ข่าวดีจ้าข่าวดี! รัฐบาลประกาศ ยกเลิกใช้สำเนาบัตรประชาชน และสำเนาทะเบียนบ้าน เริ่มสิงหาคมนี้แล้วนะ รู้ยัง!
ข่าวนี้ถือเป็นข่าวดีที่รัฐบาลได้ประกาศ ยกเลิกใช้สำเนาบัตรประชาชน และสำเนาทะเบียนบ้าน เพื่อเป็นการปฏิรูประบบราชการ เรียกได้ว่าถือเป็นข่าวดี เอาใจพี่น้องชาวไทยเสียจริง ๆ
เพราะเป็นเรื่องน่าเบื่อหน่าย สำหรับใครหลาย ๆ คนที่ต้องคอยถ่ายเอกสารทั้งบัตรประชาชนและสำเนาทะเบียนบ้านของตัวเองกันไว้เยอะ ๆ เพื่อใช้ในการติดต่อกับหน่วยงานราชการ … เชื่อว่า คุณพ่อคุณแม่หลาย ๆ คนมีความคิดเห็นพร้อมกับตั้งข้อสงสัยว่า ทำไมยังต้องใช้สำเนาบัตรประชาชนกับสำเนาทะเบียนบ้านอยู่อีก ทั้ง ๆ ที่ก็มีบัตรประชาชนแบบฝังชิพแล้ว ซึ่งหลายต่อหลายครั้งที่ได้ยินข่าวการประชาสัมพันธ์ว่า บัตรประชาชนใบเดียว ใช้แทนทะเบียนบ้านได้
ล่าสุด! รัฐบาลได้ออกมาประกาศ ยกเลิกใช้สำเนาบัตรประชาชน และสำเนาทะเบียนบ้านแล้ว โดยมีผลบังคับเดือนสิงหาคมนี้ … บอกเลยข่าวนี้ดีต่อใจจริง ๆ
เมื่อวันที่ 30 เมษายนที่ผ่านมา ณ ทำเนียบรัฐบาลโดยมี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. เป็นประธานในการประชุมขับเคลื่อนการปฏิรูปเพื่อรองรับการปรับเปลี่ยนตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0 โดยที่ประชุมรับทราบความก้าวหน้าในประเด็นการปฏิรูประบบราชการ การพัฒนาและรังสรรค์นวัตกรรมรูปแบบใหม่ ไม่ว่าจะเป็นยกเลิกใช้สำเนาบัตรประชาชน และสำเนาทะเบียนบ้าน และเรื่องของปัญหาพื้นที่ป่า และการใช้ประโยชน์ของพื้นที่ในจังหวัดน่าน เป็นต้น
ยกเลิกใช้สำเนาบัตรประชาชน และสำเนาทะเบียนบ้านมีผลบังคับใช้เมื่อไร?
ในที่ประชุมได้รับทราบความคืบหน้าการดำเนินงานของ สำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) เกี่ยวกับเรื่องการ ยกเลิกใช้สำเนาบัตรประชาชน และสำเนาทะเบียนบ้าน กับหน่วยงานราชการ โดยจะแจ้งตำแหน่งจุดให้บริการประชาชนประมาณ 40,000 จุดในเดือนพฤษภาคมนี้
และจะเริ่มใช้มาตราการดังกล่าวในเดือนสิงหาคมที่จะถึงนี้ พร้อมกับเปิดใช้บริการแอพพลิเคชั่น เพื่อบอกข้อมูลการให้บริการพร้อมข่าวสารจากรัฐสู่ประชาชนอีกด้วย
ส่วนประเด็นการเตรียมคนไทยสู่ทศวรรษที่ 21 นั้น ที่ประชุมรับทราบการดำเนินการสร้างกระบวนทัศน์และหลักคิดสำหรับคนไทย 5 ด้าน คือ พอเพียง วินัย สุจริต จิตสาธารณะ และรับผิดชอบ
เรียกได้ว่าการ ยกเลิกใช้สำเนาบัตรประชาชน และสำเนาทะเบียนบ้านในครั้งนี้ ถือเป็นการช่วยประหยัดทรัพยากรธรรมชาติ ลดการใช้กระดาษได้เป็นอย่างดี อีกหน่อยไม่ว่าคุณพ่อคุณแม่จะทำอะไร แค่ยื่นบัตรประชาชน หรือบอกเลขบัตรประชาชน ก็สามารถทำธุรกรรมได้อย่างสะดวกง่ายดายแล้วละค่ะ
นอกเหนือจากข่าวคราวการประชาสัมพันธ์ว่าด้วยเรื่องของการ ยกเลิกใช้สำเนาบัตรประชาชน และสำเนาทะเบียนบ้านแล้ว ทีมงาน Amarin Baby and Kids ก็จะขอนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวบัตรประชาชนคร่าว ๆ ดังนี้
ใครบ้างที่ต้องทำบัตรประชาชน?
สำหรับคุณสมบัติของผู้ที่จะต้องมีบัตรประชาชนไว้ในครอบครองนั้นได้แก่
คุณสมบัติของผู้ที่ต้องมีบัตรประจำตัวประชาชน
1. มีสัญชาติไทย
2. ต้องมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน (ท.ร.14)
3. มีอายุตั้งแต่ 7 ปีบริบูรณ์ แต่ไม่เกิน 70 ปีบริบูรณ์ (อย่างไรก็ตาม ผู้ที่มีอายุเกิน 70 ปี จะขอทำบัตรประชาชนก็สามารถทำได้)
ใครคือผู้ที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องมีบัตรประจำตัวประชาชน
1. สมเด็จพระบรมราชินี
2. พระบรมวงศานุวงศ์ตั้งแต่ชั้นพระองค์เจ้าขึ้นไป
3. ภิกษุ สามเณร นักพรต และนักบวช
4. ผู้มีกายพิการเดินไม่ได้ หรือเป็นใบ้ หรือตาบอดทั้งสองข้าง หรือจิตฟั่นเฟือน ไม่สมประกอบ
5. ผู้อยู่ในที่คุมขังโดยชอบด้วยกฎหมาย
6. บุคคลซึ่งกำลังศึกษาวิชา ณ ต่างประเทศ และไม่สามารถยื่นคำขอมีบัตรประจำตัวประชาชนได้
ทั้งนี้ บัตรประจำตัวประชาชนมีอายุใช้ได้ 6 ปีนับตั้งแต่วันที่ออกบัตรไปจนครบ 6 ปีบริบูรณ์ ซึ่งถ้าวันที่บัตรมีอายุครบ 6 ปีบริบูรณ์ไม่ตรงกับวันครบรอบวันเกิดของผู้ถือบัตร ให้นับระยะเวลาต่อไปจนถึงวันครบรอบวันเกิดของผู้ถือบัตรในปีนั้นหรือปีถัดไป แต่หากผู้ถือบัตรมีอายุครบ 70 ปีบริบูรณ์ แต่บัตรยังไม่หมดอายุ สามารถใช้ต่อไปได้จนตลอดชีวิตเลยละค่ะ
ถ้าว่างเฉพาะวันหยุด สามารถทำได้หรือไม่?
คำตอบก็คือ สามารถทำได้ค่ะ แต่ไม่จำเป็นต้องไปที่สำนักงานเขตหรือที่ว่าการอำเภอในพื้นที่ที่อาศัยอยู่ก็ได้นะคะ เพราะสามารถไปยื่นเรื่องขอทำบัตรใหม่นอกเขตพื้นที่ที่อยู่อาศัยได้ ณ สถานที่ต่อไปนี้
1. สถานที่ราชการ เช่น สำนักงานเขต, ที่ว่าการอำเภอ, สำนักงานเทศบาล, สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง, หน่วยบริการจัดทำบัตรเคลื่อนที่ของกรมการปกครอง, สำนักงานหรือที่ทำการขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ส่วนคนไทยในต่างประเทศสามารถขอทำบัตรประชาชนได้ ณ สถานเอกอัครราชทูตหรือสถานกงสุลใหญ่ โดยจะให้บริการในวัน-เวลาราชการ แต่สำนักงานเขตบางแห่งอาจเปิดให้บริการในวันเสาร์ด้วย ซึ่งต้องสอบถามไปยังสำนักงานเขตที่เราต้องการไปทำบัตรประชาชนก่อน เพราะบางแห่งจะเปิดให้บริการเฉพาะครึ่งวันเช้าเท่านั้น
2. จุดบริการด่วนมหานคร (BMA Express Service) ซึ่งกรุงเทพมหานครได้เปิดให้บริการตามสถานที่ต่าง ๆ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชนที่มาติดต่องานทะเบียนราษฎร เช่น สำเนาทะเบียนบ้าน ทะเบียนคนเกิด ทะเบียนคนตาย ทะเบียนประวัติ และบริการทำบัตรประจำตัวประชาชน โดยปัจจุบันเปิดให้บริการตามจุดต่าง ๆ คือ
– สถานีรถไฟฟ้า BTS หมอชิต ภายในสถานีรถไฟฟ้า โทร. 02-2725346
– สถานีรถไฟฟ้า BTS สยาม บริเวณทางเชื่อมระหว่างสถานีรถไฟฟ้าสยามกับห้างสรรพสินค้าพารากอน โทร. 02-2500125-6
– สถานีรถไฟฟ้า BTS พร้อมพงษ์ ภายในสถานีรถไฟฟ้า โทร. 02-6635203-4
– สถานีรถไฟฟ้า BTS อุดมสุข บริเวณทางเดินก่อนเข้าภายในรถไฟฟ้า โทร. 02-3993499
– สถานีรถไฟฟ้า BTS วงเวียนใหญ่ บริเวณทางเดินก่อนเข้าภายในรถไฟฟ้า โทร. 02-4401604
เวลาทำการจันทร์-ศุกร์ 10.00-19.00 น. ส่วนวันหยุดและวันนักขัตฤกษ์ ให้บริการเวลา 10.00-18.00 น. (หยุดพักกลางวันเวลา 12.00-13.00 น.)
นอกจากนี้ยังเปิดให้บริการตามสถานที่สำคัญและห้างสรรพสินค้า ต่าง ๆ ดังนี้คือ
– ศาลาว่าการ กทม. ชั้น 1 เปิดบริการเวลา 08.30-16.30 น. เฉพาะวันและเวลาราชการ โทร. 02-2212141-69 ต่อ 1560-62
– ห้างสรรพสินค้าซีคอน บางแค ชั้น B ติดร้าน Power Buy เปิดให้บริการทุกวัน ตั้งแต่เวลา 11.00-19.00 น. (เวลาเปิดทำการขึ้นอยู่กับเวลาเปิดทำการของห้างสรรพสินค้า) โทร. 02-4582507
– ห้างสรรพสินค้าเดอะมอลล์ บางแค ชั้น P บริเวณทางเข้า-ออก ลานจอดรถ เปิดให้บริการทุกวัน ตั้งแต่เวลา 11.00-19.00 น. (เวลาเปิดทำการขึ้นอยู่กับเวลาเปิดทำการของห้างสรรพสินค้า) โทร. 02-4547395
– ห้างสรรพสินค้าตั้งฮั่วเส็ง ชั้น B โซน T-Plaza เปิดให้บริการทุกวัน ตั้งแต่เวลา 11.00-19.00 น. (เวลาเปิดทำการขึ้นอยู่กับเวลาเปิดทำการของห้างสรรพสินค้า) โทร. 02-4356066
– ห้างสรรพสินค้าแฟชั่นไอส์แลนด์ ชั้น B หน้าสถาบันสอนดนตรีจุไรรัตน์ เปิดให้บริการทุกวัน ตั้งแต่เวลา 11.00-19.00 น. (เวลาเปิดทำการขึ้นอยู่กับเวลาเปิดทำการของห้างสรรพสินค้า) โทร. 02-1304295
– ห้างสรรพสินค้าพาราไดซ์พาร์ค ชั้น G ติดเคาน์เตอร์ขายบัตรโดยสารเครื่องบิน หลังธนาคารกรุงศรีอยุธยา เปิดให้บริการทุกวัน ตั้งแต่เวลา 11.00-19.00 น. (เวลาเปิดทำการขึ้นอยู่กับเวลาเปิดทำการของห้างสรรพสินค้า) โทร. 02-3259079
– ห้างสรรพสินค้าเซน ชั้น 7 บริเวณชั้นลอย (เปิดบริการเวลา 11.00-19.00 น. เฉพาะวันและเวลาราชการ) โทร. 02-2153510 ต่อ 6038
ทั้งนี้ จุดบริการด่วนมหานคร จะเปิดให้บริการทำบัตรประจำตัวประชาชนเฉพาะกรณีดังต่อไปนี้เท่านั้น
– ขอมีบัตรครั้งแรก (เด็กอายุ 7 ขวบขึ้นไป)
– บัตรเดิมหมดอายุ
– บัตรชำรุดในสาระสำคัญ
– เปลี่ยนที่อยู่ ชื่อตัว ชื่อสกุล
– คัดสำเนารายการบัตร
แต่จะไม่รับทำบัตรกรณีที่ต้องมีการสอบสวนตามกฎหมาย เช่น บัตรหาย หรือบัตรถูกทำลาย ซึ่งกรณีนี้ต้องไปทำที่สถานที่ราชการ เช่น สำนักงานเขตเท่านั้นค่ะ
อย่าลืมนะคะว่า รัฐประกาศ ยกเลิกใช้สำเนาบัตรประชาชน และสำเนาทะเบียนบ้านแล้ว โดยจะเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่เดือนสิงหาคมเป็นต้นไป จะมีหน่วยงานไหนบ้างนั้น หากทีมงานทราบรายละเอียดเพิ่มเติม จะรีบนำมาอัพเดทให้ทราบกันอีกครั้งค่ะ
ขอบคุณที่มา: ข่าวสด และกระปุกดอทคอม
อ่านต่อเรื่องอื่นที่น่าสนใจ:
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่