ยาหมดอายุ ดูอย่างไร? หลังเปิดใช้ เก็บไว้ได้นานแค่ไหน? - Amarin Baby & Kids
ยาหมดอายุ

ยาหมดอายุ ดูอย่างไร? หลังเปิดใช้ เก็บไว้ได้นานแค่ไหน?

Alternative Textaccount_circle
event
ยาหมดอายุ
ยาหมดอายุ

ตอบสงสัยแม่ ๆ ว่าเมื่อเปิดยาให้ลูกทาน แล้วยาเหลือ จะสามารถเก็บยาไว้ให้ลูกทานหากป่วยครั้งต่อไปได้หรือไม่? ยาหมดอายุ ดูอย่างไร?

ยาหมดอายุ ดูอย่างไร? หลังเปิดใช้ เก็บไว้ได้นานแค่ไหน?

หลังจากพาลูกไปพบคุณหมอแล้ว คุณพ่อคุณแม่มักจะได้รับยาน้ำมาหลากหลายชนิด เช่น ยาบรรเทาอาการคัดจมูก ยาบรรเทาอาการไอ ยาปฏิชีวนะต่าง ๆ เป็นต้น และเมื่อเปิดใช้แล้ว ลูกอาจจะทานยาไม่หมดขวด เพราะหายป่วยเสียก่อน คุณพ่อคุณแม่หลายคนสงสัยว่าจะสามารถเก็บยาไว้ให้ลูกทานหากป่วยครั้งต่อไปได้หรือไม่? และควรเก็บรักษายาอย่างไรไม่ให้เสีย ทีมแม่ ABK จึงรวบรวมมาให้คุณพ่อคุณแม่ได้อ่านกันค่ะ

ระยะเวลาในการเก็บยาน้ำหลังเปิดใช้

  • ในกรณีของยาปฏิชีวนะที่ต้องผสมน้ำนั้น เมื่อผสมผงยากับน้ำไปแล้วสามารถเก็บไว้ได้ประมาณ 7 วัน ที่อุณหภูมิห้อง แต่ถ้าเก็บไว้ในตู้เย็นจะสามารถเก็บไว้ได้ประมาณ 14 วัน หากเก็บนานกว่านี้อาจจะทำให้ประสิทธิภาพลดลงจนรักษาไม่ได้ผล นอกจากนี้ควรทานยาปฎิชีวนะจนหมดขวด ไม่ควรหยุดยาเมื่ออาการดีขึ้นแล้ว เพราะจะทำให้เสี่ยงต่อการดื้อยาได้
อายุยาหลังเปิดใช้
อายุยาหลังเปิดใช้
  • ในกรณีของยาน้ำโดยทั่วไป เช่น ยาบรรเทาอาการคัดจมูก ยาแก้แพ้ ยาบรรเทาอาการไอ ไม่ควรเก็บไว้นานเกิน 6 เดือน หรือ ไม่เกิน 25% ของเวลาก่อนที่ยาจะถึงวันหมดอายุที่ระบุไว้ในฉลากผลิตภัณฑ์ (อันใดอันหนึ่งโดยเลือกวันที่มาถึงก่อน) เช่น เปิดใช้ยาวันที่ 31 มีนาคม 2563 ฉลากบ่งบอกว่ายาหมดอายุ 30 พฤศจิกายน 2563 (เหลือเวลาประมาณ 8 เดือน) ดังนั้นเมื่อเปิดใช้ยาไปแล้ว 2 เดือน ควรทิ้งยานั้นไปเลย)

อย่างไรก็ดี ทุกครั้งก่อนใช้ยาควรสังเกตลักษณะของผลิตภันฑ์ เช่น เขย่าแรง ๆ แล้วยังไม่เป็นเนื้อเดียวกันหรือไม่กระจายตัว รวมถึงสังเกต สี กลิ่น ตะกอน ความขุ่น-ใส ว่ามีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมหรือไม่ด้วย หากมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นควรทิ้งยาเหล่านั้นไป และหากไม่แน่ใจก็ควรทิ้งยานั้นไปด้วยเช่นกัน จะทำให้เกิดความปลอดภัยมากกว่า

ข้อควรปฏิบัติในการเก็บรักษายา

  • อ่านฉลากยาให้ครบถ้วน รวมทั้งคำแนะนำการเก็บรักษายา เนื่องจากวิธีการเก็บรักษาของยาแต่ละชนิดไม่เหมือนกัน
  • กรณียาทั่วไป ที่ไม่ระบุการเก็บรักษาเป็นพิเศษ ให้เก็บยาที่อุณหภูมิห้องบริเวณที่ไม่ร้อน และ ไม่มีแสงแดดส่อง ห้ามทิ้งยา ไว้ในรถยนต์ เพราะ เมื่อจอดกลางแดด แม้เพียงไม่นานอุณหภูมิในรถจะร้อนมาก ทำให้ยาเสื่อมได้ง่าย แต่หากฉลากยาระบุให้เก็บรักษาในอุณหภูมิไม่เกิน 25-30 องศา ก็ควรเก็บไว้ในตู้เย็น เพราะ อากาศบ้านเราค่อนข้างร้อน
  • กรณียาที่ระบุว่าให้ เก็บยาไว้ในตู้เย็น ห้ามแช่แข็ง หมายถึงให้เก็บในตู้เย็นช่องปกติ ไม่ควรเก็บที่ชั้นใกล้ช่องแช่แข็ง เพราะ มีความเย็นจัดจนทำให้เป็นน้ำแข็งและเกิดการตกตะกอนได้ นอกจากนี้ไม่ควรเก็บยาที่ประตูตู้เย็น เพราะอุณหภูมิอาจไม่เย็นพอ จากการที่มีการเปิด – ปิด ประตูตู้เย็นบ่อย ๆ
  • ยาที่บรรจุ ในขวดสีชา หมายถึงยาที่ต้องป้องกันไม่ให้ถูกแสง ไม่ควรเปลี่ยนภาชนะบรรจุยา ไปเป็นแบบใสหรือขาว เพราะจะทำให้ยาเสื่อมได้
  • ยาที่ต้องระมัดระวังเรื่องความชื้นควรใส่สารกันชื้น (มักเห็นเป็นซองเล็กๆ ภายในมีเม็ดกันชื้นอยู่สอดอยู่ในขวดยา) ไว้ตลอดเวลา และ ปิดภาชนะบรรจุให้แน่น
  • ควรเก็บยาไว้ในภาชนะบรรจุเดิมซึ่งมีสลากระบุชื่อยาและ วันที่ได้รับยานั้น จะทำให้สามารถพิจารณาระยะเวลาที่ควรเก็บยาที่เหลือนั้นได้
  • ควรเก็บยาให้พ้นมือเด็ก เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้ยา

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

อ่านต่อ ยาหมดอายุ ดูอย่างไร? หลังเปิดใช้ เก็บไว้ได้นานแค่ไหน?

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up