สถานการณ์ PM 2.5 ในกรุงเทพในตอนนี้ยังคงไว้ใจไม่ได้ บางวันค่าฝุ่นเยอะ พร้อมที่จะส่งผลกระทบให้กับทุกเพศ ทุกวัย โดยเฉพาะเจ้าตัวเล็กในบ้าน เชื่อว่าพ่อแม่หลายบ้านคงได้ซื้อ เครื่องฟอกอากาศ กันไว้แล้ว และอีกหลายบ้านคงกำลังเล็งมาใช้งาน แต่มีผลทดสอบพบว่าเครื่องฟอกอากาศบางยี่ห้อมีบางรุ่นที่ไม่มีมาตรฐานอุตสาหกรรมการผลิต ทำให้ผู้บริโภคไม่สามารถเลือกซื้อได้อย่างมีประสิทธิภาพ!
เผยผลทดสอบ เครื่องฟอกอากาศ พบบางยี่ห้อ กรองฝุ่น PM2.5 ไม่ได้
โดยศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ นิตยสารฉลาดซื้อ ( www.chaladsue.com) มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้เผยผลเปรียบเทียบประสิทธิภาพเครื่องฟอกอากาศที่สามารถใช้ในห้องที่มีขนาด มากกว่า 30 ตารางเมตร จากการทดสอบครั้งนี้ เป็นการนำเครื่องฟอกอากาศที่มีในท้องตลาดมาทดสอบประสิทธิภาพในการบำบัดฝุ่นละออง โดยใช้วิธีและเครื่องมือที่มีมาตรฐาน เพื่อใช้เป็นเกณฑ์ในการตัดสินใจซื้อเครื่องฟอกอากาศ โดยได้เปรียบเทียบผลทดสอบเครื่องกรองฝุ่น PM2.5 ที่ทำการสุ่มซื้อตัวอย่างจากท้องตลาด และทางออนไลน์ทั้งหมด 10 รุ่น (ราคาซื้อขายตามท้องตลาด ณ เดือนมิถุนายน 2562) ได้แก่
- Hatari HT-AP12 ราคา 4,888 บาท
- Philips AC1215/20 ราคา 7,990 บาท
- Mi AirPurifier 2S ราคา 4,098 บาท
- Mitsuta MAP450 ราคา 3,990 บาท
- Hitachi EP-A3000 ราคา 4,900 บาท
- Bwell CF-8400 ราคา 9,900 บาท
- Blueair Joy S ราคา 9,900
- Claire C2BU-1933 ราคา 6,990 บาท
- Sharp FP-J30TA-B ราคา 3,990 บาท
- Fanslink Air D. Cube ราคา 1,990 บาท
ซึ่งการทดสอบนี้จะทำการทดสอบเครื่องฟอกอากาศโดยการปรับปรุงมาตรฐาน Standards of The Japan Electrical Manufacturers’ Association (JEM Standards), JEM1467-Air Cleaner for Household Use (Air cleaners of household and similar use) ซึ่งเป็นมาตรฐานที่ใช้ในการทดสอบประสิทธิภาพของเครื่องฟอกอากาศครัวเรือน
จากผลการทดสอบสามารถแบ่งประเภทของเครื่องฟอกอากาศ โดยพิจารณาจาก การเปรียบเทียบ พื้นที่ห้องที่เหมาะสมกับพื้นที่ห้องที่แนะนำตามโฆษณาหรือคู่มือการใช้งาน สรุปได้เป็น 5 กลุ่ม ดังนี้
กลุ่มที่ 1 คือ เครื่องฟอกอากาศเหมาะกับกลุ่มที่ขนาดพื้นที่ห้องจากการทดสอบ มีขนาดเล็กมาก (2.32 ตารางเมตร) ซึ่งสามารถแปลผลการทดลองได้ว่า ไม่สามารถลดปริมาณฝุ่นได้ คือยี่ห้อ Clair
กลุ่มที่ 2 เครื่องฟอกอากาศที่สามารถใช้ในห้องที่มี ขนาด 13 – 16 ตารางเมตร และเป็นไปตามโฆษณาหรือคู่มือการใช้งาน ได้แก่ ยี่ห้อ Blueair
กลุ่มที่ 3 เครื่องฟอกอากาศที่สามารถใช้ในห้องที่มีขนาด มากกว่า 20 ตารางเมตร แต่ไม่เกิน 30 ตารางเมตร และเป็นไปตามโฆษณาหรือคู่มือการใช้งาน ได้แก่ ยี่ห้อ Hitachi, Fanslink Air, Sharp และ Bwell
กลุ่มที่ 4 เครื่องฟอกอากาศที่สามารถใช้ได้กับห้องที่มีขนาดมากกว่า 20 ตารางเมตร แต่ไม่เกิน 30 ตารางเมตร แต่ไม่เป็นไปตามโฆษณาหรือคู่มือการใช้งาน ได้แก่ Hatari, Mitsuta
กลุ่มที่ 5 เครื่องฟอกอากาศที่สามารถใช้ในห้องที่มีขนาด มากกว่า 30 ตารางเมตร และเป็นไปตามโฆษณาหรือคู่มือการใช้งาน ได้แก่ Philips และ Mi
(อ่านรายละเอียดการทดสอบ คลิก)
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
อ่านต่อ 9 วิธีป้องกันลูกน้อยจากฝุ่นละออง PM 2.5 คลิกหน้า 2
จากผลการทดสอบ เปรียบเทียบคุณภาพและประสิทธิภาพของเครื่องฟอกอากาศในครัวเรือน ดร.ไพบูลย์ ช่วงทอง เครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภค ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค มีข้อเสนอดังต่อไปนี้
- คุณภาพอากาศเป็นพื้นฐานในการดำรงชีวิต มนุษย์ทั้งในเมืองและชนบทต่างประสบปัญหาฝุ่นและควันขนาดเล็ก (PM 2.5) ซึ่งมักจะเกิดความรุนแรงตามฤดูกาลของปี และมีหลายสาเหตุของคุณภาพอากาศที่เลวร้าย ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิต ผู้บริโภคจึงจำเป็นต้องเลือกซื้อเครื่องฟอกอากาศ การใช้เครื่องฟอกอากาศครัวเรือน เป็นเพียงการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าที่ปลายเหตุ ดังนั้นหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชน และภาคส่วนอื่นๆ ควรร่วมกันแก้ปัญหาฝุ่นพิษ และหมอกควัน
- สำหรับการเลือกซื้อเครื่องกรองอากาศในครัวเรือนปัจจุบัน ไม่ได้มีมาตรฐานอุตสาหกรรมในการผลิต ส่งผลให้ผู้บริโภคไม่สามารถเลือกซื้อเครื่องฟอกอากาศที่มีประสิทธิภาพและคุณภาพได้ เครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภค เสนอให้กระทรวงอุตสาหกรรม โดยสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เร่งจัดทำมาตรฐานเครื่องฟอกอากาศในครัวเรือน เพื่อช่วยให้ผู้บริโภคสามารถเลือกซื้อ เลือกใช้สินค้า ที่มีมาตรฐานอุตสาหกรรม ในการป้องกัน อันตรายจากการสูดดม ฝุ่นและควันมลพิษที่แพร่กระจายเข้ามาสู่ตัวบ้าน และสร้างผลกระทบทางสุขภาพ โดยเฉพาะประชาชนในกลุ่มเสี่ยง เช่น ทารก เด็กเล็ก และผู้ป่วยจากโรคทางเดินหายใจ
อย่างไรก็ตามนอกจากการมีตัวช่วยอย่างเครื่องฟอกอากาศไว้ติดบ้านหรือภายในรถแล้ว นพ. บรรจบ ชุณหสวัสดิกุล คณะบดีวิทยาลัยการแพทย์บูรณาการ ม.ธุรกิจบัณฑิตย์ ได้แนะนำวิธีดูแลตัวเองให้ปลอดภัยจากฝุ่นPM2.5 ไว้ 2 วิธีหลัก ๆ คือ “ป้องกันไม่ให้เข้าไป และขับของเสียออกมา”
วิธีป้องกันที่ดีที่สุดคือหลีกเลี่ยงไปอยู่ในที่โล่งแจ้ง เด็ก ๆ ควรงดกิจกรรมหรือเล่นกีฬากลางแจ้ง เพราะยิ่งออกกำลังกาย จะยิ่งหายใจมากขึ้น ก็เท่ากับรับฝุ่นพิษเพิ่มขึ้นด้วย
อย่างที่สองคือขับของเสียออกจากร่างกาย ด้วยการกินผักผลไม้ที่มีสารอนุมูลอิสระ เช่นวิตามินซี จากฝรั่ง ส้ม เบต้าแคโรทีน จากฟักทอง แครอท งดกินอาหารที่ก่อสารอักเสบ เช่น ของปิ้งย่าง ของทอด และเติมสารซัลโฟราเฟน (Sulforaphane) จากบรอกโคลีเพิ่มขึ้น
9 วิธีป้องกันลูกน้อยจากฝุ่นละออง PM 2.5
กรมอนามัย ได้กำหนดแนวทางการดูแลเด็กเล็กสำหรับพ่อแม่เพื่อป้องกันปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ดังนี้
- ติดตามสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็กในเว็บไซต์กรมอนามัย www.anamai.moph.go.th แอพพลิเคชั่น Air4thai ของกรมควบคุมมลพิษ หรือ AirVisual
- หลีกเลี่ยงการให้เด็กเล็กทำกิจกรรมนอกบ้าน ในช่วงที่ปริมาณ 5 ตั้งแต่ระดับสีเขียว (26-37 ไมโครกรัม/ ลูกบาศก์เมตร) ขึ้นไป
- ให้ลูกได้ดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอ 6-8 แก้วต่อวัน
- เด็กที่มีโรคประจำตัวควรดูแลอย่างใกล้ชิดและสังเกตอาการ หากพบว่ามีอาการผิดปกติ เช่น ไอบ่อย หายใจลำบาก หายใจถี่ หายใจไม่ออกให้รีบไปพบแพทย์
- หากค่า PM 2.5 อยู่ในระดับสีแดง (91 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร) ขึ้นไปไม่ควรออกนอกบ้าน
- ปลูกต้นไม้เพื่อดักฝุ่นละอองและมลพิษอากาศ
- งดกิจกรรมที่ก่อให้เกิด PM 2.5 เช่น การเผาใบไม้ เผาขยะ
- ไม่ติดเครื่องยนต์เป็นเวลานานในบริเวณบ้าน
- ปิดประตูหน้าต่างให้มิดชิดและเปิดพัดลมให้อากาศหมุนเวียน
ทั้งนี้หากคุณพ่อคุณแม่พบอาการติดเชื้อ เช่น มีไข้ ไอ แน่นหน้าอก หายใจเร็ว หรือในกรณีที่รุนแรง อาจจะมีลักษณะที่อกหรือช่องตรงซี่โครงบุ๋ม ควรพาลูกออกจากบริเวณที่มีฝุ่น และไปพบแพทย์เพื่อตรวจร่างกาย และทำการรักษาทันที.
ขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก : มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค, www.pptvhd36.com
อ่านต่อบทความอื่นน่าสนใจ :
เลือกเครื่องฟอกอากาศให้ปลอดภัยกับลูกรักและทุกคนในครอบครัว
ต้นไม้ฟอกอากาศ ช่วยดูดฝุ่น-ลดสารพิษ ได้จริงหรือ?
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่