สำหรับเด็ก อาจยังบอกไม่ได้ว่าอะไรคือการ “เที่ยว” แต่ในการรับรู้ของเขา แค่ได้ออกไปนอกเขตบ้านก็สนุกแล้ว ดังนั้นสำหรับเด็ก ทุกที่น่าตื่นตาตื่นใจไปหมด ส่วนคุณพ่อคุณแม่คงพาลูกเที่ยวเพราะรู้ว่าทำให้เขาสนุกแน่ๆ และอยากให้พวกเขาได้เห็นโลกกว้าง แต่คุณรู้หรือไม่ คุณยังสามารถทำให้ลูกรู้สึกและสัมผัสได้ว่า “เที่ยว” ให้อะไรเขามากกว่าความสนุกเห็นอะไรที่ไม่เคยเห็น หรือทำอะไรที่ไม่เคยทำ!
1. เริ่มต้นเที่ยวใกล้ๆ ก็ให้ผลสูงได้
เริ่มทดลองจากกิจกรรมง่ายๆ ใกล้บ้านก่อน เช่น ไปดูนก ดูสัตว์ ส่องแมลง ดมกลิ่นดิน ใบไม้ใบหญ้าที่สวนสาธารณะละแวกบ้านหรือแม้แต่สวนหลังบ้าน หรือพาไปชิมเมนูใหม่ที่ลูกไม่เคยกิน ร้านอาหาร ร้านขนมของชาติต่างๆ หรือไปลิ้มรสอาหารที่ไม่ได้กินบ่อยๆ ไปร่วมงานเทศกาล หรือกิจกรรมที่จัดขึ้นเป็นช่วงเวลาสั้นๆ
แม้แต่ในวันคล้ายวันเกิดของลูก แทนที่จะจัดงานฉลองก็จัดทริปเล็กๆ เน้นที่ไม่ไกล ไปกินอาหารที่ร้านเปิดใหม่ ให้ลูกเลือกเมนูที่อยากลอง คุณพ่อคุณแม่ก็ทำให้ทริปนี้พิเศษได้อีกด้วยการชวนลูกพูดคุย ถามความคิดหรือความรู้สึกของลูก บอกความรู้สึกของตัวเองให้ลูกฟังด้วยก็ได้ เช่น อาหารที่กิน สภาพสถานที่รอบๆ เป็นต้น
“โดยรวมแล้ว คือการไปเที่ยวแบบใช้เวลาและเงินไม่มาก ไม่ไกล ใช้เวลาสักครึ่งวัน ไม่กำหนดตายตัวว่าจะเป็นเมื่อไหร่วันไหน จุดประสงค์คือ แม้จะเป็นประสบการณ์ในวงเล็กๆ ช่วงสั้นๆ แต่ลูกก็ได้สัมผัสสถานที่ อาหาร ศิลปะ ดนตรี ธรรมชาติ และวัฒนธรรมได้” Joe D’Alessandro ประธานและซีอีโอของสำนักงานท่องเที่ยวแห่งซานฟรานซิสโก อธิบาย
“เที่ยวแบบง่ายๆ แค่ครึ่งวัน อย่างช่วงสายหรือบ่ายของวันหยุดก็เพียงพอให้ลูกๆ ได้อะไรเยอะแล้ว”
2. เที่ยวไกลขึ้น ต้องกระตุ้นความอยาก+สร้างอารมณ์ร่วม
เมื่อมีเวลามากขึ้นจะพาลูกไปเที่ยวไกลขึ้นก็ได้ แต่การเที่ยวจะมีความหมายกับลูกยิ่งขึ้นหากทำอะไรไม่เหมือนใคร เพราะการเที่ยวคือการผจญภัย
เทคนิคคือ เปิดโอกาสให้เด็กๆ ช่วยวางแผนและหาข้อมูล ให้เขาได้ใช้ทักษะด้านนี้ที่มีอย่างเต็มที่ และจะเป็นการเตรียมตัวและกระตุ้นอารมณ์ร่วมได้ดี ด้วยคำถามธรรมดาๆ เช่น “ใกล้ปิดเทอมแล้ว ลูกอยากไปเที่ยวที่ไหนจ๊ะ” หรือเอาง่ายๆ ให้เด็กๆ เริ่มต้นก่อนก็ได้ เช่น “ปิดเทอมนี้ เราจะไปทะเลกัน ลูกอยากไปที่ไหน ทำอะไรบ้าง” แค่นี้ความตื่นเต้นก็มาแล้ว! แม้อาจจะได้คำตอบอย่าง “อยากไปดูหมีที่ขั้วโลกเหนือ” ก็ไม่ต้องตกใจและรีบปฏิเสธให้อารมณ์ตกไป แค่ต้องตกลงคนละครึ่งทางกับลูก “ขอเป็นหมีขั้วโลก ที่ประเทศไทยก่อนได้มั้ยลูก”
พอมีสิ่งที่ลูกสนใจ การชวนเขาค้นหาข้อมูลเรื่องสถานที่ การเดินทาง และวางแผนทริปก็ไม่ยากแล้ว
“เมื่อเด็กอ่านหนังสือเกี่ยวกับต้นไม้ เขาจะรู้สึกอยากจับและปีนต้นไม้ การอ่านหนังสือจึงเป็นอีกวิธีที่กระตุ้นความสนใจและความอยากรู้อยากเห็นได้”
อ่านต่อ “ทำให้ทุกการ “ไปเที่ยว” คือ “โอกาสพิเศษ” สำหรับลูก” คลิกหน้า 2
3. ให้ความสนใจนำทาง
สำหรับลูกโต แค่ความสนุกอาจไม่เพียงพอจะกระตุกความอยากเที่ยว เลสลี่ คาร์ลิน โฆษกของ TripAdvisor.com แนะนำว่า ควรเริ่มที่ความชอบ ความสนใจของลูก
เช่น ลูกชอบรถไฟมาก การจัดทริปที่เดินทางด้วยรถไฟ แวะชมสถานที่ต่างๆ ระหว่างนั่งรถไฟ ก็จะจุดประกายความอยากรู้อยากเห็นของลูกได้ ไม่จำเป็นต้องไปไกลๆ หรือถ้าลูกเป็นแฟนกีฬาตัวยง ตาลุกวาวทันทีที่ได้ยินการแสดงของสัตว์ต่างๆ ก็จัดทริปให้มีโปรแกรมโปรดของเขาด้วย ส่วนใหญ่หลังรายการแข่งขันกีฬา หรือการแสดงเหล่านี้จบ ผู้จัดมักอนุญาตให้เด็กๆ สามารถลงไปในสนาม หรือไปหน้าเวที ให้ทำความรู้จัก พูดคุยอย่างใกล้ชิดได้
คาร์ลิน เสริมว่า “หากจุดหมายที่คุณจะไป มีคนรู้จักเป็นเจ้าถิ่นอยู่ด้วยแล้วละก็ อย่าลืมให้เขาแนะนำสถานที่ หรือสิ่งของ Unseen หรือแปลกๆ ให้ด้วย เพราะเด็กโตจะยิ่งสนใจมากขึ้น”
“สิ่งแปลกหรือสถานที่ที่พิเศษ แม้เป็นสถานที่เพียงจุดแวะเล็กๆ ถึงจะต้องออกนอกเส้นทางหรือรายการที่วางไว้บ้าง ก็ช่วยสร้างสีสัน และความน่าตื่นเต้นให้ทริปที่มีเด็กๆ ได้”
4. โปรแกรมแน่นเอี้ยด ไม่ได้ประกันว่า “เที่ยวแล้วจะได้อะไร”
คุณอาจคุ้นเคยกับกำหนดเวลาทำกิจกรรมเพื่อให้เที่ยวอย่างคุ้มค่า แต่หากคุณต้องการเน้นให้ลูกได้มีประสบการณ์จากการท่องเที่ยว D’Alessandro อธิบายว่า “คุณควรปล่อยไปตามจังหวะและสถานการณ์ เด็กเรียนรู้ได้ทุกที่ เรียนรู้ได้ดีเมื่อสนุก และสนใจ จึงควรหลีกเลี่ยงการจัดโปรแกรมสุดคุ้ม ตารางเต็มเหยียด และไม่จำเป็นต้องวางแผนล่วงหน้าทั้งหมด เพราะการได้ขัดเกลาทักษะการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้ากันบ้างก็ถือเป็นประสบการณ์หนึ่งของการเที่ยว
“ดังนั้นแม้จะไปเที่ยวก็ให้ลูกมีเวลาอิสระได้ แค่ออกไปทำอะไรที่อยากทำใกล้ที่พักก็สร้างประสบการณ์ให้ลูกได้แล้ว”
อ่านต่อ “ทำให้ทุกการ “ไปเที่ยว” คือ “โอกาสพิเศษ” สำหรับลูก” คลิกหน้า 3
5. จบทริป แต่ “ประสบการณ์” ไม่มีวันจบ
ลูกจะได้สัมผัสประสบการณ์พิเศษจากการเที่ยวอย่างครบถ้วน หากคุณให้ความสำคัญกับการเก็บประสบการณ์หลังทริปจบ (และพักให้คลายเหนื่อยแล้ว) นั่นคือ การเก็บความทรงจำให้ประทับใจผ่านสิ่งของต่างๆ
แม้จะผ่านมากว่า 29 ปีแล้ว แต่ D’Alessandro บอกว่า เขายังเก็บของที่ระลึกจากการท่องเที่ยวกับลูกสาวในที่ต่างๆ ไว้มากมาย ตั๋วเดินทางและรายการอาหารจากเที่ยวบินต่างๆ บัตรเข้าชมพิพิธภัณฑ์ สนามกีฬา ภาพถ่ายในร้านอาหารต่างๆ ฯลฯ ซึ่งเก็บในสมุดบันทึก (Scrap book) ที่เขาเขียนคำบรรยายเล็กๆ น้อยๆ ช่วงเวลาตลกๆ ในภาพ ความทรงจำ หรือสิ่งที่ประทับใจ เป็นต้น
“หากการทำสมุดบันทึกอย่างนี้อาจทำให้คุณเครียดมากกว่า ก็ยังมีวิธีอื่นที่ครอบครัวจะยังเก็บความประทับใจในทริปได้ เช่น เก็บของที่ระลึกราคาไม่แพงที่เป็นแบบเดียวกัน ก้อนหิน แก้วน้ำ บัตรเข้าชมต่างๆ ฯลฯ
“แม้แต่การเก็บไฟล์ภาพถ่าย แยกไว้แต่ละสถานที่ ในประเทศ ต่างประเทศ หรือไปสถานที่เดิมหลายๆ ครั้งก็เก็บเฉพาะสถานที่นั้นๆ ตามลำดับเวลาที่ไป เก็บได้ตามความคิดสร้างสรรค์ของครอบครัว ภาพที่เก็บอย่างดี เมื่อนำมาย้อนดูกันกี่ครั้ง ก็ยังคงร้อยเรียงเรื่องราว และความทรงจำประสบการณ์ต่างๆ ได้ดี”
“การเก็บความทรงจำหลังจบทริป ไม่ต้องใช้เวลามาก เก็บทีละน้อยก็พอ สิ่งของและภาพคือ ตัวช่วยให้คุณมีช่วงเวลาดีๆ กับลูกๆ ได้ย้อนนึกถึงเรื่องราวและประสบการณ์ทั้งหลายที่มีอยู่มากมายในตัวคุณและลูกอยู่แล้ว”
หวังว่า Amarin Baby & Kids จะช่วยจุดประกายไอเดียสำหรับทริปถัดไปของครอบครัวคุณ ให้เป็นทริปสุดพิเศษสำหรับลูกน้อยและทั้งครอบครัวได้นะคะ
เรื่อง: กองบรรณาธิการนิตยสาร Amarin Baby & Kids
ภาพ: Shutterstock