AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

[แม่อุ้ม-น้องเมตตา 15] College Savings (529) Plan ลูกได้เข้ามหาวิทยาลัย พ่อแม่ได้ลดหย่อนภาษี

ทุกวันนี้หากคนอเมริกันจะส่งลูกเรียนมหาวิทยาลัยของรัฐที่อเมริกา พ่อแม่ต้องจ่ายเงินค่าเล่าเรียน ค่าที่พัก ค่าหนังสือ และอื่นๆ อีกจิปาถะรวมแล้วปีละประมาณ 700,000 บาท ส่วนถ้าเป็นมหาวิทยาลัยเอกชน โดยเฉพาะที่มีชื่อเสียง ค่าใช้จ่ายก็จะเพิ่มขึ้นเท่าตัว คือประมาณปีละ 1,400,000 บาท คูณ 4 ปีแล้วก็ต้องเตรียมสตางค์ไว้ประมาณ 3-6 ล้านบาท ซึ่งเป็นเงินจำนวนไม่ใช่น้อย แต่ที่น่าปาดเหงื่อกว่านั้น ก็คือถ้าคุณมีลูกวันนี้ อีก 18-20 ปีข้างหน้า ค่าใช้จ่ายทางการศึกษาที่แพงขึ้นปีละประมาณ 6% นั้นก็จะกลายเป็นจำนวนเงินถึง 7-14 ล้านบาท!

ผู้เขียนกับสามีได้ยินเรื่องนี้ครั้งแรกก็ตกใจไม่ใช่เล่น แต่พอได้รู้ว่านี่เป็นเรื่องที่พ่อแม่ (ชนชั้นกลาง) อเมริกันส่วนใหญ่เป็นห่วงและต้องวางแผนเตรียมการกันทั้งนั้น ก็ถือว่าดีที่รู้เสียแต่เนิ่นๆ เพราะไม่ว่าจะเป็นการออมหรือลงทุนใดๆ ยิ่งเริ่มต้นไวเท่าไหร่ก็ยิ่งดีเท่านั้น และการลงทุนทางการศึกษาสำหรับลูก ก็เป็นเรื่องใหญ่เป็นอันดับสองรองจากการซื้อบ้าน เพราะฉะนั้นจึงมีข้อมูลให้ศึกษาเปรียบเทียบมากมาย

ทางเลือกที่น่าสนใจและดูปลอดภัยเข้าท่ามากที่สุดที่เราพบ คือการลงทุนในกองทุนเพื่อการศึกษา (College Savings Plan) ที่ดำเนินการโดยรัฐบาลอเมริกัน และเรียกกันติดปากว่า 529 Plan (เพราะเป็นมาตรา 529 ในประมวลรัษฎากรของอเมริกา) ข้อดีของการออมแบบนี้ก็คือมีรัฐบาลรับประกันและสามารถใช้ลดหย่อนภาษีได้ อารมณ์เหมือนกับกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพที่รัฐบาลไทยเราเริ่มดำเนินการเมื่อสิบกว่าปีที่แล้ว แต่ความสนุกก็คืออเมริกานั้นใหญ่โตมโหฬาร ดังนั้นวิธีการลงทุนจึงสลับซับซ้อนต้องคิดกันหลายตลบก่อนจะตัดสินใจ เพราะเงินลงทุนนี้ต้องถอนออกมาใช้เมื่อถึงเวลาที่ลูกเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยเท่านั้น ไม่อย่างนั้นก็จะต้องโดนหักภาษีและเสียค่าปรับกันอ่วมเลยทีเดียว

เรื่องแรกที่ต้องเลือกคือ จะเลือกแบบ Prepaid Plan หรือ Savings Plan หรือเรียกง่ายๆ ว่าจะจ่ายก่อนหรือจ่ายทีหลัง แบบแรกนั้นให้เราเลือกจ่ายค่าเทอมกับมหาวิทยาลัยในอัตราปัจจุบัน ด้วยความเชื่อว่าเมื่อถึงวันที่ลูกเป็นน้องใหม่ในเกือบ 20 ปีข้างหน้า ดอกผลของเงินจำนวนนี้จะพอจ่ายค่าเทอมพอดี แต่ปัญหาก็คือว่าค่าเทอมของมหาวิทยาลัยในอเมริกานั้นพุ่งแรงแซงหน้าอัตราเงินเฟ้อมาโดยตลอด ตอนนี้เลยมีความกังวลว่าการออมแบบนี้จะไม่สัมฤทธิ์ผล คือต้องเตรียมเงินไว้จ่ายเพิ่มอยู่ดี นั่นเป็นเหตุให้การออมแบบที่ 2 ได้รับความนิยมมากกว่าอย่างเห็นได้ชัด

ผู้เขียนเองก็เลือกออมแบบ Savings Plan ให้ลูกสาว เพราะมีความคล่องตัวกว่ามาก ที่ต้องตัดสินใจคือ จะเลือกออมกับรัฐไหน เพราะแต่ละรัฐมี 529 Plan และระบบจัดเก็บภาษีของตัวเอง (อยู่อเมริกาต้องจ่ายภาษี 2 ชุดคือ Federal กับ State Income Tax) และมีบริษัทจัดการการลงทุนไม่เหมือนกัน ผลประกอบการของแต่ละรัฐจึงแตกต่างกัน (ค่อนข้างมาก) ด้วย ถึงแม้ผลประกอบการของรัฐโอเรก้อนที่เราอยู่จะไม่ได้หรูหรามาก แต่เมื่อคำนวณผลตอบแทนทางภาษีที่เราจะได้รับคืนแล้ว ผู้เขียนกับสามีก็เลือกลงทุนกับ Oregon College Savings Plan และเลือกแบบ Age-based Portfolio คือตอนลูกอายุยังน้อยลงทุนแบบที่ความเสี่ยงสูงผลตอบแทนสูง แล้วพอใกล้ๆ จะถึงเวลาเข้ามหาวิทยาลัยค่อยเปลี่ยนไปลงทุนในกองทุนที่ความเสี่ยงต่ำกว่า

อีกเรื่องที่ต้องคิดคือ ลงทุนแบบไหนและปีละเท่าไหร่ดี ครอบครัวเราเลือกกองทุน Social Choice ซึ่งลงทุนในองค์กรที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม แม้จะไม่ใช่กองที่ผลประกอบการสูงที่สุดก็ตาม

เราเชื่อว่าเมื่อลูกโตกว่านี้ แกจะได้ภูมิใจว่าเงินที่พ่อแม่ออมไว้ให้นั้นได้มาอย่างชอบธรรม และผ่านไป 1 ปี มูลค่าการลงทุนเพิ่มขึ้น 15% ก็นับว่าไม่เลวทีเดียว

ส่วนจะออมเท่าไหร่ อันนี้ก็สนุกตรงที่มีเว็บไซต์สำหรับเข้าไปคำนวณประมาณการดูได้มากมายหลายเว็บไซต์ ผู้เขียนลองใช้ตารางคำนวณของเว็บไซต์ www.savingforcollege.com ซึ่งมีข้อมูลค่อนข้างครบถ้วน แล้วลองใส่ข้อมูลแบบสุดโต่ง (คือจะจ่ายค่าเล่าเรียนลูกทั้งหมดสำหรับมหาวิทยาลัยเอกชน) พบว่าถ้าลูกเกิดปีนี้ เข้ามหาวิทยาลัยในอีก 18 ปีข้างหน้า (ค่าเทอมขึ้นปีละประมาณ 4%) โดยกะว่าเงินลงทุนจะได้ผลตอบแทนปีละ 10% ต้องออมปีละประมาณ 215,000 บาท หรือเดือนละประมาณ 17,500 บาท ฟังดูน่าเหนื่อยไม่น้อยเลยใช่ไหมคะ แต่อย่าลืมว่านี่เป็นตัวเลขแบบเต็มที่ โดยเฉลี่ยแล้วพ่อแม่อเมริกันจะออกค่าใช้จ่ายให้ลูกประมาณครึ่งหนึ่งเท่านั้น ส่วนที่เหลืออาจจะได้จากทุนหรือ Student Loan ดอกเบี้ยต่ำ หรือเงินช่วยเหลือจากทางอื่นๆ ด้วย

ที่เล่ามาทั้งหมดนี้ ถึงแม้จะเป็นการลงทุนที่อเมริกา แต่คุณพ่อคุณแม่ไทยที่ตั้งใจจะส่งลูกไปเรียนเมืองนอก อาจจะลองใช้เป็นตัวอย่างการคำนวณ แล้วหากองทุนรวมที่ผลประกอบการดีๆ ผ่านองค์กรที่น่าเชื่อถือ ลงทุนแบบระยะยาวไว้ให้ลูกก็ได้นะคะ (ฝากธนาคารอาจจะดอกเบี้ยไม่พอ) ผู้เขียนเห็นค่าเล่าเรียนโรงเรียนนานาชาติปีละหลายแสนเดี๋ยวนี้แล้วก็เห็นใจคุณพ่อคุณแม่จริงๆ นี่ยังจะมาบอกให้เก็บอีกปีละหลายแสนเข้าไปอีก

แต่เชื่อเถอะค่ะ … ออมเสียตั้งแต่ตอนนี้ วันหนึ่งข้างหน้า ผลประกอบการจะแซงหน้าเงินต้นไปหลายเท่าตัว แล้วลูกก็จะได้ไม่พลาดโอกาสทางการศึกษา เพื่ออนาคตที่งดงามของลูกน้อยที่รักของคุณนะคะ

 

บทความโดย: สิริยากร พุกกะเวส มาร์ควอร์ท อดีตนางเอกและพิธีกร ปัจจุบันเป็นเจ้าของบริษัทบ้านอุ้ม สำนักพิมพ์โอโอเอ็ม และเลี้ยงหนูน้อยเมตตาอยู่ที่เมืองพอร์ตแลนด์ รัฐโอเรก้อน สหรัฐอเมริกา

ภาพ: Shutterstock