยละ 1.45
    • การจ่ายประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน ในส่วนของนายจ้างและผู้ประกันตน ฝ่ายละร้อยละ 0.1 และรัฐบาลปรับเป็นร้อยละ 0.25
  • ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2560 เป็นต้นไป ให้รัฐบาล นายจ้างและผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ออกเงินสมทบเข้ากองทุนเพื่อการจ่ายประโยชน์ทดแทนกรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย กรณีทุพพลภาพ กรณีตาย และกรณีคลอดบุตร ฝ่ายละร้อยละ 1.5
    • การจ่ายประโยชน์ทดแทนกรณีสงเคราะห์บุตร และกรณีชราภาพ ในส่วนของนายจ้างและผู้ประกันตนฝ่ายละร้อยละ 3 และรัฐบาล ร้อยละ 1
    • การจ่ายประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน ในส่วนของนายจ้างและผู้ประกันตน ฝ่ายละร้อยละ 0.5 และรัฐบาลร้อยละ 0.25

การลดอัตราเงินสมทบ จะส่งผลดีต่อผู้ประกันตนและนายจ้าง โดยช่วยให้ผู้ประกันตนสามารถนำเงินไปใช้จ่ายเสริมสภาพคล่อง ประมาณคนละ 460-900 บาท เป็นเวลา 3 เดือน

ประกันสังคม

เป็นอย่างไรบ้างคะ ของขวัญปีใหม่ที่จะมาช่วย เพิ่มเงินสงเคราะห์บุตร และการลดอัตราเงินสมทบ จากคณะรัฐมนตรีนั้น น่าจะช่วยลดค่าใช้จ่ายในสภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้ และช่วยลดภาระให้ครอบครัวไปได้ไม่มากก็น้อย

อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก

วิธีเช็คเงินสมทบ-ค่าคลอดบุตร ผ่าน แอพเช็คประกันสังคม

ลูกป่วยก็อุ่นใจแล้ว! คุม ค่ารักษาโรงพยาบาลเอกชน ห้ามแพงเกินจริง

4 ปัจจัยสำคัญที่พ่อแม่ควรรู้ก่อนทำ ประกันสุขภาพลูกน้อย

ชี้เป้า 4 วิธีประหยัดเงิน เพื่อแม่ถูกและดี มีเงินออมให้ลูก!!

 

ขอบคุณข้อมูลจาก : www.amarintv.com, สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์, สำนักงานประกันสังคม

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids