ภาพวาดสวยๆ จากการวาดของเด็กเกิดจากช่วงเวลาที่เด็กหยิบจับอุปกรณ์วาดเขียนขึ้นมาสักชิ้น แล้วลงมือวาดภาพสร้างงานศิลปะด้วยตัวเอง หมายความว่าเด็กต้องใช้ทั้งพัฒนาการด้านร่างกาย (กล้ามเนื้อมัดเล็ก) การทำงานประสานกันของสายตากับมือ และใช้พัฒนาการด้านสติปัญญา เพื่อถ่ายทอดความคิดออกมาเป็นงานศิลปะ ภาพวาดของเด็กจึงไม่ใช่แค่ภาพวาด แต่เป็นกิจกรรมหนึ่งที่เด็กได้เสริมสร้างพัฒนาการด้านต่างๆ ได้ผ่อนคลายจิตใจ และยังเป็นกิจกรรมที่บ่งบอกถึงลำดับพัฒนาการตามวัยของเขาได้อีกด้วย
1 ขวบครึ่ง – 3 ขวบ : ขีดเขี่ย
เมื่อลูกน้อยเริ่มอยากจับช้อน หรืออยากหยิบอาหารเข้าปากเอง หมายความว่าเขาเริ่มใช้กล้ามเนื้อมัดเล็กบ้างแล้ว หลังจากนั้นอีกสักระยะประมาณ 8 เดือนหรืออายุประมาณ 1 ขวบครึ่ง เด็กบางคนเริ่มจะจับดินสอ แล้วลงมือขีดเขี่ยเอง ในช่วงอายุนี้เราใช้คำว่า “ขีดเขี่ย” แทนคำว่า “ขีดเขียน” เพราะว่าภาพของเขาเป็นลักษณะเส้นยุ่งๆ ตามอารมณ์สนุกสนานของเขาเท่านั้น ไม่ได้วาดเพื่อถ่ายทอดเรื่องราว เพราะลูกน้อยวัยนี้ยังไม่สามารถถ่ายทอดความคิดออกมาเป็นภาพได้ เพราะฉะนั้นคุณพ่อคุณแม่ควรให้อิสระเขาในการขีดเขี่ย เพื่อให้เขาได้สนุกและพัฒนากล้ามเนื้อมืออย่างเต็มที่
4 – 6 ปี : เป็นรูปเป็นร่าง
ภาพวาดของลูกน้อยวัยนี้จะเริ่มมีรูปร่างมากขึ้น และเริ่มมีความสัมพันธ์กับความจริง เช่น วาดวงกลมแทนหัวคน ขีดเส้นแทนแขนขา แต่เด็กวัยนี้จะยังใช้สีที่ไม่สัมพันธ์กับความเป็นจริง เช่น เขาอาจระบายสุนัขเป็นสีชมพู ระบายท้องฟ้าเป็นสีม่วง ฯลฯ
7 – 9 ปี : ผสมผสานรูปทรง
จอมซนวัยนี้เป็นวัยที่วาดรูปทรงได้แล้ว และสามารถนำรูปทรงมาผสมผสานในภาพวาดได้ ภาพวาดจึงเริ่มมีรายละเอียดมากขึ้น เช่น บ้านรูปสี่เหลี่ยม หลังคารูปสามเหลี่ยม และเริ่มระบายสีให้ตรงกับความเป็นจริง เช่น กิ่งไม้สีน้ำตาล และใบไม้สีเขียว ลักษณะพิเศษในช่วงวัยนี้ คือ ภาพที่สามารถมองได้ทะลุเหมือนภาพเอ็กซ์เรย์ เช่น เขาวาดบ้านสี่เหลี่ยมเป็นกำแพง แต่ในสี่เหลี่ยมนั้นจะมีรายละเอียดของสิ่งที่อยู่ในตัวบ้าน ราวกับสามารถมองทะลุเข้าไปได้ด้วย
อ่านเรื่อง “ชวนพ่อแม่สังเกตพัฒนาการลูกจาก “ภาพวาด”” คลิกหน้า 2
9 – 11 ปี : สมจริงสมจัง
ภาพของลูกวัยโตจะเหมือนธรรมชาติมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการใช้สี หรือการถ่ายทอดความคิดต่างๆ ออกมาเป็นรายละเอียดตามจริง ภาพวาดคนก็จะแยกชัดเจนระหว่างเพศชายและเพศหญิง เช่น ผู้ชายตัวสูงใหญ่สวมกางเกง ผู้หญิงตัวเล็ก แต่งหน้า และสวมกระโปรง เนื่องจากเด็กวัยนี้มีความเข้าใจในเรื่องต่างๆ ได้มากขึ้น คุณพ่อคุณแม่จึงสอนเรื่องสัดส่วนและองค์ประกอบของภาพให้เขาได้บ้างแล้ว
12 ปีขึ้นไป : มีเหตุมีผล
เป็นช่วงวัยที่การวาดภาพเริ่มมีเหตุและผลเข้ามาเกี่ยวข้อง กล่าวคือ มีความซับซ้อน มีแสงเงา และมีมิติมากขึ้น หากสังเกตภาพบ้านของเด็กวัยนี้ ก็จะเห็นว่าบ้านไม่ใช่ภาพ 2 มิติแบนๆ อีกแล้ว แต่จะมีความลึกของบ้านเพิ่มเข้ามา หรือภาพวิวก็จะมีองค์ประกอบของภาพ มีการซ้อนทับของภาพ เช่น คนที่อยู่ใกล้จะตัวใหญ่ ข้างหลังคนมีถนน ไกลออกไปหากมีบ้านหรือต้นไม้ก็จะมีขนาดเล็ก เพราะตั้งอยู่ไกลออกไป
ส่งเสริมถูกวิธี เป็นศิลปินสุดล้ำได้ทุกคน
- เริ่มด้วยแรงบันดาลใจ : สร้างแรงบันดาลใจให้ลูกน้อย โดยเริ่มจากชวนลูกขีดเขียน วาดรูปให้ดู แล้วเล่าเรื่องประกอบไปด้วยเรื่อยๆ นอกจากจะทำให้ลูกอยากวาดตามแล้ว เขายังจะได้เรียนรู้วิธีการถ่ายทอดความคิดออกมาเป็นภาพวาดอีกด้วย
- งดคำตำหนิและล้อเลียน : เวลาที่ลูกวาดไม่เหมือนหรือวาดสิ่งที่ไม่มีอยู่จริง ต้องไม่ตำหนิและไม่ล้อเลียนเขา เพราะจะทำให้ลูกเสียความมั่นใจ และหมดกำลังใจวาดรูปต่อไป
- กระตุ้นด้วยคำถามและคำชม : การตั้งคำถาม เช่น “หนูกำลังวาดอะไร วาดน้องหรือจ๊ะ น้องใส่เสื้อผ้าแบบไหน กำลังทำอะไรอยู่” ถามทีละคำถาม แล้วฟังคำตอบของเขาอย่างตั้งใจ จากนั้นจึงชื่นชมหรือให้คำแนะนำ เพื่อเป็นกำลังใจให้เขาสามารถวาดภาพอย่างสร้างสรรค์ได้ต่อไป
- ตั้งหัวข้อสำหรับสุดยอดงานศิลปะ : การกำหนดโจทย์ เช่น “ถ้าฝนตกทั้งวันจะเกิดอะไรขึ้น” หรือการกำหนดหัวข้อภาพ เช่น “รถในฝัน” เพื่อให้เขารู้จักคิดนอกกรอบ และฝึกฝนการถ่ายทอดความคิดออกมาเป็นภาพวาด
- อุปกรณ์ใครคิดว่าไม่สำคัญ : ของดีไม่ใช่ของแพงเสมอไป แต่คุณพ่อคุณแม่ควรเลือกอุปกรณ์ศิลปะให้เหมาะสมตามวัยของเด็ก เช่น เลือกใช้สีแท่งขนาดเหมาะมือที่ปราศจากสารเคมีอันตรายให้ลูกเล็ก หรือเลือกใช้กระดาษแผ่นใหญ่ ให้เด็กได้นั่งวาดนอนวาดบนพื้นร่วมกับคุณพ่อคุณแม่ เขาก็จะยิ่งสนุกและมีทัศนคติที่ดีกับงานศิลปะมากขึ้น
สังเกตให้ดี ภาพวาดบอก IQ EQ SQ
ถ้าเราจะดูว่าเด็กคนไหน ไอคิวค่อนข้างดีกับไอคิวต่ำกว่าวัย เราดูได้ง่ายๆ ด้วยภาพวาดของเด็ก ยิ่งรูปวาดมีรายละเอียดมากเท่าใด ยิ่งเป็นการสะท้อนสติปัญญา ว่าลูกมีความเข้าใจเรื่องของสัดส่วน และสามารถสะท้อนภาพให้เหมือนจริงหรือตรงกับภาพในจิตนาการได้หรือไม่ ยิ่งโตขึ้น ความซับซ้อนและมิติของภาพจึงควรจะมีมากขึ้นด้วย นอกจากนี้ภาพวาดยังบอกได้ด้วยว่า ลูกน้อยมีพัฒนาการด้านสังคมอย่างไร ภาพวาดครอบครัวที่มีความสุข ภาพวาดกลุ่มเพื่อนที่เล่นกันสนุกสนาน หรือกลุ่มคนที่ยิ้มแย้มแจ่มใส ล้วนสะท้อนถึงประสบการณ์ที่เขาได้พบเจอในสังคม รวมทั้งบ่งบอกอารมณ์และทัศนคติของเขาที่มีในขณะนั้น เพราะการวาดรูปเป็นการสื่อสารที่เด็กจะรู้สึกสบายใจ และสามารถระบายความคิดรวมถึงสิ่งที่อยู่ในใจของเขาออกมาได้มากที่สุดแล้วค่ะ
เรื่องโดย : ดร.สุธาวัลย์ หาญขจรสุข รองผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการ สถาบันวิจัยและพัฒนาการศึกษาพิเศษ (ศูนย์พัฒนาอัจฉริยภาพเด็ก) มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร