[แม่อุ้ม-น้องเมตตา 07] Baby-led Weaning หนูกินเองได้จ้ะ... แม่ไม่ต้องป้อน (ตอนที่ 2) - Amarin Baby & Kids

[แม่อุ้ม-น้องเมตตา 07] Baby-led Weaning หนูกินเองได้จ้ะ… แม่ไม่ต้องป้อน (ตอนที่ 2)

Alternative Textaccount_circle
event

คราวที่แล้วเล่าให้ฟังถึงแนวคิดและข้อดีหลากหลายประการของการหย่านม และหัดให้ลูกเริ่มกินอาหารแบบค่อยเป็นค่อยไป หรือที่เรียกว่า Baby-led Weaning* ไปแล้ว คราวนี้จะมาเล่าให้ฟังถึงขั้นตอนและข้อควรระวังถ้าหากสนใจจะเริ่มต้นวิธีการนี้กันนะคะ

 

ก่อนอื่นต้องมาดูกันว่าลูกน้อยพร้อมที่จะเริ่มต้นกินอาหารหรือยัง สัญญาณที่สำคัญสองสามอย่างก็คือ ลูกเริ่มนั่งเองได้โดยไม่ต้องมีคนคอยจับ (ส่วนใหญ่คือประมาณ 6 เดือน ซึ่งเป็นเวลาที่ลำไส้และภูมิต้านทานของลูกพร้อมแล้วสำหรับอาหารอื่นๆ ที่ไม่ใช่นมแม่) เริ่มหยิบของต่างๆ ใส่ปาก และเมื่อพามาที่โต๊ะกินข้าวก็พยายามหยิบอาหารจากจานพ่อแม่ ถ้าลูกน้อยทำสิ่งต่างๆ ที่ว่ามานี้ ก็แสดงว่าแกพร้อมแล้วสำหรับการเริ่มต้นหัดกินอาหารเหมือนผู้ใหญ่

 

ทีนี้จะให้กินอะไรดี… แรกๆ นั้น ให้ผักหรือผลไม้ที่หั่นเป็นชิ้นค่อนข้างใหญ่ หรือเป็นแท่งยาวๆ จะเหมาะที่สุดค่ะถ้าผักค่อนข้างแข็ง ก็ควรจะต้มหรือนึ่งให้นิ่มพอที่ลูกจะเคี้ยวได้ (ไม่จำเป็นต้องมีฟันนะคะ ลูกสาวผู้เขียนกัดและเคี้ยวด้วยเหงือกเก่งมากตั้งแต่ฟันยังไม่ขึ้นเลย) เหตุผลก็คือ เด็กเล็กๆ นั้นยังใช้มือไม่เก่ง และยังใช้นิ้วโป้งกับนิ้วชี้หยิบของชิ้นเล็กๆ (หรือที่เรียกว่า pincer grasp) ไม่ได้ เพราะฉะนั้นก็ต้องให้อาหารที่ชิ้นยาวกว่ากำปั้น เพื่อให้แกแทะส่วนที่ยื่นออกมา

 

ผู้เขียนพบว่าช่วงแรกๆ ลูกสาวชอบผักผลไม้นิ่มๆ อย่างกล้วย มะม่วง มะละกอ กีวี่ ลูกแพร์ อะโวคาโด และบร็อคโคลี่กับแครอทนึ่งมากเป็นพิเศษ ตอนแรกๆ แกอาจจะยังไม่ค่อยเข้าใจว่าอาหารคือสิ่งที่กินได้ จึงเพียงแต่แทะเล่น แต่หลังจากเริ่มเข้าใจว่า อ้อ… เจ้าสิ่งที่มีรสชาติ กลิ่น และผิวสัมผัสแบบนี้กลืนลงคอได้ด้วยนะ แกก็เริ่มเคี้ยวและกลืน (ผู้เขียนรู้ได้อย่างไรเหรอคะว่าลูกสาวกินอาหารอะไรเข้าไปบ้าง …ก็หลักฐานมันออกมาในผ้าอ้อม! เห็นกันเป็นชิ้นๆ เลยล่ะค่ะ)

 

หลังจากนั้นก็เริ่มสนุกทั้งลูกและพ่อแม่ แม่คิดว่าจะทำอะไรให้ลูกลองดีวันนี้ ส่วนลูกก็มีอะไรใหม่ๆ มาให้ได้เล่นและเรียนรู้ ในขณะที่คุณพ่อนั่งดูเป็นกองเชียร์คนสำคัญ ลูกสาวผู้เขียนใช้เวลาไม่กี่สัปดาห์ก็กินเก่งมาก และกล้ากินอะไรใหม่ๆ จนเรียกว่าแกแทบไม่เคยปฏิเสธอาหารเลย ผู้เขียนลองนั่งนึกคร่าวๆ ดู ตอนลูกสาวอายุ 1 ขวบ แกได้ลองกินอาหารไปแล้วหลายร้อยอย่าง! น่าทึ่งจริงๆ เลยนะคะ และที่สำคัญคือเวลากินข้าวเป็นเวลาที่ทุกคนรอคอย เรานั่งลงกินด้วยกันพ่อแม่ลูก ไม่มีการเหน็ดเหนื่อยตามป้อนหรือกลุ้มใจเพราะลูกไม่ยอมกินโน่นกินนี่เหมือนที่ผู้เขียนเคยเห็นมา

 

อาหารที่ให้ช่วงแรกๆ นั้นต้องไม่ใส่เกลือและน้ำตาล หรือใส่ในปริมาณน้อยมาก ใครอยากได้รสชาติเพิ่มก็เติมเอาเองที่โต๊ะ แรกๆ ผู้เขียนต้องปรับวิธีทำกับข้าวอยู่พอสมควร แต่ไม่นานก็เริ่มชินและพบว่าวิธีนี้ทำให้ทั้งครอบครัวกินเค็มและหวานน้อยลงไปโดยปริยาย และหลังจากลูกกินเก่งขึ้นก็สามารถให้อาหารที่มีรสชาติหลากหลายขึ้นได้ หรือกินอะไรก็ตามที่ครอบครัวกินกันในมื้อนั้น แต่ก็มีอาหารบางชนิดที่ต้องหลีกเลี่ยงจนกว่าหนูน้อยจะโตเกิน 1 ขวบ เช่น ถั่วต่างๆ น้ำผึ้ง อาหารเผ็ดๆ อาหารทะเล ไข่ที่ไม่สุก และถ้าครอบครัวมีประวัติแพ้อะไร ก็ยิ่งต้องระวังอาหารชนิดนั้นเป็นพิเศษ เอาเป็นว่าคอยสังเกตแล้วกันค่ะ ว่าลูกกินอาหารแล้วมีผื่นขึ้นรอบๆ ริมฝีปากและตามส่วนต่างๆ ของร่างกายหรือไม่ ถ้ามีก็ควรงดเว้นอาหารชนิดนั้น รอจนลูกโตขึ้นแล้วค่อยลองใหม่

 

สิ่งสำคัญอีกอย่างก็คือ เราต้องนั่งอยู่ด้วยเพื่อคอยช่วยเหลือและสังเกตการกินของลูก แต่ต้องให้ลูกเป็นคนหยิบอาหารเข้าปากเอง ห้ามป้อน ทีแรกผู้เขียนได้ยินอย่างนี้ก็ไม่ค่อยแน่ใจว่าจะสำเร็จหรือไม่เพราะลูกยังเล็กอยู่ แต่พอเอาเข้าจริงๆ แล้วก็พบว่าได้ผลดีและปลอดภัยกว่าด้วย เพราะเมื่อเด็กได้เป็นผู้ควบคุมสิ่งที่จะเข้าปาก แกก็จะระมัดระวังและค่อยๆ เรียนรู้ แรกๆ อาจจะเลอะเทอะและไม่ค่อยได้กินจริงจังมากนัก แต่ถ้าคุณพ่อคุณแม่ใจเย็น ไม่เข้าไปแทรกแซงกระบวนการเรียนรู้ของลูก ไม่นานก็จะได้เห็นพัฒนาการที่น่าสนใจมากๆ ได้เห็นว่าเขาพร้อมสำหรับอาหารใหม่ๆ หรือยังและชอบไม่ชอบอะไรบ้าง

 

ตัวอย่างเช่น ผู้เขียนพบว่าตอนแรกๆ ถ้าหั่นผลไม้ด้วยมีดที่มีฟันหยักๆ ลูกจะหยิบได้ง่ายกว่าชิ้นเรียบๆ หรือเมื่อแกเริ่มหยิบอาหารด้วยนิ้วโป้งกับนิ้วชี้ได้เก่งแล้ว ก็สามารถให้อาหารชิ้นเล็กๆ อย่างถั่วลันเตาหรือลูกเกดได้ เพราะจะพอดีกับช่วงที่แกกลืนได้เก่งแล้ว ไม่ต้องกลัวติดคอ หรือเมื่อถึงช่วงที่ลูกเริ่มต้นเลียนแบบพ่อแม่ ก็ได้เวลาหาช้อนส้อมสำหรับเด็กให้แกลองตักอาหารดูบ้าง เป็นต้น

 

ผู้เขียนเชื่อว่าการให้โอกาสลูกแบบนี้ เป็นการฝึกใจของคุณพ่อคุณแม่ ไม่ให้พยายามหยิบจับทำอะไรแทนลูกไปเสียหมด หากเราให้โอกาสลูกน้อยได้ค้นพบความสามารถและความสนใจของตัวเองตั้งแต่แรกเริ่ม ก็จะทำให้เขารู้จักเคารพและมีความภาคภูมิใจในตัวเอง ซึ่งจะเป็นพื้นฐานสำคัญของชีวิตในเรื่องอื่นๆ ต่อไปค่ะ

 

คุณพ่อคุณแม่ท่านไหนที่สนใจเรื่องนี้อย่างจริงจัง จะลองสั่งหนังสือมาอ่าน หาข้อมูลเพิ่มเติมทางอินเทอร์เน็ตหรือดูวิดีโอของหนูน้อยคนอื่นๆ ทาง YouTube (ลองเสิร์ชคำว่า Baby Led Weaning จะได้เห็นเด็กเล็กๆ หม่ำอะไรที่เรานึกไม่ถึงมาก่อนเลยล่ะค่ะ) เพื่อเป็นแนวทางก่อนก็ได้นะคะ รับรองว่าจะได้เปิดโลกทัศน์ใหม่เกี่ยวกับการเริ่มต้นกินอาหารของลูกน้อย ที่จะทำให้สนุกสนานกันได้ทั้งครอบครัวจริงๆ ค่ะ ผู้เขียนขอยืนยัน

 

* Baby-led Weaning เป็นแนวความคิดของคุณ Gill Rapley อดีตพยาบาลผดุงครรภ์ชาวอังกฤษ ที่เสนอว่าเด็กเล็กที่เริ่มนั่งด้วยตัวเองได้ (ส่วนใหญ่จะอายุประมาณ 6 เดือน) ควรจะมีส่วนร่วมในกระบวนการหย่านม โดยหัดหยิบจับกินอาหารเอง ไม่ต้องมีคนป้อน ควบคู่ไปกับการกินนมแม่ เมื่อเด็กกินอาหารเองได้มากขึ้น ก็จะค่อยๆ กินนมแม่น้อยลงจนหยุดกินไปเองในที่สุด ซึ่งเป็นวิธีการที่เป็นธรรมชาติและสอดคล้องกับพัฒนาการของลูก มากกว่าการป้อนอาหารบด หรือการที่ครอบครัวเป็นคนตัดสินใจแทนเด็ก ว่าจะหย่านมเมื่อไหร่

 
บทความโดย: สิริยากร พุกกะเวส มาร์ควอร์ท อดีตนางเอกและพิธีกร ปัจจุบันเป็นเจ้าของบริษัทบ้านอุ้ม สำนักพิมพ์โอโอเอ็ม และเลี้ยงหนูน้อยเมตตาอยู่ที่เมืองพอร์ตแลนด์ รัฐโอเรก้อน สหรัฐอเมริกา

ภาพ: กองบรรณาธิการนิตยสารเรียลพาเรนติ้ง

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up