AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

เมื่อลูกมีคำถามว่า “ทำไมคนอื่นถึงรวยกว่าเรา”

“พ่อครับทำไมครูสอนว่ายน้ำถึงรวยกว่าเรา” ลูกชายวัย 8 ขวบถามผมด้วยความสงสัย ในขณะที่ผมไปรับกลับจากเรียนว่ายน้ำ คำถามแรกที่เกิดขึ้นในใจผมคือ ลูกเปรียบเทียบจากอะไร หรือเขารู้ว่าค่าเรียนว่ายน้ำเมื่อเทียบกับรายได้ของคนทั่วไปค่อนข้างแพง แต่อีกใจหนึ่งก็คิดว่าไม่น่าใช่ พอรถติดไฟแดงผมจึงถามลูกว่า “ทำไมลูกถึงคิดอย่างนั้นล่ะ” เด็กน้อยตอบกลับมาว่า “ก็คุณครูใช้ไอโฟน 6S รุ่นใหม่ แต่พ่อยังใช้โทรศัพท์ที่เล่นเกมไม่ค่อยได้เลยครับ”

ความช่างซักช่างถามของเด็กมักจะเกิดจากการสังเกตสิ่งรอบตัว

ทัศนคติที่ว่าใช้ของแพงแล้วเป็นคนรวยนั้น มิได้เกิดขึ้นกับเฉพาะแค่เด็กเท่านั้น ผู้ใหญ่เราเองก็เหมือนกัน เสื้อผ้า เครื่องประดับที่หรูหรา รถยนต์ราคาแพงทำให้เราดูเป็นคนมีฐานะในสายตาของคนอื่น มีแต่ตัวเราเท่านั้นแหละครับ (กับธนาคารเจ้าหนี้) ที่รู้ว่าความหรูหราบนตัวเรานั้นเป็นความมั่งคั่งของเราจริงๆ หรือไม่ ตลอดเส้นทางกลับบ้านในวันนั้นผมเลยได้คุยกันสนุกกับลูกในการทายกันว่าคนใช้ของแพงคนไหนน่าจะเป็นคนรวย

การสอนให้เด็กรู้จักดูแลเงินในสมัยนี้กับสัก 10 – 20 ปีก่อนมีความแตกต่างกันพอสมควร

บ่อยครั้งที่ผมใช้ช่วงเวลาที่ได้เรียนรู้ไปพร้อมกับลูกมาทบทวนความเข้าใจด้านการเงินให้มากขึ้น   เช่น   สมัยก่อนการซื้อของด้วยสินเชื่อยังไม่ค่อยนิยมเหมือนในปัจจุบัน อยากได้อะไรก็ต้องเก็บเงินซื้อ จะสมัครบัตรเครดิตก็มีขั้นตอนมากและไม่ได้อนุมัติผ่านกันง่ายๆ   หรือโปรโมชั่นซื้อก่อนผ่อนทีหลัง กับการใช้จ่ายผ่านธนาคารออนไลน์ เห็นเพียงตัวเลขทางยอดบัญชี ส่งผลให้การยับยั้งชั่งใจในการใช่จ่ายมีน้อยกว่าการนับธนบัตรเป็นใบๆ

อีกทั้งในยุคนี้สื่อโฆษณาเข้ามามีบทบาทต่อการตัดสินใจซื้อของเด็กและผู้ปกครอง สมัยก่อนโทรทัศน์มีเพียง 5 – 6 ช่อง แต่ปัจจุบันทั้งดาวเทียมและดิจิตอลทีวีรวมมีมากกว่า 200 ช่อง รายการส่วนใหญ่ก็แฝงโฆษณาที่ไม่ได้รับการตรวจสอบว่าโฆษณาเกินจริงหรือไม่ และมีการใช้กลยุทธ์ด้านราคา ลดราคา ให้ของแถม กระตุ้นให้เราอยากได้สินค้าที่เกินความจำเป็นได้ง่าย

จะเริ่มพูดคุยกับลูกเรื่องเงินไม่ใช่เรื่องยากเลยครับ สำหรับเด็กเล็กแรกเข้าโรงเรียนสามารถเริ่มได้จากเงินค่าขนม ช่วงเข้าเรียนใหม่อย่างชั้นป.1 – ป.2 อาจเริ่มให้เฉพาะค่าขนมเป็นรายวัน มากน้อยขึ้นอยู่กับราคาของแต่ละโรงเรียน ช่วงนี้ก็เป็นการสอนให้รู้จักการใช้ การเก็บ การทอนเงิน การรักษาเงิน หรือการไม่ไปขอเงินจากคนอื่นและควรสอนให้รู้จักธนาคารว่าเราสามารถนำเงินไปฝาก และถอนมาใช้ได้ ดังนั้นทุกๆครั้งที่เราไปกดเงินออกจาก ATM ไม่ได้หมายความว่าเราจะกดออกมาเท่าไหร่ก็ได้ตามที่เราต้องการ ส่วนข้อดีของการฝากธนาคารคือ ปลอดภัยไม่หาย และได้ดอกเบี้ย

พอลูกเริ่มโตขึ้นมาเป็นชั้น ป.3 ป.4 อาจเริ่มให้รู้จักการบริหารเงินด้วยการให้เงินเป็นสัปดาห์ หรืออาจให้ค่าอุปกรณ์การเรียนเช่น สมุด ไม้บรรทัด ดินสอ ที่จะต้องซื้อใช้ในการเรียน อาจเริ่มด้วยการคำนวณว่าค่าอุปกรณ์การเรียนทั้งเทอมอยู่ 400 บาท เราก็อาจให้ลูกเพิ่มอีกสัปดาห์ละ 20 บาท เพื่อให้เด็กเริ่มรู้จักที่จะแบ่งเงินว่า ส่วนใดเอาไว้ใช้ซื้อของกิน ส่วนใดเอาไว้ใช้ซื้ออุปกรณ์ หรือส่วนใดเอาไว้เก็บไปฝากธนาคาร บางท่านที่ผมเคยพูดคุยด้วยไม่ได้ใช้วิธีให้เงินค่าอุปกรณ์แก่ลูกไปบริหารเป็นสัปดาห์ แต่จะยังคงให้เฉพาะค่าขนมตามปกติ ส่วนค่าอุปกรณ์การเรียนนั้นมีการตั้งงบประมาณไว้เหมือนกันว่าเทอมละ 400 บาท แล้วให้ลูกมาเขียนใบเบิกเงินเป็นครั้งๆ เพื่อสอนให้ลูกรู้จักทำรายการบันทึกและการทำบัญชีเบื้องต้น พอเด็กโตขึ้นมีรายจ่ายมากขึ้นก็ค่อยๆ เพิ่มเงินให้เด็กไปบริหาร ตามค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น หากเราทำในลักษณะนี้ก็จะช่วยให้เรามีเวลาพูดคุยกับลูกเรื่องการบริหารเงินให้ถูกต้อง

การสอนให้ลูกรู้คณค่าของเงินเป็นเรื่องสำคัญ เพราะหากเขาโตขึ้นมาแม้มีเงินทองมากมายขนาดไหน แต่ขาดความรู้เรื่องการหา การใช้ การออม อย่างถูกต้อง ไม่นานเงินที่มีอยู่ก็คงจะถูกใช้ไปจนหมด หรือบางคนอาจถึงขั้นแบกหนี้จนหลังแอ่น ซึ่งจะเป็นเรื่องน่าเสียใจที่เรามีโอกาสสอนเขาแต่เราไม่ได้ทำ ช่วงเวลาของการพูดคุยกันในครอบครัว เป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุดช่วงหนึ่งในการสอดแทรกความรู้รอบตัวต่างๆให้แก่เด็กๆ รวมไปถึงเรื่องของเงินๆทองๆ

 

เทคนิคดีๆ สอนลูกออมเพื่อใช้เงินให้เกิดประโยชน์

พอเริ่มรู้จักเงินมากขึ้น ก็ให้เริ่มตั้งเป้าหมายของการออมเพื่อไปใช้ตามที่ต้องการ เด็กที่โตหน่อยซัก ป.3 ป.4 จะเริ่มบวกเลขได้คล่อง การตั้งเป้าง่ายๆเช่น หากมีหนังสือที่อยากซื้อเล่มละ 60 บาท เราได้ค่าขนมวันละ 50 บาท ถ้าใช้ 40 บาท เหลือ 10 บาท ก็ต้องเก็บ 6 วัน แต่ถ้าอยากได้เร็วขึ้นก็ต้องใช้ให้น้อยลง เก็บให้มากขึ้น

 

 

ผู้เขียน : ณัฐพงษ์ อภินันท์กูล นักจัดการการเงินอิสระ CFP สมาคมนักวางแผนการเงินไทย TFPA
ภาพ : Shutterstock