อยู่ที่โน่นเลี้ยงลูกเอง ไม่มีพี่เลี้ยง แล้วไม่เหนื่อยแย่หรือ วันๆ อยู่บ้านทำอะไรกันบ้าง เป็นคำถามที่คุณแม่ฟูลไทม์ต่างถิ่นอย่างผู้เขียนต้องคอยตอบญาติสนิทมิตรสหายอยู่บ่อยๆ
เหนื่อยน่ะเหนื่อยแน่ค่ะ แต่จะให้จ้างพี่เลี้ยงก็แพงหูฉี่ แล้วผู้เขียนก็รู้สึกว่าการได้มีโอกาสอยู่กับลูกเต็มที่โดยไม่ต้องออกไปทำงาน ถือว่าเป็นสิ่งพิเศษที่ไม่ใช่ทุกคนมีโอกาสทำได้ จึงตั้งใจจะเลี้ยงลูกเองโดยไม่รีบส่งไปเข้าโรงเรียนหรือสถานเลี้ยงเด็กที่ไหน แต่ก็ต้องยอมรับค่ะว่าบางครั้งก็หมดแรงเพราะหนูเมตตาแกพลังเยอะกว่าคุณแม่วัยกลางคนอย่างผู้เขียน อยู่บ้านกันทั้งวันเห็นทีจะไม่รอด จึงต้องหากิจกรรมต่างๆ ออกไปทำกัน ไม่ว่าจะเป็นคลาสโน่นนี่ ไปสวนสัตว์ พิพิธภัณฑ์ สนามเด็กเล่น สวนสาธารณะ ห้องสมุด และอื่นๆ อีกมากมายตามแต่ความสนใจและนึกสนุกของเราแม่ลูก
แต่ถึงจะมีเรื่องออกไปนอกบ้านทุกวัน ผู้เขียนก็ยังโหยหาการได้พูดคุยเชื่อมโยงกับคนอื่น ไม่ใช่เพียงยิ้มแย้มทักทายผิวเผินตามที่สาธารณะทั่วไป โชคดีที่มีกิจกรรมหนึ่งซึ่งผู้เขียนรู้สึกว่าสำคัญและช่วยชีวิตคุณแม่ไกลบ้านให้หายเหงาไปได้มากจริงๆ นั่นคือการพาลูกไปเล่นกับเพื่อนในวัยเดียวกัน หรือที่ฝรั่งเรียกกันว่า Play Date
ผู้เขียนเริ่มพาลูกสาวไปเข้ากลุ่มคุณแม่มือใหม่ (New Moms Group) มาได้ตั้งแต่ลูกยังเล็กมากๆ จากนั้นแม่ๆ ที่เจอกันในกลุ่มประมาณ 20 คน ก็รวมตัวกันสร้างเฟซบุ๊คเพจ และนัดเจอกันทุกๆ สัปดาห์ติดต่อกันมาสองปีกว่าแล้ว ถึงแม้ตอนนี้แต่ละคนจะมีภาระหน้าที่ต่างไปจากเดิม บางคนเริ่มกลับไปทำงาน บางคนย้ายบ้าน แต่ก็ถือว่ายังคบหากันเหนียวแน่น แม้จะไม่ได้เจอกันครบถ้วนเหมือนเดิมก็ตาม เท่าที่ผู้เขียนสังเกตดู ก็พบว่าลูกสาวของผู้เขียนนั้นรู้สึกผูกพันแน่นแฟ้นกับเพื่อนๆ ในกลุ่มที่โตมาด้วยกัน และผู้เขียนก็เรียกคนอื่นๆ ในกลุ่มว่า “เพื่อน” ได้อย่างเต็มปาก นับเป็นมิตรภาพที่ค่อยๆ ก่อตัวขึ้นพร้อมๆ กับการเติบโตของลูกๆ และวุฒิภาวะความเป็นแม่ของพวกเราแต่ละคน
ก่อนหน้าจะเป็นแม่คน ผู้เขียนก็ไม่เคยได้ยินคำว่า Play Date มาก่อน ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเขาทำกันยังไง แต่ผ่านไปสองปี ตอนนี้ก็รู้แล้วว่ามันคือการชวนเพื่อนมาเล่นที่บ้านนั่นเอง! สนุกตรงที่ได้ย้ายบ้านไปเรื่อยๆ ตามแต่ใครอยากจะอาสาเป็นเจ้าภาพในอาทิตย์นั้นๆ ตอนลูกเล็กมากๆ ก็เพียงแค่แม่ๆ พาลูกมาปูผ้าให้นมคุยกันไปตามเรื่อง พอลูกเริ่มโตขึ้น ก็ต้องมีกิจกรรมมีของเล่นอย่างอื่นๆ เพิ่มเติม
แรกๆ หนูๆ จะยังไม่เล่นด้วยกัน แต่จะเล่นข้างๆ กัน หรือที่เรียกว่า parallel play จนโตหน่อย ประมาณเกือบสองขวบ ถึงได้เริ่มเล่นด้วยกันมากขึ้น ลูกสาวผู้เขียนชอบไปเล่นบ้านเพื่อนมาก เพราะได้เล่นของเล่นอื่นๆ ที่บ้านตัวเองไม่มี และมีคนตัวเล็กๆ เท่าๆ กับแกคอยเล่นด้วยกัน (หรือตีกันบ้างตามอัธยาศัย) การเล่นจึงเป็นอย่างเด็กเล่นจริงๆ ไม่เหมือนเล่นกับพ่อแม่ที่คอยแต่จะสอนหรือเล่นตีความเยอะเกินไปอย่างที่ผู้ใหญ่ชอบทำกัน
ข้อดีที่เห็นได้ชัดเจนมากๆ ของการไปเล่นบ้านเพื่อน (หรือชวนเพื่อนมาเล่นที่บ้าน) เป็นประจำนั้นก็คือ ลูกจะมีพัฒนาการทางสังคมดีมากตั้งแต่ยังเล็ก เพราะเขาได้รู้จักที่จะแบ่งปัน เอาใจเขามาใส่ใจเรา เข้าใจอารมณ์ความรู้สึกของผู้อื่น หรือที่เรียกว่ามี empathy ซึ่งเป็นทักษะที่สำคัญมากของการเป็นมนุษย์ หากเกิดปัญหาก็เรียนรู้ที่จะประนีประนอมยอมความแล้วคืนดีกันได้
ลูกสาวผู้เขียนตอนนี้อายุ 2 ขวบ ไม่กลัวคนแปลกหน้า ไม่หวงของ เวลาใครเล่นอะไรอยู่ก็จะไม่แย่ง แต่รอให้เพื่อนเล่นเสร็จหรือถึงตาของตัวเอง เห็นใครเศร้าก็ห่วงใยอยากเข้าไปปลอบ หรือเห็นเพื่อนสนุกสนานร่าเริงก็ไปร่วมสนุกกระโดดโลดเต้นกับเขาได้อย่างสุดเหวี่ยง ผู้เขียนเองก็ได้แลกเปลี่ยนข้อสงสัยเรื่องการเลี้ยงลูกและพัฒนาการของลูกกับเพื่อนแม่คนอื่นๆ ซึ่งมีลูกอายุเท่ากัน (ซึ่งจำเป็นมากสำหรับคนที่ไม่มีครอบครัวขยายอยู่ใกล้ชิดให้ถามไถ่ได้ และเด็กเล็กๆ นั้น อายุห่างกันไม่กี่เดือนก็มีพัฒนาการต่างกันเยอะแล้ว) และส่วนใหญ่ก็ได้สังเกตเปรียบเทียบด้วยว่าลูกเรามีพัฒนาการเหมาะสมหรือไม่อย่างไรเมื่อเทียบกับเด็กที่อายุเท่ากัน
สิ่งที่สำคัญที่สุด ซึ่งผู้เขียนไม่ขอเรียกว่าผลพลอยได้ เพราะจริงๆ แล้วเป็นสิ่งสำคัญไม่แพ้การให้ลูกได้มีสังคม ก็คือคุณแม่เองจะได้มีสังคมด้วย เพราะการเลี้ยงลูกอยู่กับบ้านนั้น เป็นงานหนักและบางครั้งแทบจะขาดการติดต่อกับคนอื่นไปเลย สาเหตุหลักๆ ก็คงเพราะมีเวลานอนของลูกมากำกับชีวิตไว้ เพื่อนที่เคยมี บางคนที่ไม่ได้มีลูกก็อาจจะไม่เข้าใจว่าตารางชีวิตของคนมีครอบครัวนั้นต้องเปลี่ยนแปลงและยืดหยุ่นมากขนาดไหน เป็นเหตุให้แทบไม่ได้สังสรรค์กันอีก ดังนั้น การมีเพื่อนที่มีลูกอายุเท่ากัน ก็จะว่างพร้อมๆ กันเวลาลูกตื่น นัดหมายอะไรก็สะดวกและไม่ต้องเกรงใจมากเวลาเลื่อนหรือบอกเลิกนัด เพราะเข้าใจกันดีว่ามีลูกวัยนี้อะไรก็เกิดขึ้นได้เสมอ
ผู้เขียนยังนึกเสมอว่าถ้าไม่มีเพื่อนๆ กลุ่มนี้ ชีวิตการเป็นคุณแม่ของผู้เขียนจะเป็นอย่างไร ผู้เขียนได้ยินมาว่า มีคุณแม่กลุ่มหนึ่งที่เจอกันแบบนี้ ผ่านไป 20 ปี ตอนนี้ยังคบกันอยู่ ล่าสุดเพิ่งพากันไปเม็กซิโก มีคนหนึ่งไม่มีสตางค์พอจะเป็นค่าเดินทาง คนที่เหลือก็ลงขันช่วยกันจนคุณแม่คนนั้นได้ไปด้วย น่ารักจริงๆ ผู้เขียนยังแอบคิดว่าสักวันหนึ่งจะชวนเพื่อนๆ กลุ่มนี้มารียูเนี่ยนกันที่เมืองไทยตอนลูกเข้ามหาวิทยาลัยกันไปหมดแล้ว อีกแค่ 16 ปีเท่านั้นเอง … แหะๆ
คุณผู้อ่านที่เป็นคุณพ่อคุณแม่ฟูลไทม์ ลองมองหากลุ่มสังคมเล็กๆ แบบนี้ดูนะคะ อาจจะเป็นเพื่อนบ้าน เพื่อนที่เจอกันในคลาสต่างๆ ที่โรงพยาบาล หรือตามแต่กิจกรรมความเหมาะสมของแต่ละครอบครัว ผู้เขียนยืนยันค่ะว่าเป็นสิ่งที่ดีมีคุณค่าจริงๆ ทั้งต่อลูกน้อยและต่อคุณพ่อคุณแม่เอง ลูกมีความสุข พ่อแม่ก็มีความสุข และในทางกลับกัน พ่อแม่ที่มีความสุข ก็จะทำให้ลูกมีความสุขไปด้วยนะคะ
บทความโดย: สิริยากร พุกกะเวส มาร์ควอร์ท อดีตนางเอกและพิธีกร ปัจจุบันเป็นเจ้าของบริษัทบ้านอุ้ม สำนักพิมพ์โอโอเอ็ม และเลี้ยงหนูน้อยเมตตาอยู่ที่เมืองพอร์ตแลนด์ รัฐโอเรก้อน สหรัฐอเมริกา
ภาพ: Shutterstock