กิจกรรมปิดเทอม เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่สามารถจัดเตรียมไว้ให้ลูกได้ นอกเหนือจากการพาไปเที่ยว หรือปล่อยให้ลูกไปเที่ยวเล่นเกมคอมพิวเตอร์ เล่นมือถือ ซึ่งอาจเสียเวลาไปโดยเปล่าประโยชน์
ปิดเทอม หรือวันหยุดยาวติดๆกัน ถือเป็นช่วงเวลาที่เด็ก ๆ เฝ้ารอ เพราะจะได้ทำอะไรตามใจตัวเอง ไม่ว่าจะเป็น ได้นอนตื่นสาย ไม่ต้องรีบเข้านอน ได้เล่นเกม ดูหนัง ดูการ์ตูนทั้งวัน ได้ทำในสิ่งที่อยากทำที่ในช่วงเปิดเทอมทำไม่ได้
แต่ความรู้สึกนี้กลับตรงข้ามกันกับคุณพ่อคุณแม่ที่ต้องทำงานนอกบ้านเกิดความกังวลใจอยู่ไม่น้อย เนื่องจากเป็นช่วงที่สิ่งเร้าต่าง ๆ ทั้งโทรทัศน์ คอมพิวเตอร์ หรือเกม เข้ามาดึงลูกให้ติดได้ง่าย แล้วจะดูแลลูก ๆ อย่างไรดีในช่วงปิดเทอม?
วัตถุประสงค์จริงๆ ของการปิดเทอม
คือ อยากให้ลูกได้มีเวลาอยู่กับพ่อ แม่ ผู้ปกครองบ้าง แต่ปัจจุบันการดำเนินชีวิต สถานการณ์เปลี่ยนไปเพราะพ่อแม่ส่วนใหญ่ต้องทำงานนอกบ้าน ฉะนั้นกิจกรรมที่จะเกิดขึ้นกับลูกจึงต้องคำนึงในหลายๆ ด้าน รวมทั้งเรื่องของ ความปลอดภัย
อีกเรื่องหนึ่ง ที่พ่อแม่จะต้องดึงลูกออกมา คือ เรื่องของการเล่นเกมหรืออินเทอร์เน็ตผ่านมือถือ คอมพิวเตอร์ ถ้าลูกอยู่กับสิ่งนี้จะต้องให้ลูกลดและไปเพิ่มกิจกรรมอื่น ๆ ที่ลูกต้องออกสู่สังคมแทน เพราะการเล่นเกมคุมลำบาก เว็บไซต์ที่ไม่ดีก็มีมากมายไม่ว่าจะเป็นเว็บโป๊ เว็บการพนัน ซึ่งเข้าได้ง่ายการดูแลก็ทำลำบาก
ทั้งนี้ถ้าเห็นชัดว่าลูกชอบอะไรก็ส่งเสริมเขาไปเลยในช่วงปิดเทอม เพราะยิ่งส่งเสริมไปเท่าไรทักษะก็จะยิ่งดี ถ้ายังไม่รู้ก็ส่งเสริมไปหลายๆ ทักษะ ให้ลูกได้ทำอะไรในแต่ละวัน ลูกก็จะสนุกและได้ใช้พลังงานเพราะเด็กเล็กพลังงานมีมาก เพราะถ้าให้อยู่บ้านโดยที่ไม่มีอะไรทำเขาก็จะเบื่อได้
กิจกรรมปิดเทอม ช่วยพัฒนาสมอง
สร้างทักษะชีวิตให้ลูกได้อย่างดีเยี่ยม
กิจกรรมในช่วงปิดเทอมไม่จำเป็นต้องเน้นในเรื่องของการเรียนหนังสือ แต่เป็นกิจกรรมที่ลูกชอบ กิจกรรมที่ฝึกให้รู้จักรับผิดชอบตนเอง ได้ประสบการณ์ใหม่ ๆ ที่ในโรงเรียนไม่มีหรือทำไม่ได้ เป็นโอกาสอันดีที่ลูกจะได้ไขว่คว้าอะไรหลาย ๆ อย่างในชีวิต
จากการศึกษาของกระทรวงศึกษาของสหรัฐอเมริกาพบว่าเด็ก ๆ ขาดการเรียนรู้ไปถึง 25 % ในช่วงปิดเทอม จากการศึกษาของ แฮริส คูเบอร์จากมหาวิทยาลัยดุกค์ พบว่าผู้ปกครองที่มีฐานะปานกลางและร่ำรวยจะช่วยให้ลูกมีการเรียนรู้ที่ต่อเนื่องในช่วงปิดเทอมได้ โดยใช้วิธีส่งลูกไปเรียนพิเศษหรือเข้าร่วมกิจกรรมที่กระตุ้นการเรียนรู้ แต่แท้ที่จริงแล้วเด็กๆ สามารถเรียนรู้และสนุกสนานในช่วงปิดเทอมได้โดยไม่จำเป็นต้องเสียเงินมากมาย กิจกรรมต่อไปนี้จะช่วยให้เด็กได้เรียนรู้อย่างง่าย ๆ มีดังนี้…
อ่านต่อ >> “10 กิจกรรมปิดเทอม ช่วยพัฒนาสมอง สร้างทักษะชีวิตให้ลูกได้อย่างดีเยี่ยม” คลิกหน้า 2
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
10 กิจกรรมปิดเทอม ช่วยพัฒนาสมอง
สร้างทักษะชีวิตให้ลูกได้ดีเยี่ยม
1. อ่านหนังสือ
เป็นที่ทราบกันดีแล้วว่าการอ่านช่วยพัฒนาสมองในระยะสั้นและระยะยาว ดังนั้นการจัดเวลา และให้เด็กมีโอกาสได้อ่านหนังสือประมาณ 1 ชั่วโมงต่อหนึ่งวันจะช่วยให้เด็กมีการเรียนรู้ที่ดีขึ้น มีนิสัยรักการอ่าน เปิดโลกจินตนาการ และใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ ดีกว่าการดูทีวีทั้งวัน หรือเล่นมั่วสุมกับเพื่อนๆ การให้เด็กมีโอกาสไปห้องสมุด หรืออาจให้รางวัลเล็กๆน้อยๆกับเด็กหลังจากการอ่านจะช่วยกระตุ้นให้เด็กรักการอ่านมากขึ้น และจะติดเป็นนิสัยไปจนโต
2. ปลูกต้นไม้ ทำสวน
แรกๆอาจจะเริ่มต้นด้วยการช่วยคุณพ่อรดน้ำต้นไม้ ปลูกผักสวนครัวต้นเล็กๆในกระถาง หรือช่วยคุณแม่จัดตกแต่งสวนให้สวยร่มรื่น กิจกรรมนี้จะส่งเสริมให้เด็กรักธรรมชาติ รักต้นไม้ และรู้คุณค่าของสิ่งแวดล้อม ทำให้มีจิตใจที่อ่อนโยนอีกด้วย
3. เล่นกีฬา
การเล่นกีฬาตามความถนัดและความชอบของเด็กๆ นอกจากจะช่วยให้ร่างกายแข็งแรงแล้ว ยังฝึกความมีวินัยในการซ้อม ความอดทน และปูทางสู่อาชีพหรือความสามารถพิเศษเฉพาะทางในอนาคตได้
4. ทำอาหาร
การทำอาหาร นอกจากจะทำให้เด็กๆสนุกสนานเพลิดเพลินแล้ว ยังช่วยเพิ่มพัฒนาการช่วยเหลือตัวเอง การคำนวณปริมาณ ส่วนผสมต่างๆในอาหาร และยังช่วยให้เด็กรู้สึกภูมิใจในตนเองเวลาได้รับคำชมจากพ่อแม่อีกด้วย
5. เล่นดนตรี
ดนตรี นอกจากจะช่วยผ่อนคลายอารมณ์ ทำให้เพลิดเพลินแล้ว ดนตรีนับว่าเป็นกิจกรรมที่พัฒนาสมองเป็นอย่างมาก เพราะต้องใช้ทั้งทักษะความจำ สมาธิ ความสัมพันธ์ของสมองและร่างกายด้วย ดนตรีจึงเป็นอีกกิจกรรมหนึ่งที่ผู้ปกครองนิยมส่งเสริมให้ลูกหลานได้พัฒนาความสามารถอย่างเต็มที่ เพื่อเป็นความสามารถติดตัวไปในอนาคต
6. ฝึกประดิษฐ์สิ่งของ
กิจกรรมเสริมทักษะการประดิษฐ์และฝึกสมาธิให้เด็ก ๆ ก็มีไม่น้อย ทั้งคลาสเรียนพับกระดาษสไตล์ญี่ปุ่นหรือโอริกามิ การเพ้นต์สีตัวการ์ตูนสำหรับเด็กเล็ก เด็กโตหน่อยอาจจะพาไปเรียนปักครอสติช หรือไปเรียนปั้นเครื่องปั้นดินเผาก็ได้ กิจกรรมทั้งหมดนี้นอกจากจะช่วยให้เด็ก ๆ เพลิดเพลินและสนุกแล้ว ยังฝึกให้เขามีสมาธิที่ดี สามารถจดจ่อกับสิ่งที่ทำอยู่ตรงหน้าได้ดีขึ้นอีกด้วย
7. ถ่ายภาพ
เมื่ออุปกรณ์ถ่ายภาพมีมากมาย และแพร่หลายตามยุคสมัย ทำให้เด็กๆสมัยมีกล้องถ่ายรูปติดตัวกันทุกคน อาจจะเป็นกล้องจากสมาร์ทโฟน หรือกล้อง Mirrorless ที่กำลังฮิต ก็สามารถฝึกทักษะการถ่ายภาพได้ทั้งนั้น การถ่ายภาพนอกจากจะช่วยฝึกการสังเกตแล้ว ยังช่วยพัฒนาความสร้างสรรค์อีกด้วย เพราะต้องหามุม หาแสงที่พอดี เพื่อให้ได้ภาพที่ออกมาสวยนั่นเอง
อ่านต่อ >> “กิจกรรมปิดเทอม ช่วยพัฒนาสมอง สร้างทักษะชีวิตให้ลูก” คลิกหน้า 3
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
8. ฝึกภาษา
การฝึกภาษา ไม่ว่าภาษาใดๆ มีประโยชน์เป็นอย่างมาก เพราะทำให้เด็กสามารถติดต่อสื่อสารได้ นำไปใช้ในการทำงานได้ในอนาคต และถือเป็นการเรียนรู้วัฒนธรรมจากประเทศนั้นๆเพิ่มเติมอีกด้วย การดูภาพยนตร์ซาวน์แทรค หรือการร้องเพลงสากล ก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่จะช่วยพัฒนาภาษาได้ครับ หรือบางครอบครัวจะส่งลูกหลานไปเรียนภาษาที่ต่างประเทศช่วงปิดเทอม ก็ถือเป็นประสบการณ์ที่ดีต่อเด็กๆในการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมอีกด้วย
9. จดบันทึก
การเขียนไดอารี่ การจดบันทึกจะช่วยพัฒนาการเขียน ซึ่งเป็นทักษะที่จำเป็น การจดบันทึกจะช่วยพัฒนาความคิดในการวางแผน การรู้จักตนเอง รวมทั้งเป็นการช่วยระบายความคับข้องใจ ความเครียด ช่วยทำให้เด็กมีสุขภาพจิตที่ดี
10. เกมส์ฝึกสมอง
ต่อเลโก้ เล่นหมากรุก หมากฮอส หรือแม้แต่เกมส์ในมือถือที่ต้องใช้ความคิดและการวางแผน ก็ล้วนแล้วแต่ช่วยพัฒนาสมองทั้งสิ้น ผลการวิจัยยังพบว่า การใช้เกมส์เป็นตัวฝึกสมองจะช่วยให้เด็กมีพัฒนาการดีกว่าอ่านตำราเรียนอย่างเดียวอีกด้วย
กิจกรรมที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ เป็นกิจกรรมที่จะช่วยสร้างให้เด็กได้ใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ ช่วยพัฒนาความคิด สร้างสรรค์จินตนาการ และพัฒนาสมอง แต่ที่สำคัญที่สุดคือทุกกิจกรรมนั้นต้องให้เด็กๆมีความสนุกสนาน ไม่ใช่ยัดเยียดความรู้ บังคับ หรือให้เด็กต้องคร่ำเคร่งมากเกินไป เพราะกิจกรรมในช่วงปิดเทอมควรเป็นกิจกรรมที่ทั้งมีความสนุกและเกิดประโยชน์กับเด็กอย่างคุ้มค่าในเวลาเดียวกัน
วิธีการบริหารจัดการลูกเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาในช่วงปิดเทอม
แต่อย่างไรก็ดี การที่เด็กมีอิสระมากไปในช่วงปิดเทอมยังอาจทำให้เด็กเริ่มชินกับการทำอะไรช้าๆ ไปเรื่อยๆ ทำให้ปรับตัวไม่ทันในช่วงเปิดเทอม เด็กหลายคนเริ่มขาดความสนใจในการเรียนจนกระทั่งถึงเปิดเทอมก็ยังติดพฤติกรรมเดิมๆ เหมือนช่วงปิดเทอมอยู่สักระยะหนึ่ง รวมถึงการนอนตื่นสาย หากไม่มีการเตือนให้รีบกลับมาสู่การเรียนหรือกฎเกณฑ์อย่างแท้จริงอาจเกิด ปัญหาตามมาได้ และสำหรับวิธีการบริหารจัดการลูกเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาในช่วงปิดเทอม น.พ.กัมปนาทให้คำแนะนำกับพ่อแม่ ดังนี้…
1. พ่อแม่ควรชี้แจงให้ลูกทราบว่า การปิดเทอม แม้จะเป็นช่วงเวลาแห่งการพักผ่อนแต่ยังเป็นช่วงเวลาที่ควรมีการเผื่อสำหรับ การเรียนในภาคเรียนต่อไปบ้าง อย่างน้อยสักร้อยละ 20-30 ที่ควรจะเผื่อไว้เสมอ จะได้เป็นสิ่งที่คอยกระตุ้นเตือนให้ตระหนักถึงภาระหน้าที่ความรับผิดชอบของ เด็กที่ยังคงต้องมีอย่างต่อเนื่อง
2. ลูกควรรับทราบว่าร่างกายของคนเรา โดยเฉพาะสมอง จะมีส่วนควบคุมที่เปรียบเสมือน นาฬิกาชีวภาพ คอยกำหนดเวลากิจกรรมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการนอนหลับ การตื่นจากนอนหลับ หรือแม้แต่การกำหนดกิจวัตรประจำวันที่เราทำบ่อยๆ จะทำให้เกิดการจัดระเบียบขึ้นมาในร่างกายและการรับรู้ต่างๆ ในแต่ละวันด้วย หากมีการปรับเปลี่ยนเวลาด้วยการทำตัวขาดระเบียบมากจนเกินไปจะทำให้เกิดอาการ ที่เรียกว่า “นาฬิการวน” นั่นเอง การกู้กลับมาต้องใช้เวลาอีกพอสมควร
3. ควรจัดให้เด็กร่วมมือจัดตารางเวลาของตนเอง และนำมาให้พ่อแม่ดูว่าควรทำอะไรบ้างในช่วงปิดเทอม โดยไม่จำเป็นต้องเข้มงวดหรือมีกิจกรรมที่แน่นจนเกินไป หรือไม่มีอะไรให้ทำเลย เพราะเด็กสมัยนี้เวลาว่างมักมีปัญหาเรื่องจิตใจฟุ้งซ่าน สมาธิไม่ค่อยดี ควรจัดกิจกรรมที่เรียกสมาธิกลับมา
4. บางครอบครัวสนับสนุนให้ลูกไปฝึกงาน อาจทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้น แต่ถึงแม้ไม่มีรายได้เป็นกอบเป็นกำ แต่ทำให้ได้ประสบการณ์และความภาคภูมิใจ พบว่าเด็กที่รู้จักทำงานช่วยเหลือครอบครัวตั้งแต่เด็กมักเติบโตขึ้นมาเป็น เด็กที่มีความรับผิดชอบต่อตนเอง และมีความอดทนมากกว่าเด็กที่ถูกเลี้ยงแบบตามใจอย่างชัดเจน
5. พ่อแม่ควรให้เวลากับลูกบ้างพอสมควร เนื่องจากช่วงเวลาปิดเทอมนั้นมักเป็นช่วงหน้าร้อน ซึ่งเหมาะกับการท่องเที่ยว และไม่ค่อยเหมาะกับการทำงานสักเท่าไรนัก การยอมเสียสละเวลาบ้างเพื่อลูกโดยไม่กระทบต่องานหลักที่ทำอยู่น่าจะทำให้ เด็กมีความสุขมากขึ้น อีกทั้งเป็นช่วงเวลาแห่งการกระชับความสัมพันธ์ในครอบครัวอีกด้วย การที่พ่อแม่ผู้ปกครองมีเวลาให้ลูกบ้างในช่วงปิดเทอมจะเป็นการเพิ่มความหวัง ความสุขให้ลูก ขณะเดียวกันสามารถป้องกันมิให้เด็กไปแสวงหาความสุขในช่องทางที่ไม่เหมาะสม เช่น การเสพยาเสพติด
6. พ่อแม่ที่เคยสังเกตว่าลูกมีปัญหาด้านสุขภาพต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาสุขภาพกายที่ไม่เร่งด่วนหรือปัญหาสุขภาพใจที่เคยรอได้มา หลายเดือน น่าจะเป็นช่วงเวลาที่มาขอคำแนะนำ ปรึกษาและหาทางบำบัดรักษาในกรณีที่เจ็บป่วย เช่น เป็นโรคทางจิตเวช หรือสงสัยว่ามีปัญหาสุขภาพจิตบางอย่างซ่อนอยู่
อ่านต่อ “บทความดี ๆ น่าสนใจ” คลิก!
- 12 กิจกรรมวันหยุดปิดเทอม สนุกสร้างสรรค์ทั้งครอบครัว
- 5 กิจกรรมสร้างเจ้าตัวเล็กมั่นใจในตัวเอง
- 4 กิจกรรม ช่วยพัฒนาสมองส่วนหน้าให้ลูกน้อย
- กิจกรรมพัฒนากล้ามเนื้อมัดเล็ก เพื่ออนาคตที่ดีของลูกน้อย
ขอขอบคุณข้อมูลจาก : women.kapook.com , www.mbklife.co.th , baby.kapook.com , www.edtguide.com