วันหนึ่งระหว่างผู้เขียนนั่งเล่นอยู่ที่สนามหลังบ้านกับลูกสาววัยไม่กี่เดือน เด็กชายอีไลจา ลูกชายของแจ๊คกี้ เพื่อนบ้านคนสวยของผู้เขียนก็แวะมาเกาะกำแพงคุยด้วยเพราะหลังบ้านเราติดกัน ผู้เขียนสังเกตมานานแล้วว่าหนูน้อยอีไลจา (อายุ 7 ขวบ) เป็นเด็กฉลาดเฉลียว ช่างสงสัย ช่างสังเกต ร่าเริง พูดจาฉะฉาน มีความเชื่อมั่นในตนเอง แต่ขณะเดียวกันก็สุภาพเรียบร้อยน่ารัก เวลาออกมาเล่นที่หลังบ้านแล้วเห็นผู้เขียน ก็มักจะทักทายพูดคุยด้วยเสมอ
บ่ายวันนั้นมีโอกาส ผู้เขียนจึงกล่าวชมหนูอีไลกับแจ๊คกี้ และบอกเธอว่าเลี้ยงลูกเก่งจัง แจ๊คกี้ยิ้มหวาน แล้วเล่าให้ผู้เขียนฟังว่าตอนอีไลเล็กๆ เธอมีโอกาสได้อ่านหนังสือเล่มหนึ่ง ซึ่งมีประโยชน์และมีหลักการเลี้ยงลูกที่เธอได้นำมาปรับใช้อยู่เสมอ ชื่อหนังสือว่า Your Self-Confident Baby : How to Encourage Your Child’s Natural Abilities เขียนโดยคุณ Magda Gerber ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้ง Resources for Infant Educarers (REI – ราย) องค์กรอิสระที่ให้ความรู้เกี่ยวกับการเลี้ยงดูเด็กตามปรัชญาของคุณแม็กด้า ซึ่งมีหลักการที่สำคัญที่สุดคือการเคารพและเชื่อในศักยภาพการเรียนรู้ของลูกตั้งแต่ยังเป็นทารกแรกเกิด โดยพ่อแม่เข้าไปแทรกแซงน้อยที่สุด เพื่อที่ลูกจะได้โตขึ้นเป็นคนที่มีความเคารพและเชื่อมั่นในตนเอง ผู้เขียนฟังแล้วก็รู้สึกสนใจอย่างมาก และได้เห็นผลงานเป็นหนูน้อยอีไลจาคนเก่งวิ่งไปมาให้เป็นที่ประจักษ์ จึงขอยืมหนังสือเล่มนั้นมาอ่านดูบ้าง
แนวคิดหลัก 2-3 ประการที่ผู้เขียนค้นพบจากหนังสือเล่มนั้นคือ การปฏิบัติต่อลูกน้อยเสมือนหนึ่งเขาเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมกับเรา ไม่ใช่เป็นเพียงเด็กเล็ก “ไม่รู้ภาษา” พ่อแม่จะตัดสินใจทำอะไรเมื่อไหร่ก็ได้โดยไม่ต้องบอกให้ลูกรู้ก่อนหรือไม่ได้เปิดโอกาสให้ลูกได้พยายามทำเอง
คุณแม็กด้ายกตัวอย่างถึงความพยายามแรกของทารกอย่างเช่นการกินนมตอนลูกเพิ่งเกิด ถ้าแม่เพียงวางลูกบนอกแล้วให้หนูน้อยหาหัวนมจนเจอและเริ่มต้นดูดนมด้วยตนเอง ย่อมต่างจากการเอาหัวนมใส่ปากลูก หรือกิจกรรมที่ทำบ่อยครั้งในแต่ละวันอย่างการเปลี่ยนผ้าอ้อม เราได้บอกลูกก่อนไหมว่ากำลังจะเกิดอะไรขึ้น หรือเพียงแต่จับลูกนอนแล้วเปลี่ยนให้เสร็จโดยไม่ได้พูดอะไร คุณแม็กด้าบอกว่า “The way we care for our babies is how they experience our love วิธีที่เราปฏิบัติกับลูกนั่นละคือวิธีที่พวกเขารับรู้ถึงความรักของเรา” หากพ่อแม่มองตาและพูดคุยเวลาที่ปฏิสัมพันธ์กับลูก พวกเขาย่อมรู้สึกว่าตัวเองมีค่าและมีความสำคัญ และนั่นเป็นพื้นฐานของความเคารพในตัวเองที่เริ่มต้นได้ตั้งแต่ลูกเกิด
อีกเรื่องหนึ่งที่คุณแม็กด้าเน้นมากคือ การคอย ลองนึกดูสิคะว่าในวันหนึ่งๆ เราปรารถนาดี “รีบ” เข้าไปช่วยลูกทำโน่นทำนี่บ่อยแค่ไหน คุณแม็กด้าบอกว่า “Observe more, do less. Do less, enjoy more. สังเกตให้มาก ทำให้น้อยเมื่อทำน้อย ก็จะสนุกขึ้นมาก”
สิ่งสำคัญคือคุณพ่อคุณแม่ต้องสร้างสภาพแวดล้อมที่ลูกจะเล่นเองได้อย่างปลอดภัย แล้วปล่อยให้ลูกได้เล่นและค้นพบสิ่งต่างๆ ด้วยตนเอง โดยพ่อแม่ไม่ต้องพยายามสอน หากแต่เพียงคอยหมั่นสังเกต ถ้าลูกเพลิดเพลินกับการได้เล่นตามลำพังก็ปล่อยแก แต่ถ้าลูกประสบปัญหาเล็กๆ น้อยๆ ที่ไม่ได้เป็นเรื่องอันตราย สิ่งที่ต้องทำคือเปิดโอกาสให้ลูกได้พยายามแก้ปัญหาด้วยตนเองก่อน ไม่ต้องรีบเข้าไปช่วย
ผู้เขียนพบว่าหลายครั้งที่ลูกสาวร้องให้ช่วยแล้วผู้เขียนบอกแกว่า “You can do it!” แกก็ทำได้จริงๆ แรกๆ ผู้เขียนต้องหักห้ามใจอย่างมากไม่ให้ตัวเองเข้าไปช่วยแต่พอทำบ่อยๆ เข้า ผู้เขียนก็เริ่มได้เห็นว่าลูกสาวสามารถทำสิ่งต่างๆ ได้เองจริงๆ หนูเมตตาก็ดูจะภาคภูมิใจมากเวลาแก้ปัญหาเล็กๆ น้อยๆ อย่างเปิดกล่องหรือแกะเชือกที่พันกันสำเร็จ และเริ่มร้องให้ช่วยน้อยลง เดี๋ยวนี้บางทีเวลาเมตตาร้อง “Help!” ผู้เขียนโผล่หน้าไปดู ยังไม่ทันถามว่าจะให้ช่วยอะไร คุณลูกสาวก็ชิงบอกตัวเองเสียก่อนแล้วว่า “I got this!”สรุปว่าเหนื่อยและหงุดหงิดน้อยลงด้วยกันทั้งแม่ทั้งลูก ยอดไปเลย
ประเด็นที่สำคัญและใหญ่กว่าเกี่ยวกับการคอย ก็คือเรื่องของพัฒนาการ คุณพ่อคุณแม่ยอมรับไหมล่ะคะว่าลึกๆ แล้วก็อยากให้ลูกตัวเองฉลาดและทำอะไรได้เร็วๆ แล้วก็เที่ยวหาอุปกรณ์เสริมต่างๆ ที่เขาว่าจะช่วยพัฒนาสมองของลูกแต่คุณแม็กด้าบอกว่าเด็กแต่ละคนนั้นจะพัฒนาตามความพร้อมของตนเอง ไม่ว่าจะเป็นการคว่ำ การนั่ง การคลาน การเดิน การพูด ฯลฯ พ่อแม่ไม่ควรจะเร่งให้ลูกทำสิ่งต่างๆ ก่อนที่แกจะพร้อมแล้วคิด (ไปเอง) ว่าลูกฉลาดหรือเก่งจังที่ทำอะไรได้ก่อนเด็กคนอื่นๆ ลองนึกดูสิคะว่าเราจับลูกคว่ำ จับลูกนั่งในเก้าอี้สำหรับเด็กเล็ก จับลูกใส่เครื่องช่วยเดิน จับมือพาลูกเดิน จับๆๆๆ เต็มไปหมด ทั้งที่จริงๆ แล้ววันหนึ่งลูกก็สามารถทำสิ่งเหล่านั้นได้เองโดยไม่ต้องมีเครื่องหรือมีคนช่วยเลยสมมตินะคะว่าคุณเป็นคนชอบเล่นกระโดดสูง แล้ววันหนึ่งมีโอกาสได้เลื่อนไม้กั้นเพื่อกระโดดให้สูงขึ้น คุณรู้ว่าฝึกฝนอีกไม่นานก็จะผ่านได้ คุณจะเลือกฝึกเองแล้วทำได้ด้วยความภูมิใจ หรือจะยอมมีคนมาบอกให้ฟังว่าต้องกระโดดอย่างไรแล้วอุ้มคุณกระโดดจนผ่าน ลูกเองก็คงรู้สึกอย่างเดียวกันไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไรต่างๆ ในชีวิตนะคะ ผู้เขียนไม่ได้หมายความว่าให้ปล่อยลูกทำอะไรเองตามลำพังเช่นกัน เพราะสิ่งสำคัญมากๆ อีกอย่างสำหรับลูกก็คือ การได้รู้ว่ามีคนคอยเฝ้าดู ให้กำลังใจ และพร้อมจะช่วยเหลือหากสิ่งต่างๆ ยากเกินกว่าจะรับมือไหว ความสำเร็จจะมีความหมายอะไรหากไม่มีคนที่รักร่วมฉลองด้วย จริงไหมล่ะคะ
ที่เล่ามาเป็นเพียงส่วนเล็กๆ ของปรัชญา REI ที่ผู้เขียนได้ใช้อยู่เสมอ และรู้สึกว่ามีผลดีต่อลูกสาวตัวน้อย ใครที่สนใจอยากหารายละเอียดเพิ่มเติม ลองเข้าไปอ่านดูในเว็บไซต์หรือในหนังสือหลายต่อหลายเล่มที่คุณแม็กด้าเขียนไว้ ถึงจะไม่ได้เห็นด้วยหรือนำมาใช้ได้ทั้งหมด แต่ก็น่าจะเป็นข้อมูลที่มีประโยชน์มากทีเดียวเลยล่ะค่ะ
บทความโดย: สิริยากร พุกกะเวส มาร์ควอร์ท อดีตนางเอกและพิธีกร ปัจจุบันเป็นเจ้าของบริษัทบ้านอุ้ม สำนักพิมพ์โอโอเอ็ม และเลี้ยงหนูน้อยเมตตาอยู่ที่เมืองพอร์ตแลนด์ รัฐโอเรก้อน สหรัฐอเมริกา
ภาพ: shutterstock