เมื่อวันที่ 30 เมษายนที่ผ่านมา ณ ทำเนียบรัฐบาลโดยมี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. เป็นประธานในการประชุมขับเคลื่อนการปฏิรูปเพื่อรองรับการปรับเปลี่ยนตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0 โดยที่ประชุมรับทราบความก้าวหน้าในประเด็นการปฏิรูประบบราชการ การพัฒนาและรังสรรค์นวัตกรรมรูปแบบใหม่ ไม่ว่าจะเป็นยกเลิกใช้สำเนาบัตรประชาชน และสำเนาทะเบียนบ้าน และเรื่องของปัญหาพื้นที่ป่า และการใช้ประโยชน์ของพื้นที่ในจังหวัดน่าน เป็นต้น
ยกเลิกใช้สำเนาบัตรประชาชน และสำเนาทะเบียนบ้านมีผลบังคับใช้เมื่อไร?
ในที่ประชุมได้รับทราบความคืบหน้าการดำเนินงานของ สำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) เกี่ยวกับเรื่องการ ยกเลิกใช้สำเนาบัตรประชาชน และสำเนาทะเบียนบ้าน กับหน่วยงานราชการ โดยจะแจ้งตำแหน่งจุดให้บริการประชาชนประมาณ 40,000 จุดในเดือนพฤษภาคมนี้
และจะเริ่มใช้มาตราการดังกล่าวในเดือนสิงหาคมที่จะถึงนี้ พร้อมกับเปิดใช้บริการแอพพลิเคชั่น เพื่อบอกข้อมูลการให้บริการพร้อมข่าวสารจากรัฐสู่ประชาชนอีกด้วย
ส่วนประเด็นการเตรียมคนไทยสู่ทศวรรษที่ 21 นั้น ที่ประชุมรับทราบการดำเนินการสร้างกระบวนทัศน์และหลักคิดสำหรับคนไทย 5 ด้าน คือ พอเพียง วินัย สุจริต จิตสาธารณะ และรับผิดชอบ
เรียกได้ว่าการ ยกเลิกใช้สำเนาบัตรประชาชน และสำเนาทะเบียนบ้านในครั้งนี้ ถือเป็นการช่วยประหยัดทรัพยากรธรรมชาติ ลดการใช้กระดาษได้เป็นอย่างดี อีกหน่อยไม่ว่าคุณพ่อคุณแม่จะทำอะไร แค่ยื่นบัตรประชาชน หรือบอกเลขบัตรประชาชน ก็สามารถทำธุรกรรมได้อย่างสะดวกง่ายดายแล้วละค่ะ
นอกเหนือจากข่าวคราวการประชาสัมพันธ์ว่าด้วยเรื่องของการ ยกเลิกใช้สำเนาบัตรประชาชน และสำเนาทะเบียนบ้านแล้ว ทีมงาน Amarin Baby and Kids ก็จะขอนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวบัตรประชาชนคร่าว ๆ ดังนี้
ใครบ้างที่ต้องทำบัตรประชาชน?
สำหรับคุณสมบัติของผู้ที่จะต้องมีบัตรประชาชนไว้ในครอบครองนั้นได้แก่
คุณสมบัติของผู้ที่ต้องมีบัตรประจำตัวประชาชน
1. มีสัญชาติไทย
2. ต้องมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน (ท.ร.14)
3. มีอายุตั้งแต่ 7 ปีบริบูรณ์ แต่ไม่เกิน 70 ปีบริบูรณ์ (อย่างไรก็ตาม ผู้ที่มีอายุเกิน 70 ปี จะขอทำบัตรประชาชนก็สามารถทำได้)
ใครคือผู้ที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องมีบัตรประจำตัวประชาชน
1. สมเด็จพระบรมราชินี
2. พระบรมวงศานุวงศ์ตั้งแต่ชั้นพระองค์เจ้าขึ้นไป
3. ภิกษุ สามเณร นักพรต และนักบวช
4. ผู้มีกายพิการเดินไม่ได้ หรือเป็นใบ้ หรือตาบอดทั้งสองข้าง หรือจิตฟั่นเฟือน ไม่สมประกอบ
5. ผู้อยู่ในที่คุมขังโดยชอบด้วยกฎหมาย
6. บุคคลซึ่งกำลังศึกษาวิชา ณ ต่างประเทศ และไม่สามารถยื่นคำขอมีบัตรประจำตัวประชาชนได้
ทั้งนี้ บัตรประจำตัวประชาชนมีอายุใช้ได้ 6 ปีนับตั้งแต่วันที่ออกบัตรไปจนครบ 6 ปีบริบูรณ์ ซึ่งถ้าวันที่บัตรมีอายุครบ 6 ปีบริบูรณ์ไม่ตรงกับวันครบรอบวันเกิดของผู้ถือบัตร ให้นับระยะเวลาต่อไปจนถึงวันครบรอบวันเกิดของผู้ถือบัตรในปีนั้นหรือปีถัดไป แต่หากผู้ถือบัตรมีอายุครบ 70 ปีบริบูรณ์ แต่บัตรยังไม่หมดอายุ สามารถใช้ต่อไปได้จนตลอดชีวิตเลยละค่ะ