อ่านออกเขียนได้ นั้นดีอย่างไรสำคัญอย่างไร ก็คงเหมือนเอามะพร้าวห้าวมาขายสวน เพราะเชื่อว่าทุกท่านทราบถึงประโยชน์ของการอ่านกันดีอยู่แล้ว ถึงใครเขาจะว่าคนไทยอ่านหนังสือปีละไม่กี่บรรทัดก็ตาม
อ่านออกเขียนได้ พ่อแม่สอนเองก็ได้
คราวนี้เลยขอพูดถึงการอ่านในแง่มุมที่แตกยอดออกไปสักหน่อย
ในวัยหนึ่งการเรียนรู้ของเด็ก คือ การอ่าน
ถ้าจะอธิบายแบบกำปั้นทุบดิน การอ่านหนังสือทั้งหนังสือเรียนและหนังสืออื่นๆ นั้นเป็นการเรียนรู้ ก็ถ้าไม่อ่านจะรู้ได้อย่างไร
แต่อยู่ๆ จะให้เด็กหยิบหนังสือมานั่งอ่านเจื้อยแจ้วตั้งแต่ตัวเล็กๆ อายุไม่กี่เดือนก็คงแปลก เพราะวัยขนาดนั้นอย่าว่าแต่อ่านเลย พูดยังเป็นภาษาต่างดาวอยู่เลยด้วยซ้ำ ส่งหนังสือให้ถ้าไม่เอาเข้าปากอมจนหนังสือเปียกชุ่มก็เอามาฉีกเล่นเป็นแผ่นๆ (อย่างที่เนิร์สเซอรี่ผม) แต่ถึงจะยังพูดไม่ได้หรือพูดได้ไม่เป็นคำ ทักษะที่มีติดตัวมาตั้งแต่ในท้องแม่ก็คือการฟัง เพราะฉะนั้นจึงควรใช้ให้เป็นประโยชน์ด้วยการให้เด็กเล็กๆ “อ่านหนังสือมือสอง”
อ่านเรื่อง “สอนลูกอ่านออกเขียนได้ เทคนิคโดย คุณชนะ เสวิกุล” คลิกหน้า 2
อ่านให้ลูกฟังได้ตั้งแต่ในท้อง
เปล่า ไม่ใช่จะให้ไปหาหนังสือเก่าจากที่ไหนมาอ่านให้ลูกฟังหรอก คำว่า “อ่านหนังสือมือสอง” นี่ผมตั้งขึ้นให้มันสะวิงเล่น แปลง่ายๆ คือการให้เขาฟังการอ่านของเรา หรือแปลให้ยิ่งง่ายกว่านั้นคืออ่านหนังสือให้เขาฟัง ซึ่งการอ่านที่ว่านี่คุณพ่อคุณแม่อ่านให้เขาฟังได้ตั้งแต่เขาอยู่ในท้อง เพราะทารกในครรภ์จะเริ่มพัฒนาการได้ยินเสียงตั้งแต่อายุครรภ์ไม่กี่เดือน ถ้าจำไม่ผิดก็ประมาณช่วง 4 เดือนนี่ล่ะ
อ่านให้เขาฟังบ่อยๆ นิทานนี่ล่ะครับที่เหมาะ เพราะสั้นและสามารถแสดงน้ำเสียงตามเรื่องได้ ช่วงในครรภ์นั้นลูกไม่รู้เรื่องหรอกว่าเราพูดอะไร แต่เขาจะซึมซับน้ำเสียงและความรู้สึกอ่อนโยนด้วยความรักของเรา สิ่งนี้จะเป็นภูมิคุ้มกันให้ลูกอย่างดีเมื่อเขาโตขึ้น ส่วนสำหรับเด็กที่โตขึ้นมาเขาจะได้ใช้จินตนาการไปกับสิ่งที่ได้ยินขณะเราเล่า และแน่นอนได้สัมผัสความรักความอบอุ่นจากพ่อแม่ไปด้วยในตัว
อ่านเรื่อง “สอนลูกอ่านออกเขียนได้ เทคนิคโดย คุณชนะ เสวิกุล” คลิกหน้า 3
ให้ลูกเขียนบันทึก
สำหรับเด็กในวัยเรียนพอจะอ่านออกเขียนได้ ผมขอแนะนำคุณพ่อคุณแม่เป็นพิเศษ เป็นสิ่งที่ผมให้ลูกศิษย์ในคลาสทั่วๆ ไปทำและใช้สำหรับปรับพฤติกรรมสำหรับลูกศิษย์ที่มีอาการสมาธิสั้นนั่นคือการเขียน
ให้ลูกๆ “เขียนบันทึก” ทุกวันว่าวันนี้ทำอะไรบ้าง เช่นไปเรียนมีอะไรน่าสนใจบ้าง เจออะไรบ้าง ฯลฯ แล้วให้เขาอ่านให้เราฟังทุกคืน เขาจะเขียนเป็นเรื่องเป็นราวหรือเปล่า ไม่ต้องซีเรียส เขาจะอ่านตะกุกตะกักหรืออย่างไรก็ไม่ต้องไปขัดฟังเขาเออออกับเขาสนุกไปกับเรื่องที่เขาอ่าน
วิธีนี้เด็กจะได้พัฒนาการเรียบเรียงความคิด ได้ชะลอความเร็วในการคิดที่เคยวูบวาบตามสิ่งเร้า ได้ฝึกทบทวนความจำ ฝึกการสังเกตรับรู้สิ่งรอบตัว ฝึกการแก้ปัญหา ฯลฯ
สำคัญกว่านั้นคือ ทำให้ลูกได้รู้ว่าพ่อแม่พร้อมจะรับฟังเขา
ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญมากต่อชีวิตเขา
บทความน่าสนใจอื่นๆ
เคล็ดลับพัฒนาสมอง ด้วยการกอด กิน เล่น อ่าน
ชวนลูกอ่านหนังสือ พัฒนาสมอง ด้วยเคล็ดลับ 7 ข้อ
บทความโดย : ชนะ เสวิกุล เขียนเพลง คอลัมน์ หนังสือและช่วยภรรยาเลี้ยงเจ้าอาย ลูกสาวคนเดียว
ภาพ : Shutterstock