AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

[แม่อุ้ม-น้องเมตตา 10] Music Together สอนลูกพูดจาภาษาเพลง

Hello everybody, so glad to see you…

 

เสียงกีตาร์ดังขึ้น พร้อมกับเสียงร้องสดใสของคุณครู เป็นเพลงแสนจะคุ้นหูเราสองแม่ลูก และอีกหลายหมื่นครอบครัวทั่วโลก ลูกสาววัยขวบครึ่งของผู้เขียนโยกตัวไปมาพลางหันหน้ามายิ้มแฉ่งใส่แม่

 

การวิจัยหลายชิ้นยืนยันว่าคนส่วนใหญ่เกิดมาด้วยศักยภาพทางดนตรีระดับที่จะเล่นในวงซิมโฟนีออเคสตร้าได้! แต่ทำไมในความเป็นจริงกลับกลายเป็นว่าคนส่วนใหญ่เล่นดนตรีไม่ได้ หรือบางคนร้องเพลงยังเพี้ยนแถมคร่อมจังหวะอีกต่างหาก

 

นั่นก็เพราะเราไม่ได้รับการพัฒนาและส่งเสริมความสามารถในการ “พูดภาษาดนตรี” ตั้งแต่ยังเล็ก

 

ทีแรกผู้เขียนก็ไม่รู้เรื่องนี้ เพียงแต่อยากหากิจกรรมสนุกๆ ทำกับลูกสาวตัวน้อย แล้วขับรถผ่านป้าย Music Together หลายแห่งในพอร์ตแลนด์ และเมื่อลองถามเพื่อนๆ แม่ด้วยกัน ก็พบว่าหลายคนพาลูกไปเข้าคลาสแล้วสนุกมาก จึงสมัครไปเรียนบ้าง ผู้เขียนพบว่านอกจากจะสนุกแล้ว ยังได้ประโยชน์มากมายเกินกว่าที่จะคาดคิดไว้เสียอีก

 

Music Together เริ่มต้นขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1987 โดยคุณ Kenneth Guilmartin คุณพ่อและคุณครูสอนดนตรีชาวอเมริกันที่เห็นความสำคัญของการส่งเสริมพัฒนาการด้านดนตรีตั้งแต่แรกเกิด เพราะช่วงเวลา 3 ปีแรกของชีวิตนั้นเป็นช่วงที่เซลล์สมองจำนวนมหาศาลของลูกน้อยจะสร้างการเชื่อมโยงต่อกัน ผ่านการสังเกตและเรียนรู้จากสิ่งแวดล้อมรอบตัว ถ้าเด็กได้อยู่ในสภาพแวดล้อมของดนตรีที่เหมาะสมและมีคุณภาพ ได้เห็นแบบอย่างจากบุคคลสำคัญในชีวิตอย่างพ่อแม่หรือคนใกล้ชิด ย่อมจะทำให้เด็กคนนั้นสามารถเริ่มต้น “สื่อสารภาษาดนตรี” ซึ่งหมายถึงร้องเพลงตามโน้ตและขยับตัวตามจังหวะได้เมื่ออายุราว 3 ขวบ และสามารถพัฒนาทักษะด้านดนตรีที่ซับซ้อนขึ้นได้เมื่อโตขึ้น

 

แต่ละเทอม เด็กและผู้ปกครองจะได้มาเข้าคลาสร่วมกันประมาณ 9-10 สัปดาห์ สัปดาห์ละ 45 นาที แต่ละคลาสมีประมาณ 10-12 ครอบครัว มีคุณครู 1 คนทำหน้าที่เล่นดนตรี (ส่วนใหญ่จะเป็นกีตาร์) นำร้องเพลงและชักชวนให้เด็กและผู้ปกครองทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกัน อย่างเช่น เต้นรำ โบกผ้า เล่นเครื่องดนตรีสำหรับเด็กเล็กหลากหลายชนิด และที่สำคัญที่สุดคือสร้างบรรยากาศโดยรวมให้สนุกสนาน ผ่อนคลาย ปราศจากความคาดหวังและความกดดัน ผู้เขียนเองไปเข้าคลาสครั้งแรกก็ออกจะเขินๆ ไม่ค่อยกล้าร้องกล้าเต้น แต่เมื่อเห็นคุณครูและผู้ปกครองคนอื่นๆ สนุกกัน ความกลัวผิดพลาดหรือกลัวจะทำไม่ได้ดีก็หายไป กลายเป็นว่าร้องไปเต้นไปหัวเราะไปโดยไม่รู้ตัว ลูกสาวผู้เขียนเห็นแม่สนุกอย่างนั้นก็เริ่มทำตามบ้าง เพียงไม่นานเราสองคนแม่ลูกก็ตั้งตารอคอยให้ถึงวันที่จะได้ไป “มิวชี้กกก… แดนชิ้ง.. เฟร้น…” (ร้องเพลง/เต้น/เล่นกับเพื่อนๆ) ตามที่เจ้าลูกสาววัยขวบครึ่งของผู้เขียนตั้งชื่อให้ใหม่อย่างน่าเอ็นดู

 

หลายคนอาจจะสงสัยว่า เปิดเพลงหรือร้องเพลง/เล่นดนตรีให้ลูกฟังเองไม่ได้หรืออย่างไร ทำไมต้องไปเข้าคลาสให้เสียสตางค์ด้วย (คลาสค่อนข้างแพงทีเดียว เทอมละประมาณ 5,000 บาท) ขอตอบว่าการที่พ่อแม่มีความสนใจในดนตรีนั้นดีต่อลูกแน่นอนค่ะ ยิ่งถ้าได้เล่นดนตรีหรือร้องเพลงกับลูกด้วยก็ยิ่งดีกว่าเปิดให้ฟังจากวิทยุหรือคอมพิวเตอร์เป็นอย่างมาก เพราะเด็กจะได้เห็นทั้งภาพและเสียง (คือพ่อแม่ขยับปากเพื่อเปล่งเสียงออกมา) ได้เห็นตัวอย่างการเป็นผู้ “สร้าง” เสียงดนตรี ไม่ใช่เป็นเพียงแค่ผู้ฟัง เพียงแต่คุณพ่อคุณแม่จะต้องมีความสม่ำเสมอ (คือขยันเล่นกับลูก) และใส่ใจกับเนื้อหาและคุณภาพของดนตรีด้วย เพื่อให้พัฒนาการของลูกเป็นไปได้อย่างดี

 

ผู้เขียนพาลูกไปเข้าคลาส Music Together มาแล้ว 5 เทอม ตั้งแต่ลูกยังอายุแค่ 6 เดือนจนตอนนี้ขวบครึ่ง เริ่มจากคลาสสำหรับเด็กแรกเกิดแล้วย้ายมาเป็นคลาสคละอายุ (เด็กโตสุดคือ 6 ขวบ) จึงค่อนข้างแน่ใจว่าการไปเข้าคลาสที่ผ่านการวิจัยและออกแบบมาสำหรับเด็กโดยเฉพาะ ได้ร้องเพลงที่แต่งขึ้นหรือเรียบเรียงใหม่ให้เหมาะกับพัฒนาการของเด็ก (คือมีเนื้อหา จังหวะ และรูปแบบทางดนตรีที่หลากหลาย เป็นเพลงที่มาจากทั่วโลก ร้องด้วยน้ำเสียงสนุกสนานโดยนักร้องทั้งเด็กและผู้ใหญ่) ได้เจอคุณครูและเพื่อนๆ คนอื่นเป็นประจำ ส่งผลดีจริงๆ ต่อลูกสาวและตัวผู้เขียนเองด้วย ไม่เพียงแต่หนูเมตตาจะรักเสียงดนตรีและเริ่มร้องเพลงสลับกับเต้นตามจังหวะได้บ้างแล้ว ผู้เขียนเองก็ไปหยิบกีตาร์มาปัดฝุ่นแล้วเริ่มต้นเล่นใหม่อย่างจริงจังก็เพราะ Music Together นี่เอง

 

ข้อดีอีกอย่างที่เห็นก็คือลูกสาวผู้เขียนพูดได้เยอะมาก (เท่าที่นับดูคือเกือบ 200 คำ และเริ่มพูดเป็นประโยคแล้ว) ถึงแม้จะไม่ใช่เพราะไปคลาส Music Together เพียงอย่างเดียว แต่ผู้เขียนก็ไปอ่านเจอมาว่า เวลาที่คนเราร้องเพลงหรือเล่นดนตรีนั้น สมองส่วนที่เกี่ยวข้องกับการพูดจะได้รับการกระตุ้นและพัฒนาอย่างมาก ก็น่าจะเป็นปัจจัยหนึ่งที่ช่วยส่งเสริมให้เด็กๆ สื่อสารได้ดี และไม่ใช่เพียงแค่เรื่องการพูดเท่านั้น หากแต่ยังเป็นพื้นฐานสำคัญสำหรับพัฒนาการด้านอื่นเช่น ความจำ ความสามารถในการตัดสินใจ ความยืดหยุ่น ฯลฯ ซึ่งเป็นคุณสมบัติของผู้บริหารที่ดีอีกด้วย มีประโยชน์หลายอย่างจริงๆ เลยนะคะ

 

คุณพ่อคุณแม่ที่รู้สึกว่าตัวเองไม่มีพรสวรรค์หรือความสามารถทางดนตรีไม่ต้องท้อใจนะคะ ผู้เขียนเองก็เคยรู้สึกอย่างนั้นมาก่อนเหมือนกัน แต่หลังจากได้ไปเข้าคลาสแล้วก็พบว่า สิ่งสำคัญไม่ได้อยู่ที่เราต้องร้องเพลงเพราะหรือเล่นดนตรีเก่งฉกาจ หากแต่อยู่ที่ความสุขจากการได้สร้างเสียงดนตรีซึ่งเริ่มต้นจากใจ แล้วความสุขนั้นจะแผ่กระจายเป็นการฮัม เป็นเสียงเพลง การขยับร่างกาย ตบมือ เคาะจังหวะง่ายๆ หรืออะไรก็ตามที่สื่อสารไปยังลูกน้อยด้วยความมั่นใจ มองตากลมแป๋วแหววของลูกแล้วคุณจะรู้ว่าเขารอการชี้นำจากเรา มาร่วมกันชี้นำเขาไปบนเส้นทางที่แสนไพเราะและเต็มไปด้วยเสียงดนตรีกันดีไหมล่ะคะ

 

บทความโดย: สิริยากร พุกกะเวส มาร์ควอร์ท อดีตนางเอกและพิธีกร ปัจจุบันเป็นเจ้าของบริษัทบ้านอุ้ม สำนักพิมพ์โอโอเอ็ม และเลี้ยงหนูน้อยเมตตาอยู่ที่เมืองพอร์ตแลนด์ รัฐโอเรก้อน สหรัฐอเมริกา

ภาพ: keawkoistudio