ตอบสงสัยแม่ ๆ ว่าเมื่อเปิดยาให้ลูกทาน แล้วยาเหลือ จะสามารถเก็บยาไว้ให้ลูกทานหากป่วยครั้งต่อไปได้หรือไม่? ยาหมดอายุ ดูอย่างไร?
ยาหมดอายุ ดูอย่างไร? หลังเปิดใช้ เก็บไว้ได้นานแค่ไหน?
หลังจากพาลูกไปพบคุณหมอแล้ว คุณพ่อคุณแม่มักจะได้รับยาน้ำมาหลากหลายชนิด เช่น ยาบรรเทาอาการคัดจมูก ยาบรรเทาอาการไอ ยาปฏิชีวนะต่าง ๆ เป็นต้น และเมื่อเปิดใช้แล้ว ลูกอาจจะทานยาไม่หมดขวด เพราะหายป่วยเสียก่อน คุณพ่อคุณแม่หลายคนสงสัยว่าจะสามารถเก็บยาไว้ให้ลูกทานหากป่วยครั้งต่อไปได้หรือไม่? และควรเก็บรักษายาอย่างไรไม่ให้เสีย ทีมแม่ ABK จึงรวบรวมมาให้คุณพ่อคุณแม่ได้อ่านกันค่ะ
ระยะเวลาในการเก็บยาน้ำหลังเปิดใช้
- ในกรณีของยาปฏิชีวนะที่ต้องผสมน้ำนั้น เมื่อผสมผงยากับน้ำไปแล้วสามารถเก็บไว้ได้ประมาณ 7 วัน ที่อุณหภูมิห้อง แต่ถ้าเก็บไว้ในตู้เย็นจะสามารถเก็บไว้ได้ประมาณ 14 วัน หากเก็บนานกว่านี้อาจจะทำให้ประสิทธิภาพลดลงจนรักษาไม่ได้ผล นอกจากนี้ควรทานยาปฎิชีวนะจนหมดขวด ไม่ควรหยุดยาเมื่ออาการดีขึ้นแล้ว เพราะจะทำให้เสี่ยงต่อการดื้อยาได้
- ในกรณีของยาน้ำโดยทั่วไป เช่น ยาบรรเทาอาการคัดจมูก ยาแก้แพ้ ยาบรรเทาอาการไอ ไม่ควรเก็บไว้นานเกิน 6 เดือน หรือ ไม่เกิน 25% ของเวลาก่อนที่ยาจะถึงวันหมดอายุที่ระบุไว้ในฉลากผลิตภัณฑ์ (อันใดอันหนึ่งโดยเลือกวันที่มาถึงก่อน) เช่น เปิดใช้ยาวันที่ 31 มีนาคม 2563 ฉลากบ่งบอกว่ายาหมดอายุ 30 พฤศจิกายน 2563 (เหลือเวลาประมาณ 8 เดือน) ดังนั้นเมื่อเปิดใช้ยาไปแล้ว 2 เดือน ควรทิ้งยานั้นไปเลย)
อย่างไรก็ดี ทุกครั้งก่อนใช้ยาควรสังเกตลักษณะของผลิตภันฑ์ เช่น เขย่าแรง ๆ แล้วยังไม่เป็นเนื้อเดียวกันหรือไม่กระจายตัว รวมถึงสังเกต สี กลิ่น ตะกอน ความขุ่น-ใส ว่ามีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมหรือไม่ด้วย หากมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นควรทิ้งยาเหล่านั้นไป และหากไม่แน่ใจก็ควรทิ้งยานั้นไปด้วยเช่นกัน จะทำให้เกิดความปลอดภัยมากกว่า
ข้อควรปฏิบัติในการเก็บรักษายา
- อ่านฉลากยาให้ครบถ้วน รวมทั้งคำแนะนำการเก็บรักษายา เนื่องจากวิธีการเก็บรักษาของยาแต่ละชนิดไม่เหมือนกัน
- กรณียาทั่วไป ที่ไม่ระบุการเก็บรักษาเป็นพิเศษ ให้เก็บยาที่อุณหภูมิห้องบริเวณที่ไม่ร้อน และ ไม่มีแสงแดดส่อง ห้ามทิ้งยา ไว้ในรถยนต์ เพราะ เมื่อจอดกลางแดด แม้เพียงไม่นานอุณหภูมิในรถจะร้อนมาก ทำให้ยาเสื่อมได้ง่าย แต่หากฉลากยาระบุให้เก็บรักษาในอุณหภูมิไม่เกิน 25-30 องศา ก็ควรเก็บไว้ในตู้เย็น เพราะ อากาศบ้านเราค่อนข้างร้อน
- กรณียาที่ระบุว่าให้ เก็บยาไว้ในตู้เย็น ห้ามแช่แข็ง หมายถึงให้เก็บในตู้เย็นช่องปกติ ไม่ควรเก็บที่ชั้นใกล้ช่องแช่แข็ง เพราะ มีความเย็นจัดจนทำให้เป็นน้ำแข็งและเกิดการตกตะกอนได้ นอกจากนี้ไม่ควรเก็บยาที่ประตูตู้เย็น เพราะอุณหภูมิอาจไม่เย็นพอ จากการที่มีการเปิด – ปิด ประตูตู้เย็นบ่อย ๆ
- ยาที่บรรจุ ในขวดสีชา หมายถึงยาที่ต้องป้องกันไม่ให้ถูกแสง ไม่ควรเปลี่ยนภาชนะบรรจุยา ไปเป็นแบบใสหรือขาว เพราะจะทำให้ยาเสื่อมได้
- ยาที่ต้องระมัดระวังเรื่องความชื้นควรใส่สารกันชื้น (มักเห็นเป็นซองเล็กๆ ภายในมีเม็ดกันชื้นอยู่สอดอยู่ในขวดยา) ไว้ตลอดเวลา และ ปิดภาชนะบรรจุให้แน่น
- ควรเก็บยาไว้ในภาชนะบรรจุเดิมซึ่งมีสลากระบุชื่อยาและ วันที่ได้รับยานั้น จะทำให้สามารถพิจารณาระยะเวลาที่ควรเก็บยาที่เหลือนั้นได้
- ควรเก็บยาให้พ้นมือเด็ก เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเ
กิดขึ้นจากการใช้ยา
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
อ่านต่อ ยาหมดอายุ ดูอย่างไร? หลังเปิดใช้ เก็บไว้ได้นานแค่ไหน?
ยาหมดอายุ ดูอย่างไร? หลังเปิดใช้ เก็บไว้ได้นานแค่ไหน?
วันหมดอายุหรือวันสิ้นอายุของยา คือวันที่กำหนดอายุการใช้ยาสำหรับยาที่ผลิตในแต่ละครั้ง เพื่อแสดงว่ายาดังกล่าวมีคุณภาพมาตรฐานตามข้อกำหนดตลอดช่วงระยะเวลาก่อนถึงวันสิ้นอายุของยา ซึ่งการกำหนดวันหมดอายุและสภาวะการจัดเก็บยาเป็นข้อมูลซึ่งได้จากการศึกษาความคงตัวของตัวยานั่นเอง คุณพ่อคุณแม่จึงควรทราบวิธีการสังเกต ยาหมดอายุ ซึ่งจะเป็นวิธีการตรวจสอบคุณภาพยาอย่างง่ายที่ผู้ใช้ยาสามารถทำได้เอง ข้อควรรู้พื้นฐานในการพิจารณาวันหมดอายุของยา มีดังนี้
- ยาที่อยู่ในบรรจุภัณฑ์ของบริษัทผู้ผลิต สามารถสังเกตได้จากวันหมดอายุที่ระบุไว้บนฉลากหรือบรรจุภัณฑ์ เช่น ที่แผงยา ซองยา เป็นต้น กรณีที่ระบุเฉพาะเดือนและปีที่หมดอายุ วันหมดอายุจะเป็นวันสุดท้ายของเดือน
- ยาน้ำที่ยังไม่ได้เปิดใช้ จะเก็บไว้ได้ 3 ปีนับจากวันผลิต ยาน้ำที่มีสารกันเสียทั้งชนิดรับประทานและใช้ภายนอก
- ยาหยอดตา ยาป้ายตา หากเป็นชนิดที่ใส่สารต้านเชื้อ(Preservative) โดยทั่วไปจะมีอายุไม่เกิน 1 เดือนหลังการเปิดใช้หากเป็นชนิดไม่เติมสารต้านเชื้อควรใช้ให้หมดภายใน 1 วัน วิธีเก็บรักษาปฏิบัติตามฉลากยา
อย่างไรก็ตาม ยาจะมีคุณภาพที่ดีจนถึงอายุยาที่กล่าวข้างต้นได้ ต้องอยู่ภายใต้การจัดเก็บที่เหมาะสมตามที่แนะนำโดยบริษัทผู้ผลิต แต่หากมีการจัดเก็บยาที่ไม่เหมาะสม ยาจะเสื่อมสภาพและมีคุณภาพลดลงต่ำกว่ามาตรฐานกำหนดก่อนวันหมดอายุที่ระบุไว้ ดังนั้นการสังเกตลักษณะทางกายภาพของยาร่วมด้วยจัดเป็นสิ่งที่สำคัญไม่น้อยไปกว่ากัน เพราะหากยามีลักษณะที่เปลี่ยนไปจากเดิมแล้ว ก็อาจจะเป็นไปได้ว่าคุณภาพของยาน่าจะเปลี่ยนแปลง ไม่ควรใช้ยานั้นต่อไป
ยาน้ำที่เสื่อมสภาพ ยาหมดอายุ มีลักษณะอย่างไร?
- ยาน้ำแขวนตะกอน เช่น ยาลดกรด ยาคาลาไมน์ ทาแก้คัน หากเสื่อมสภาพตะกอนจะจับกันเป็นก้อน เกาะ ติดกันแน่น เขย่าแล้วไม่กระจายตัวดังเดิม มีความเข้มข้น กลิ่น สีหรือรสเปลี่ยนไป
- ยาน้ำเชื่อม เช่น ยาแก้ไอ หากหมดอายุ ยาจะมี ลักษณะขุ่นมีตะกอน ผงตัวยาละลายไม่หมด สีเปลี่ยน มี กลิ่นบูดเปรี้ยวหรือรสเปรี้ยว
- ยาขี้ผึ้ง เกิดการแยกของของเหลวออกมาเยิ้มที่ผิวหน้าของยาเตรียมมีความข้นหนืด เปลี่ยนไป และมีกลิ่นเหม็นหืน
- ยาครีม การแยกของอิมัลชัน การโตของผลึก การหดตัวของเนื้อครีมเนื่องจากการระเหยของน้ำ และการปนเปื้อนของเชื้อจุลินทรีย์
- ยาเจล หากยาเสื่อมสภาพเนื้อเจลใสจะเปลี่ยนเป็นขุ่นและไม่เป็นเนื้อเดียวกัน
- ยาหยอดตา ถ้าเสื่อมจะเปลี่ยนจากน้ำใสๆ เป็นน้ำขุ่น หรือหยอดแล้วมีอาการแสบตา มากกว่าปกติ
เนื่องจากยาน้ำมักจะมีอายุของยาสั้นหลังจากเปิดใช้แล้ว จึงอาจทำให้คุณพ่อคุณแม่ลืมได้ว่าได้เปิดใช้ไปเมื่อไหร่ ส่วนตัวแม่พริมาจึงเขียนวันที่ที่เปิดใช้และวันที่ที่ ยาหมดอายุ (6 เดือนหลังจากเปิดใช้หรือน้อยกว่านั้น) เพื่อให้สะดวกต่อการดูวันหมดอายุเมื่อต้องป้อนยาเมื่อลูกป่วยในครั้งต่อไปค่ะ อย่างไรก็ตาม อย่าลืมที่จะสังเกตลักษณะ สี กลิ่น รสชาติของยาก่อนที่จะให้ลูกทานทุกครั้งนะคะ
อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก
ลูกดื้อยา เพราะเชื้อแบคทีเรียกลายพันธุ์จากการใช้ยาปฏิชีวนะ
กินยากับนม ได้หรือไม่? ยากับนมและเครื่องดื่มที่ห้ามกินคู่กัน
“ลูกป่วยบ่อย” ต้องอ่าน! 10 วิธีเลี้ยงลูกให้ปลอดจากโรคภัย
วิธีส่องดูคอลูก เมื่อ “เป็นหวัดเจ็บคอ”
ขอบคุณข้อมูลจาก : คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล, คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่