แนะวิธี เช็คสิทธิ์ประกันสังคม ตรวจสอบสิทธิประกันสังคม ทั้งข้อมูลยอดการส่งเงินสมทบ การขอเบิกสิทธิประโยชน์ต่างๆ ทั้งกรณีคลอดบุตร สงเคราะห์บุตร ว่างงาน ต้องทำยังไงบ้างมาดูกัน
เช็คสิทธิ์ประกันสังคม มาตรา 33 39 40 ต่างกันอย่างไร?
สำหรับคุณพ่อคุณแม่ที่ทำงานบริษัทหรือห้างร้านต่างๆ ในทุกๆ เดือนจะต้องจ่าย ประกันสังคม ซึ่งเป็นสวัสดิการที่ทางรัฐมอบให้แก่ลูกจ้าง โดยลูกจ้างและนายจ้างต้องส่งเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมตามกฎหมาย โดยจะทำการหักเงินจากฐานเงินเดือน 5% สูงสุดไม่เกิน 750 บาท/เดือน
ถือเป็นการสร้างหลักประกันสังคมในการดำรงชีวิตของสมาชิกที่มีรายได้ ในการคุ้มครองลูกจ้างจากการเจ็บป่วย ทั้งที่เกิดขึ้นจากการทำงานและนอกเหนือจากการทำงาน โดย “ผู้ประกันตน” (ลูกจ้างหรือพนักงาน) จะต้องเลือกสถานพยาบาลที่ตนเองสะดวก ซึ่งผู้ประกันตนได้รับการดูแลและการทดแทนรายได้ เช่น เมื่อผู้ประกันตนไปหาหมอเพื่อรักษาอาการป่วย ก็สามารถใช้สิทธิประกันสังคมโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการรักษา โดยสามารถใช้สิทธิเบิกได้ทั้งค่า รักษาพยาบาล การคลอดบุตร ทุพพลภาพ ว่างงาน สงเคราะห์บุตร ชราภาพ และกรณีเสียชีวิต
คนทำงานหลายคนอาจจะยังไม่ทราบรายละเอียดที่แน่ชัดมากพอ รู้เพียงแต่ว่าในแต่ละเดือนเราต้องจ่ายค่าประกันสังคม แต่ไม่รู้ว่าทำไมเราต้องจ่าย แล้วเราจะได้สิทธิประโยชน์อะไรบ้างจากการจ่ายเงินในแต่ละเดือน บางครั้งคนทำงานหลายคนจะรู้สึกว่าการจ่ายเงินประกันสังคมเป็นสิ่งที่ไม่จำเป็นเลย เพราะแทบจะไม่ได้ใช้สิทธิดังกล่าว การที่หลายคนคิดเช่นนั้น เป็นเพราะเขาไม่รู้ว่าเราจะได้ใช้สิทธิอะไรจากประกันสังคมบ้าง หากรู้แล้วก็จะเข้าใจระบบประกันสังคมได้ดีขึ้นอย่างแน่นอน
ผู้ประกันตนมีกี่ประเภท แตกต่างกันอย่างไร
ทั้งนี้ทางกองทุนประกันสังคม จะแบ่งผู้ประกันตนออกเป็น 3 ประเภทด้วยกัน ดังนี้
-
พนักงานเอกชนทั่วไป (มาตรา 33) ได้รับความคุ้มครอง 7 กรณี
-
เคยเป็นพนักงานแต่ลาออก (มาตรา 39) ได้รับความคุ้มครอง 6 กรณี
-
อาชีพอิสระ/แรงงานนอกระบบ (มาตรา 40) ได้รับความคุ้มครอง 3 หรือ 4 กรณี
เช็คสิทธิ์ประกันสังคม มาตรา 33 39 40 ต่างกันอย่างไร
แม้ว่าผู้ประกันตนแต่ละประเภทจะได้รับความคุ้มครองด้วยสิทธิประโยชน์ที่แตกต่างกัน แต่มีหน้าที่ที่จะต้องส่งเงินเข้ากองทุนเหมือนกัน เพื่อเฉลี่ยความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้น ดังนั้นเพื่อให้เห็นความแตกต่างของผู้ประกันตนแต่ละประเภทอย่างชัดเจน ลองมาดูข้อสรุปของสิทธิประโยชน์ คุณสมบัติของผู้ประกันตนว่ามีอะไรบ้าง
ผู้ประกันตนภาคบังคับ มาตรา 33
สิทธิประกันสังคมมาตรา 33 ผู้ประกันตนในกลุ่มนี้ คือ ลูกจ้าง “ผู้ซึ่งทํางานให้นายจ้างโดยรับค่าจ้าง” หรือ พนักงานบริษัทเอกชนทั่วไป … โดยมีสถานะเป็นลูกจ้างที่ทำงานอยู่ในสถานประกอบการที่มีพนักงานตั้งแต่ 1 คนขึ้นไป ต้องเป็นลูกจ้างที่ไม่ได้รับการยกเว้นตามที่กำหนดไว้ใน มาตรา 4 มีอายุไม่ต่ำกว่า 15 ปี และไม่เกิน 60 ปี
ต้องส่งเงินสมทบเข้ากองทุน คิดเป็นสัดส่วนดังนี้ ลูกจ้าง 5% + นายจ้าง 5% + รัฐบาล 2.75% ของฐานเงินค่าจ้าง ขั้นต่ำตั้งแต่ 1,650 บาท แต่ไม่เกิน 15,000 บาท
สิทธิประโยชน์ ของผู้ประกันตนมาตรา 33 จะได้รับความคุ้มครอง 7 กรณี คือ
1.กรณีเจ็บป่วย
2.กรณีคลอดบุตร
3.กรณีทุพพลภาพ
4.กรณีตาย
5.กรณีสงเคราะห์บุตร
6. กรณีชราภาพ
7. กรณีว่างงาน
อ่านต่อ >> “วิธีเช็คสิทธิประกันสังคม
ผู้ประกันตนมาตรา 39 และ 40” คลิกหน้า 2
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
(ต่อ) เช็คสิทธิ์ประกันสังคม ผู้ประกันตนมาตรา 39 และ 40 ต่างกันอย่างไร แต่ละมาตราจะได้รับสิทธิ์อะไรบ้างมาดูกัน
ผู้ประกันตนภาคสมัครใจ มาตรา 39
สิทธิประกันสังคมมาตรา 39 ผู้ประกันตนตามมาตรานี้ คือ ผู้ประกันตนโดยสมัครใจ ซึ่งเคยทำงานอยู่ในบริษัทเอกชนในมาตรา 33 มาก่อน แล้วลาออกแต่ต้องการรักษาสิทธิประกันสังคมไว้ จึงสมัครเข้าใช้สิทธิประกันสังคมในมาตรา 39 แทน
การสมัครประกันสังคมในกลุ่มนี้ มีเงื่อนไขว่า ต้องเป็นผู้ประกันตนในมาตรา 33 นำส่งเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 12 เดือนและออกจากงานไม่เกิน 6 เดือน นับแต่วันที่ลาออกจากงาน อีกทั้งต้องไม่เป็นผู้รับประโยชน์ทดแทนกรณีทุพพลภาพจากกองทุนประกันสังคม
โดยสามารถเงินสมทบ เดือนละ 432 บาท เงินที่ใช้เป็นฐานในการคำนวณเงินสมทบ คือ เดือนละ 4,800 บาทเท่ากันทุกคน โดยคิดจากอัตราเงินสมทบ 9% (4,800 x 9% = 432 บาทต่อเดือน) และรัฐบาลจะช่วยสมทบอีก 120 บาทต่อเดือน
ซึ่งสิทธิประโยชน์ ที่ผู้ประกันตนตามมาตรา 39 จะได้รับความคุ้มครอง มี 6 กรณี คือ
1.กรณีเจ็บป่วย
2.กรณีคลอดบุตร
3.กรณีทุพพลภาพ
4.กรณีตาย
5.กรณีสงเคราะห์บุตร
6. กรณีชราภาพ ต่อเนื่องจากการเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33
ผู้ประกันตนภาคสมัครใจ มาตรา 40
สุดท้าย สิทธิประกันสังคม สำหรับ ผู้ประกันตนในมาตรา 40 นี้ คือ บุคคลที่ไม่ได้เป็นลูกจ้างในบริษัทเอกชนตามมาตรา 33 และไม่เคยสมัครเป็นผู้ประกันตนในมาตรา 39 รวมบุคคลพิการที่สามารถรับรู้สิทธิประกันสังคม
โดยผู้ที่จะสมัครประกันสังคมในมาตรา 40 ได้นั้น ต้องเป็นผู้ที่ประกอบอาชีพอิสระ หรือแรงงานนอกระบบ มีอายุไม่ต่ำกว่า 15 ปี แต่ไม่เกิน 60 ปี และไม่เป็นข้าราชการหรือบุคคลที่ถูกยกเว้นตามกฎหมายประกันสังคม
ผู้สมัครสามารถเลือกสิทธิประโยชน์ได้ ซึ่งมีให้เลือก 2 ชุด
1 จ่ายเงินสมทบ 100 บาท/เดือน (จ่ายเอง 70 บาท รัฐสนับสนุน 30 บาท)
2 จ่ายเงินสมทบ 150 บาท/เดือน (จ่ายเอง 100 บาท รัฐสนับสนุน 50 บาท)
ซึ่งสิทธิประโยชน์ ก็จะแบ่งเป็น 2 ประเภท
ทางเลือกที่ 1 จ่ายเงินสมทบ 100 บาท/เดือน สิทธิประโยชน์พื้นฐานคุ้มครอง 3 กรณี คือ
1. กรณีประสบอันตราย/เจ็บป่วย
2. กรณีทุพพลภาพ
3. กรณีตายทางเลือกที่ 2 จ่ายเงินสมทบ 150 บาท/เดือน
1. กรณีประสบอันตราย/เจ็บป่วย
2. กรณีทุพพลภาพ
3. กรณีตาย
4. กรณีชราภาพ (บำเหน็จ)
อย่างไรก็ตามคุณพ่อคุณแม่ที่ทำงานส่วนใหญ่ล้วนต้องจ่ายเงินสมทบให้กับสำนักงานประกันสังคมทุกเดือน ซึ่งจะแตกต่างกันไปตามอัตราเงินเดือนของแต่ละคน แต่สิทธิประโยชน์นั้นก็จะแตกต่างกันไปตามหลักประกัน ทั้งในเรื่องสุขภาพ เงินสมทบ เงินประกัน และความคุ้มครองที่จะได้รับ ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของตัวเองด้วยว่า ต้องการเลือกการประกันตนแบบใด จึงจะเหมาะสมกับเรามากที่สุด
วิธี เช็คสิทธิ์ประกันสังคม ทางออนไลน์ ง่ายๆ ด้วยตัวเอง
ทั้งนี้เมื่อรู้แล้วว่าตัวเองเป็นผู้ประกันตนมาตารที่เท่าไหร่ และต้องได้รับรับสิทธิ์อะไรบ้าง แต่แล้วจะทราบได้อย่างไรว่าเงินสมทบที่ตัวเองจ่ายเข้ากองทุนประกันสังคมตอนนี้มีจำนวนเท่าไหร่แล้ว? และจะได้เงินอะไรอย่างอื่นอีกบ้าง ทีมแม่ ABK จึงจะมาแนะนำวิธี เช็คสิทธิ์ประกันสังคม ออนไลน์ด้วยตัวเอง ง่ายๆ ทำได้จริง มาฝาก ดังนี้ค่ะ
1. เข้าไปที่เว็บไซต์สำนักงานประกันสังคม sso.go.th
2. คลิก “เข้าสู่ระบบผู้ประกันตน/สมัครสมาชิก” ที่มุมบนขวา
3. ใส่รหัสผู้ใช้งาน/รหัสผ่าน หากเคยสมัครสมาชิกไว้แล้ว แต่หากยังไม่เคยสมัครสมาชิก ให้เลือก “สมัครสมาชิก”
4. จะปรากฏหน้า “นโยบายการคุ้มครองสิทธิ์ข้อมูลส่วนบุคคล” ให้อ่านรายละเอียดเงื่อนไขต่าง ๆ จากนั้นคลิก “ฉันยอมรับข้อตกลงในการให้บริการ” แล้วกด “ถัดไป”
5. กรอกข้อมูลส่วนตัวให้ครบทุกช่องแล้วกด “ถัดไป”
6. เข้าสู่หน้ายืนยันตัวตน ให้เรากดขอรับรหัส OTP ซึ่งจะส่ง SMS มาให้ทางโทรศัพท์มือถือ เมื่อได้รับรหัสแล้ว ให้มากรอกรหัสแล้วกด “ยืนยัน” ระบบจะขึ้นข้อความ “การลงทะเบียนเสร็จสมบูรณ์ กรุณาล็อกอินเข้าระบบ”
7. จากนั้นให้เรากลับไปที่หน้า Home คลิกเลือก “เข้าสู่ระบบผู้ประกันตน/สมัครสมาชิก” อีกครั้ง แต่ครั้งนี้ให้กรอกรหัสผู้ใช้งาน คือ เลขบัตรประจำตัวประชาชน และรหัสผ่านตามที่เราตั้งไว้ เท่านี้ก็สามารถเข้าระบบได้แล้ว
8. หากต้องการเช็กสิทธิของตัวเองให้เลือก “ผู้ประกันตน”
โดยคุณพ่อคุณแม่สามารถตรวจสอบสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ในแต่ละหัวข้อได้เลยว่า ได้ใช้สิทธิ์ไปบ้างแล้วหรือยัง โดยมีให้เลือกคือ
- ข้อมูลการส่งเงินสมทบ
- ยื่นแบบขอเปลี่ยนสถานพยาบาล
- ประวัติการเปลี่ยนแปลงสถานพยาบาล
- การใช้สิทธิประโยชน์ทดแทน
- การคำนวณเงินสงเคราะห์ชราภาพ (ดูว่าเรามีเงินชราภาพอยู่เท่าไรแล้ว)
- ขอเบิกสิทธิประโยชน์กรณีคลอดบุตร
- ขอเบิกสิทธิประโยชน์กรณีสงเคราะห์บุตร
- ขอเบิกสิทธิประโยชน์กรณีว่างงาน
- ขอเบิกสิทธิประโยชน์กรณีชราภาพ
- เลือกบัญชีธนาคารเพื่อรับเงิน
- ประวัติการทำรายการ
นอกจากนี้คุณพ่อคุณแม่ ผู้ประกันตน ยังสามารถ เช็คสิทธิ์ประกันสังคม ตรวจสอบข้อมูลด้านสิทธิประโยชน์จากกองทุนประกันสังคม ไม่ว่าจะเจ็บป่วย คลอดบุตร ว่างงาน รวมทั้งสิทธิผู้ประกันตนมาตรา 39 และ 40 ได้เช่นกัน ลองไปเช็กสิทธิประกันสังคมของตัวเองกันดูนะคะ หรือหากสงสัยตรงไหน สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์สำนักงานประกันสังคม หรือโทร. สายด่วน 1506 เพื่อไขข้อข้องใจ หรือ ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน
อ่านต่อบทความอื่นน่าสนใจ คลิก :
- ทำอย่างไรเมื่อ ป่วยคนละที่กับ สิทธิประกันสังคม ค่ารักษาพยาบาล เบิกได้?
- สิทธิประกันสังคม กรณีคลอดบุตร ทั้งหมดที่แม่ท้องควรรู้!
- เรื่องดีๆ จากสิทธิประกันสังคม
- เปิด ลงทะเบียนว่างงาน รับเงินชดเชย โดนเลิกจ้าง หยุดทำงานเพราะพิษโควิด-19
ขอบคุณข้อมูลจาก : www.sso.go.th , www.businessplus.co.th , money.kapook.com
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่