“ลูกก็ดีขึ้นเยอะค่ะ” คุณแม่รายงานเรื่องลูกที่พามาหาหมอได้หลายเดือนแล้ว
“เรียนดีขึ้น คุณครูชมว่าตั้งใจขึ้นกว่าเดิมเยอะเลย”
“แต่ไม่รู้เป็นไรค่ะ เวลาจะเปิดไลน์กลุ่มของห้องเค้าทีไร คุณแม่ก็ใจคอไม่ดีทุกครั้ง”
“วันไหนมีชื่อลูกติดโผเด็กที่ส่งงานไม่ครบ แม่ก็ยังใจสั่นขึ้นมาทุกที ทำยังไงดีคะหมอ?”คุณแม่ขอปรึกษา
คุณแม่คนนี้เป็นคนที่ทุ่มเทกับลูกมาก เอาใจใส่ในทุกรายละเอียดของการดูแล สอนลูกให้มีระเบียบวินัย ทำตัวให้เป็นแบบอย่าง เรียกว่าสิ่งที่ตำราเลี้ยงลูกแนะนำคุณแม่พยายามทำหมด
แต่ปัญหาคือลูกไม่ค่อยร่วมมือเท่าไร การที่ลูกมีอาการสมาธิสั้นรวมทั้งมีภาวะออทิสติกสเปคตรัมร่วมด้วยทำให้ลูกไม่ค่อยสนใจเรียน ครูจึงฟ้องคุณแม่เป็นประจำ เหตุการณ์ดำเนินมาเรื่อยๆ อย่างตึงเครียดเป็นปี กว่าที่คุณแม่จะตัดสินใจมาหาหมอ
คุณแม่ทุกข์ใจกับลูกมาก ด้วยความที่อยากให้ลูกเป็นเด็กดี มีความรับผิดชอบในการเรียน แต่เผอิญลูกก็มีความเป็นตัวของตัวเองสูงเสียเหลือเกิน อันไหนชอบก็สุดแสนจะตั้งใจ อันไหนท่านไม่โปรดก็ไม่ยอมเรียนเสียอย่างนั้น คุณแม่เครียดเรื่องลูกจนกินไม่ได้นอนไม่หลับ คิดเรื่องลูกตลอดเวลาว่าจะแก้ปัญหาให้เขาอย่างไรดี สุขภาพจิตเสื่อมทรุดไปมาก
โชคดีที่การรักษาลูกได้ผลดี ลูกมีอาการดีขึ้นเรื่อยๆ ความสนใจเรียนค่อยๆ พัฒนาขึ้นมาจากการปรับพฤติกรรมเพื่อสร้างแรงจูงใจในการเรียน รวมทั้งการกินยาก็มีส่วนช่วยให้สมาธิดีขึ้นเยอะ การบ้านไม่ค่อยค้างเหมือนเมื่อก่อนแล้ว
เห็นลูกดีขึ้นคุณแม่ก็สบายใจ รู้สึกผ่อนคลายลงพอสมควร แต่ด้วยธรรมชาติของคนที่มีความวิตกกังวลสูง จึงยังมีอาการเหมือนที่รายงานให้หมอฟัง
อ่านต่อ “ดูแลลูกให้ดีที่สุด ไม่ต้องกังวลเกินเหตุจนหมดกำลังใจ” คลิกหน้า 2
สำหรับคนช่างกังวลแล้ว เมื่อคิดเรื่องหนึ่ง ก็จะนำไปสู่อีกเรื่องหนึ่ง แล้วก็อีกเรื่องหนึ่ง ไปเรื่อยๆ
ถ้าลูกส่งงานไม่ครบก็แปลได้ว่าลูกไม่รับผิดชอบ ถ้าลูกรับผิดชอบแค่เรื่องส่งการบ้านชิ้นนี้ไม่ได้ ชิ้นอื่นก็คงรับผิดชอบไม่ได้เช่นกัน
ถ้างานแค่นี้ยังทำไม่ได้ อนาคตก็คงไม่มีทางทำอะไรได้ อาจจะถึงขั้นเรียนไม่จบ
ถ้าเรียนไม่จบแล้วเขาจะอยู่อย่างไร ต้องกลายไปเป็นภาระของสังคมล่ะหรือ
แล้วอย่างนี้เราจะตายได้อย่างไร วันที่เราตายลูกคงอยู่ไม่ได้ เอาชีวิตไม่รอด
จะเห็นได้ว่าคิดมาคิดไป จากเรื่องแค่ส่งงานไม่ครบที่เด็กคนไหนก็เป็นได้ทั้งนั้น (รวมลูกหมอด้วย) คุณแม่ที่กังวลเยอะ ก็สามารถคิดไปได้ไกลจนถึงระดับ “หายนะ” กันเลยทีเดียว แล้วถ้าคิดไปถึงขนาดนั้นแล้วจะรู้สึกใจสั่นก็คงไม่แปลกอะไร
หมอเลยต้องพาคุณแม่กลับมาสู่ปัจจุบัน เริ่มด้วยการหายใจเข้าออกลึกๆ ตั้งสติให้ดี ลมเข้าปอดเต็มที่จะดันกระบังลมลงล่างให้ท้องป่อง แล้วค่อยๆ ผ่อนลมหายใจออกช้าๆ ทำต่อเนื่องสักพักร่างกายจะสงบ หัวใจจะเต้นจังหวะช้าลง
สติมาแล้วก็ลองคิดดูดีๆ ไม่ส่งการบ้านหนึ่งทีจะมีความหมายว่าลูกจะเสียผู้เสียคนหมดอนาคตเลยจริงหรือ?
พอคิดได้ว่ามันไม่ใช่ ก็มารวบรวมกำลังแก้ปัญหากันต่อไป ทำอย่างไรจะตามการบ้านเจ้าลูกชายอารมณ์ศิลปินคนนี้ได้
ทำหน้าที่แม่ที่ดีของตัวเองต่อไป โดยไม่ต้องไปบั่นทอนกำลังใจของตัวเองด้วยความกังวล
ที่ “มโน” ขึ้นมาเอง
เรื่องโดย : ผศ.นพ.ณัทธร พิทยรัตน์เสถียร จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ภาพ : Shutterstock