การส่งเสริมพัฒนาการด้านภาษาของลูกน้อย สามารถส่งเสริมได้ตั้งแต่เขายังเล็กๆ โดยเฉพาะเด็กในช่วง 6 ปีแรกซึ่งเด็กมีพัฒนาการทางด้านภาษาอย่างรวดเร็ว เด็กวัยนี้จะเรียนรู้ภาษาผ่านการปฏิสัมพันธ์กับคุณพ่อคุณแม่หรือผู้เลี้ยงดู โดยการฟัง มองดู สังเกต เก็บข้อมูล และเลียนแบบ สิ่งสำคัญจึงเป็นการปฏิสัมพันธ์และสื่อสารกับเด็กน้อยตามวัยอย่างเหมาะสมเพื่อส่งเสริมให้ภาษาของเด็กเกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง
2-3 เดือน
- ส่งเสียงอ้อแอ้ในคอ เช่น อือ อา
- ส่งเสียงโต้ตอบเมื่อคุณพ่อคุณแม่พูดคุยด้วย
4-6 เดือน
- ใช้ริมฝีปากช่วยในการออกเสียง ทำให้ออกเสียงพยัญชนะได้เป็นบางตัว เช่น “พ” “ป” และ “ม”
- จดจำชื่อของตัวเองได้ เมื่อถูกเรียกชื่อจะหยุดฟังและมองหาผู้เรียก
Tip : แรกเกิด-6 เดือน สัมผัส รอยยิ้ม เสียงตอบรับพูดคุย และสายตาของคุณพ่อคุณแม่ที่มีให้ลูกเบบี๋ ช่วยสร้างความคุ้นเคยและความอบอุ่นปลอดภัยให้ลูกตัวน้อย
อ่านเรื่อง “พัฒนาการด้านภาษา ส่งเสริมง่าย ทำได้ทุกครอบครัว” คลิกหน้า 2
7-12 เดือน
- ส่งเสียงได้หลายพยางค์ อาจเป็นคำที่ไม่มีความหมายหรือมีความหมายง่ายๆ เช่น ปะป๊ะ มะม้ะ
- เข้าใจความหมายของคำที่ได้ยินบ่อยๆ เช่น เมื่อมีคนพูดถึงแม่ ก็จะหันหาแม่ได้ถูกต้อง
- สามารถเชื่อมโยงคำพูดกับภาษาท่าทางได้ เช่น เมื่อได้ยินคำว่า “บ๊ายบาย” เด็กก็จะโบกมือบ๊ายบาย
- ใช้ภาษากายมากขึ้นหรือชี้เพื่อบอกสิ่งที่ต้องการได้
Tip : 7-12 เดือนเพียงบอกคำศัพท์เกี่ยวกับสิ่งต่างๆ ที่ลูกน้อยกำลังสนใจ และร้องเพลงที่มีท่าทางง่ายๆ ประกอบ เช่น จ๊ะเอ๋ หรือปรบมือ ก็สามารถส่งเสริมพัฒนาการให้ลูกน้อยได้แล้ว
อ่านเรื่อง “พัฒนาการด้านภาษา ส่งเสริมง่าย ทำได้ทุกครอบครัว” คลิกหน้า 3
1 ขวบ
- สื่อสารด้วยคำที่มีความหมายสั้นๆ
- มีภาษากายมากขึ้น เช่น พยักหน้า ส่ายหน้า ชี้บอกความต้องการ หรือชี้ชวนให้ดูในสิ่งที่ตนกำลังสนใจ
- เข้าใจคำสั่งง่ายๆ ที่มีขั้นตอนเดียว เช่น นั่งลง ยืนขึ้น หยิบบอล
2ขวบ
- พูดวลีที่ยาวขึ้นหรือเป็นประโยคสั้นๆโดยใช้คำกริยาและคำคุณศัพท์ประกอบได้ เช่น “นกบิน” “หิวแล้ว”
- เข้าใจคำสั่งที่มี 2 ขั้นตอน เช่น “หยิบบอลไปวางบนโต๊ะ”
3 ขวบ
- พูดประโยคยาวๆ ได้และรู้จักใช้สรรพนามเรียกแทนตัวเอง
- เข้าใจประโยคคำถามง่ายๆ ที่ถามด้วยคำว่า “อะไร”“ที่ไหน”“ใคร”
- เริ่มรู้จักจำนวนและการเปรียบเทียบขนาดต่างๆ เช่น เล็ก-ใหญ่ มาก-น้อย
- สามารถทายชื่อวัตถุจากประโยชน์ใช้สอยได้ เช่น อะไรเอาไว้เขียน อะไรเอาไว้นั่ง
Tip : 1-3 ขวบ เทคนิค “สะท้อนกลับ” คือ การพูดสะท้อนกลับในสิ่งที่ลูกน้อยพูด โดยประโยคที่สะท้อนกลับนั้นต้องถูกต้อง ออกเสียงชัดเจน หรือเหมาะสมกับสถานการณ์นั้น ลูกน้อยจะได้จดจำและเลียนแบบได้ถูกต้อง เช่นเดียวกับเรื่องของอารมณ์ หากคุณพ่อคุณแม่สะท้อนกลับอารมณ์ของเขาด้วยคำพูด เช่น “หนูกำลังดีใจ” “หนูกำลังเสียใจ” นอกจากจะช่วยพัฒนาภาษาแล้ว ยังทำให้ลูกน้อยเรียนรู้เรื่องอารมณ์ความรู้สึกต่างๆ ได้อีกด้วย
อ่านเรื่อง “พัฒนาการด้านภาษา ส่งเสริมง่าย ทำได้ทุกครอบครัว” คลิกหน้า 4
4-6 ขวบ
- เด็กจะเริ่มจากเล่าเรื่องราวสั้นๆ จากนั้นจะค่อยๆ เล่าเรื่องราวที่ยาวขึ้นและเป็นลำดับขั้นตอนมากขึ้น
- เข้าใจประโยคคำถามที่มีความซับซ้อนมากขึ้น โดยเฉพาะคำถามว่า “อย่างไร” “ทำไม”
- สามารถเปรียบเทียบความเหมือนหรือความแตกต่างของสิ่งต่างๆ ได้
- เข้าใจเหตุผลจากสถานการณ์ที่เจอในชีวิตประจำวัน เช่น เข้าใจว่าทำไมต้องกางร่มเวลาฝนตก
Tip : 4-6 ขวบ เด็กในวัยนี้อาจมีคำถามซ้ำๆ เพราะทำความเข้าใจได้ไม่ดีนัก ผู้ใหญ่จึงควรอธิบายอย่างใจเย็นด้วยคำพูดที่ง่ายขึ้น หรืออาจใช้รูปภาพหรือหนังสือประกอบเพื่อเป็นตัวช่วยในการอธิบาย นอกจากนี้การสนทนาในสิ่งที่เด็กสนใจร่วมกันยังเป็นสิ่งที่สำคัญมากคุณพ่อคุณแม่อาจตั้งถามถึงเหตุการณ์ที่ผ่านมา เพื่อกระตุ้นให้ลูกน้อยเล่าเรื่องราวต่างๆหรือสนับสนุนให้ลูกเล่นบทบาทสมมุติ เพื่อฝึกการสื่อสารในสถานการณ์และบทบาทที่แตกต่างกันไป
“หนังสือนิทาน” เพิ่มพลังทักษะให้ลูกน้อย
หนังสือนิทานมีประโยชน์ต่อพัฒนาการด้านภาษากับเด็กทุกวัย แม้ลูกเล็กจะยังฟังไม่เข้าใจ แต่คุณพ่อคุณแม่ก็สามารถให้เขาหยิบจับหนังสือเพื่อทำความคุ้นเคยได้ เมื่อเขาเติบโตขึ้นเรื่องราวในนิทานและภาษาที่สละสลวย จะช่วยขัดเกลาให้เขาใช้ภาษาได้อย่างถูกต้องเหมาะสม และส่งเสริมให้เขาใช้ภาษาในการเรียนรู้สิ่งต่างๆ ได้อย่างรวดเร็วอีกด้วย
เรื่อง : แพทย์หญิงดวงเดือน ชินรุ่งเรือง กุมารแพทย์ด้านพัฒนาการและพฤติกรรมเด็ก ศูนย์สุขภาพเด็ก โรงพยาบาลพญาไท 3
ภาพ : ShutterStock