ถึงวันหยุดสุดสัปดาห์ลูกน้อยก็อ้อนขอไปเที่ยวทุกที แต่ไปเที่ยวทีไรต้องมีเหตุการณ์ไม่คาดคิดให้คุณพ่อคุณแม่ปวดหัวได้ไม่เว้น ดร.ปนัดดา ธนเศรษฐกร ผู้เชี่ยวชาญด้านการสร้างวินัยเชิงบวกเพื่อพัฒนาเด็กในทุกด้าน จึงมีเทคนิคเตรียมความพร้อมก่อนไปเที่ยวและเทคนิครับมือกับสถานการณ์เฉพาะหน้าระหว่างท่องเที่ยวมาแนะนำให้ค่ะ
-
วางแผนร่วมกัน ยิ่งละเอียดยิ่งลดปัญหา
ก่อนวันท่องเที่ยวของครอบครัวประมาณ 1 สัปดาห์ คุณพ่อคุณแม่ควรวางแผนและทำข้อตกลงกับลูกน้อยให้มากที่สุด เพื่อให้ลูกน้อยเตรียมความพร้อม สร้างความรู้สึกมั่นคงปลอดภัย และลดความตื่นเต้นที่อาจทำให้ลูกน้อยเกิดพฤติกรรมล้นๆ ได้ค่ะ
Checklist วางแผนกับลูกเรื่องอะไรบ้างนะ
- วางแผนสถานที่ท่องเที่ยว จุดแวะพักต่างๆ และวิธีการเดินทางให้ละเอียด
- บอกเล่าลักษณะของสถานที่ท่องเที่ยวและกิจกรรมที่ลูกสามารถทำได้เมื่อไปถึง
- ระบุระยะเวลาที่ครอบครัวจะใช้ในสถานที่หรือใช้ทำกิจกรรมต่างๆ ให้ชัดเจน
- บอกกฎกติกาของแต่ละสถานที่หรือกติกาที่เป็นข้อตกลงกันในครอบครัวให้ครบถ้วน
- อธิบายผลที่จะตามมาหรือโอกาสดีๆ ที่เขาจะพลาดไปหากไม่ปฏิบัติตามข้อตกลง
- เตือนอันตรายหรือสิ่งที่ควรระมัดระวัง
- สอนวิธีขอความช่วยเหลือและเตรียมความพร้อมให้เขารู้วิธีแก้ไขปัญหาหากเกิดเหตุไม่คาดฝัน
-
ทบทวนแผนสม่ำเสมอ ยิ่งบ่อยยิ่งเที่ยวสนุก
แม้จะวางแผนกันไว้แล้ว แต่เวลาที่ลูกน้อยกำลังตื่นตาตื่นใจ เขาอาจลืมกฎกติกาที่ตกลงกันไว้ เพราะฉะนั้นการทบทวนแผนและกฎกติกาก่อนเที่ยวทุกวันจนนาทีสุดท้าย จะช่วยให้ลูกน้อยมีสติและควบคุมตัวเองได้มากขึ้นค่ะ
-
กระเป๋าและเงินของลูก ให้ลูกจัดการเอง
ไม่ว่าจะไปเที่ยวใกล้หรือไกล คุณพ่อคุณแม่ควรมีกระเป๋าส่วนตัวและให้เงินส่วนตัวไว้กับลูกน้อย แม้สิ่งของที่ลูกน้อยอยากพกไปด้วยจะชวนให้ตั้งคำถามว่า “เอาไปทำไม” แต่นั่นคือความมั่นคงทางอารมณ์ของเขาค่ะ และเงินส่วนตัวยังทำให้เขามีเงินสำหรับซื้อของที่อยากได้ โดยไม่จำเป็นต้องยุ่งเกี่ยวกับเงินของคุณพ่อคุณแม่ ซึ่งจะช่วยให้เขาเรียนรู้วิธีบริหารจัดการเงินของตัวเองให้อยู่ในวงเงินที่จำกัดด้วยค่ะ
-
หยิบจับลดความตื่นเต้น
อุปกรณ์จำเป็นสำหรับการเที่ยวสนุก เช่น ชุดว่ายน้ำ หมวกใบใหม่ แว่นตากันแดด ฯลฯ ไม่จำเป็นต้องรอถึงวันไปเที่ยวก็เอาออกมาเล่นหรือหยิบจับสำรวจก่อนได้นะคะ เพื่อลดความตื่นเต้นให้กับลูกน้อยก่อนลงสนามจริง!
อ่านเรื่อง “เตรียมพร้อมก่อนหอบลูกสนุกนอกบ้าน ท่องเที่ยวไปในโลกกว้างกับลูกโดยไม่ป่วนใคร” คลิกหน้า 2
พร้อมรับมือทุกสถานการณ์ไม่คาดฝัน
การเตรียมความพร้อมก่อนเที่ยวเป็นวิธีหนึ่งที่จะช่วยให้ลูกน้อยควบคุมพฤติกรรมและอารมณ์ของตัวเองได้ดีขึ้น แต่เมื่อลูกน้อยเจอสภาพแวดล้อมใหม่ก็มีโอกาสเกิดสถานการณ์ไม่คาดฝันได้เหมือนกัน อาจารย์ปนัดดาจึงแนะนำเคล็ดลับรับมือจอมป่วนสำหรับสถานการณ์ต่างๆ ให้คุณพ่อคุณแม่อุ่นใจมากขึ้นค่ะ
เมื่อเกิดเหตุไม่คาดฝัน ต้องเปลี่ยนแผนเสียแล้ว
แม้จะวางแผนทริปท่องเที่ยวไว้ดีแค่ไหน แต่ก็มีโอกาสที่ฝนจะตกหรือสถานที่ปิดปรับปรุง ในสถานการณ์เช่นนี้คุณพ่อคุณแม่ลองถามวิธีแก้ปัญหากับลูกน้อยดูสิคะ ทั้งนี้เพื่อป้องกันอาการใจสลายจนควบคุมไม่อยู่และให้ลูกน้อยยอมเปลี่ยนแผนด้วยตัวเอง แต่หากลูกน้อยยืนกรานว่าจะทำตามแผนเดิม คุณพ่อคุณแม่ก็ตั้งคำถามต่อไปเพื่อนำไปสู่การคิดแก้ไขปัญหาได้ค่ะ
“ฝนตกแบบนี้ เราจะทำอย่างไรกันดี” “หนูจะเล่นตากฝนเหรอ แต่สถานที่ไม่เปิดให้เล่นนะ” “ถ้า
หนูไปรออยู่ที่นั่นแล้วเขาไม่เปิดเลยทั้งวัน เราก็จะเสียเวลารอโดยไม่ได้เล่นอะไรเลยนะ” “เรารออีก 5 นาที ถ้าฝนยังไม่หยุดตก เราเปลี่ยนไปเล่นที่บ้านกันดีไหมจ๊ะ”
เมื่อลูกน้อยตื่นเต้นเกินห้ามใจ
ถึงแม้จะเตรียมความพร้อมก่อนไปเที่ยวและตกลงกติกากันก่อนแล้ว แต่บรรยากาศครึกครื้นหรือความตื่นตาตื่นใจของสิ่งต่างๆ ก็อาจชวนให้ลูกน้อยเตลิดได้ เขาอาจเอะอะเสียงดังหรือวิ่งไปมาเป็นลูกลิง นั่นเพราะเขาอยากแสดงออกให้คุณพ่อคุณแม่รู้ว่าเขาชอบและรู้สึกสนุกจริงๆ คุณพ่อคุณแม่สามารถปล่อยให้เขาค่อยๆ คลายความตื่นเต้นเองก็ได้ หรือจะฉุดอารมณ์ให้เขาสงบลงด้วยการพูดตอบรับอารมณ์ความรู้สึก แล้วค่อยเบี่ยงเบนความสนใจของลูกไปสู่สิ่งอื่นค่ะ
“รู้แล้วจ้ะว่าหนูตื่นเต้น เราไปดูตรงนั้นกันบ้างดีกว่า” หรือ “รู้จ้ะว่าหนูสนุกมาก หนูชอบมาก แม่เองก็คงสนุกมากถ้าได้ไปเที่ยวตรงนั้นบ้าง”
เมื่อลูกน้อยทำผิดกติกา
ไม่ว่าจะเป็นกติกาของสถานที่แห่งนั้นหรือกติกาที่ตกลงกับคุณพ่อคุณแม่ไว้ หากลูกน้อยไม่ทำตามข้อตกลงหรือมีเรื่องทะเลาะเบาะแว้งกับเด็กคนอื่น แนะนำให้คุณพ่อคุณแม่แสดงความรับผิดชอบเป็นตัวอย่างที่ดีให้ลูกเห็น ด้วยการขอโทษอย่างสุภาพและพาลูกน้อยออกจากสถานที่แห่งนั้นทันทีค่ะ คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรดุหรือลงโทษเขานะคะ เพราะลูกน้อยไม่ได้ทำผิดและอาจกลายเป็นชนวนให้คุณพ่อคุณแม่ทะเลาะกับลูกแทนได้ เพียงแต่เขายังไม่พร้อมสำหรับกฎเกณฑ์และสถานที่ จึงควรค่อยๆ สอนและทบทวนข้อตกลงกันใหม่ จากนั้นคุณพ่อคุณแม่อาจให้โอกาสลูกน้อยได้เข้าไปเล่นอีกครั้งหรือเปลี่ยนเป็นให้โอกาสในครั้งหน้าก็ได้ค่ะ
อ่านเรื่อง “เตรียมพร้อมก่อนหอบลูกสนุกนอกบ้าน ท่องเที่ยวไปในโลกกว้างกับลูกโดยไม่ป่วนใคร” คลิกหน้า 3
เมื่อลูกน้อยหมดความอดทนรอคอย
สถานที่ท่องเที่ยวบางแห่งใช้เวลานานกว่าที่คิด ระหว่างนั้นลูกน้อยอาจหมดความสนใจและเริ่มแสดงพฤติกรรมต่างๆ อาจส่งเสียงก่อกวนหรือเล่นซน เพื่อบอกให้รู้ว่าเขาเบื่อ วิธีแก้ไขคือดึงความสนใจของเขาให้กลับมาอยู่ที่กิจกรรม อาจชี้ชวนให้ดูอย่างอื่นหรือชวนพูดคุยเรื่องอื่น ในกรณีที่ต้องต่อแถวเข้าคิวก็เช่นกัน คุณพ่อคุณแม่สามารถเบี่ยงเบนความสนใจไปสู่เรื่องอื่น เพื่อให้เขาสามารถอดทนรอคิวได้จนเสร็จ ผู้ใหญ่ไม่ควรรอคิวแทนเด็กหรือใช้ความสงสารเพื่อขอลัดคิว เพราะการทำเช่นนั้นจะทำให้ลูกน้อยไม่รู้จักการอดทนรอคอยได้ค่ะ
เมื่อลูกน้อยเล่นเพลินเกินเวลา
ในบางครั้งเราเห็นเด็กมีพฤติกรรม “เอ้อระเหย” เล่นไม่ยอมเลิก จนล่วงเลยกำหนดเวลาก็ยังไม่ยอมกลับบ้าน วิธีแก้ปัญหา เพียงแค่กำหนดเวลาให้ชัดเจนก่อน เมื่อใกล้ถึงกำหนดเวลาแนะนำให้คุณพ่อคุณแม่เตือนเขาอีกหลายๆ ครั้ง เช่น “เหลืออีก…นาทีนะลูก” เตือนเป็นระยะ แล้วยืนรออย่างตั้งใจเพื่อเป็นภาษาท่าทางให้รู้ว่าเรามีเวลาจำกัดจริงๆ ค่ะ
อ่านเรื่อง “เตรียมพร้อมก่อนหอบลูกสนุกนอกบ้าน ท่องเที่ยวไปในโลกกว้างกับลูกโดยไม่ป่วนใคร” คลิกหน้า 4
สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรทำเมื่อพาลูกเที่ยวนอกบ้าน
- ทะเลาะกับลูกน้อย หรือดุด่าว่ากล่าวด้วยเหตุผลของผู้ใหญ่ เพราะเมื่อลูกยังไม่เข้าใจจะยิ่งแสดงอาการต่อต้านมากขึ้น
- ทะเลาะกับผู้อื่น ทั้งนักท่องเที่ยวคนอื่น ครอบครัวอื่น หรือเจ้าหน้าที่ เพราะอาจกลายเป็นตัวอย่างที่ไม่ดีให้ลูกน้อยเลียนแบบต่อไปในอนาคต
- เมินเฉยสัญญาณจากลูกน้อย เพราะเด็กยังไม่สามารถบอกความรู้สึกตัวเองได้ชัดเจนว่าตัวเอง ตื่นเต้น เบื่อ ไม่ชอบ หรือกลัว แต่เขาจะแสดงออกผ่านพฤติกรรม เมื่อคุณพ่อคุณแม่สามารถแปลความหมายจากพฤติกรรมได้ ก็จะช่วยให้แก้ไขสถานการณ์ได้ตรงจุดมากขึ้นค่ะ
หอบลูกเที่ยวไม่ยุ่งยากอย่างที่คิด ขอเพียงแค่เตรียมตัวเตรียมใจลูกน้อยให้พร้อม และสนุกกับลูกอย่างเต็มที่ คุณพ่อคุณแม่และลูกน้อยก็จะได้เรียนรู้และสร้างความทรงจำแสนประทับใจไปพร้อมกันแล้วค่ะ
เรื่องโดย : อ.ดร. ปนัดดา ธนเศรษฐกร ผู้เชี่ยวชาญด้านการใช้เทคนิคการสร้างวินัยเชิงบวกเพื่อส่งเสริมพัฒนาการสมอง การเรียนรู้ และพฤติกรรมเด็กปฐมวัย สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล
สัมภาษณ์และเรียบเรียง : กองบรรณาธิการ / ภาพ: shutterstock