คุณคิดว่าเด็กที่เกิดมาจะเริ่มจำความได้ตอนอายุเท่าไหร่
ผู้เขียนเองลองนึกย้อนไปถึงตัวเองตอนเป็นตอนเด็ก เรื่องราวที่จำได้ก็น่าจะเริ่มต้นที่ประมาณสามสี่ขวบ ลองถามคนรอบๆ ตัวดูก็ได้คำตอบใกล้เคียงกัน
แต่เดวิด แชมเบอร์เลนไม่คิดเช่นนั้น… เขาบอกว่าเราจำความได้ตั้งแต่ยังอยู่ในท้องแม่ และที่สำคัญจำประสบการณ์ในระหว่างคลอดและหลังคลอดได้ด้วย !
เดวิด แชมเบอร์เลน (David Chamberlain) เป็นนักจิตวิทยาชาวอเมริกัน ในปี ค.ศ. 1974 เขาเริ่มใช้การสะกดจิตรักษาคนไข้และพบว่าอาการเจ็บป่วยทางจิตใจหลายอย่างมีจุดเริ่มต้นมาจากในท้องแม่และระหว่างคลอด และส่งผลระยะยาวไปจนกระทั่งโต (หรือบางครั้งตลอดชีวิต) ในปี 1980 เขาจึงทำการวิจัยโดยใช้การสะกดจิตแม่และลูก 10 คู่แยกกัน (ลูกๆ มีอายุตั้งแต่ 9-23 ปี) โดยให้แต่ละคนระลึกย้อนไปถึงความทรงจำก่อน ระหว่าง และหลังคลอด ผลที่ได้รับเป็นที่น่าอัศจรรย์มาก เพราะรายละเอียดของเรื่องราวระหว่างแม่ลูกช่างตรงกันแทบไม่ผิดเพี้ยน ทั้งที่แม่เองไม่เคยเล่าเรื่องเหล่านั้นให้ลูกฟังเลย สิ่งที่น่าสนใจคือเด็กส่วนใหญ่ล้วนพูดถึงแสงที่สว่างจ้า การจับแบบไม่ทะนุถนอม เตียงเย็นๆ และการต้องถูกแยกจากแม่ไปอยู่ในเนิร์สเซอรี่ทันทีหลังคลอดว่าเป็นประสบการณ์ที่น่ากลัวและไม่สนุกเอาเสียเลย
ในหนังสือ Babies Remember Birth and Other Extraordinary Scientific Discoveries about the Mind and Personality of Your Newborn ของเดวิดนั้น รวบรวมเรื่องราวที่น่าสนใจจากงานวิจัยดังกล่าว และมีการถอดความจากสิ่งที่ผู้เข้ารับการทดลองเล่าไว้ด้วย
หลายคนอธิบายถึงแรงบีบรัดจากรอบกาย แสงสว่างรำไรที่ปลายทาง รายละเอียดของห้องคลอด หมอ พยาบาล มิดไวฟ์ และสิ่งที่ได้ยินเมื่อถือกำเนิดออกมาสู่โลก หญิงสาวคนหนึ่งที่รู้สึกเสมอว่าตัวเองไร้ค่าเล่าว่า สิ่งแรกที่เธอได้ยินพ่อพูดในห้องคลอดก็คือ “เด็กไม่สำคัญ…ช่วยแม่ก่อน” เพราะแม่ของเธอตกเลือดมาก และตัวเธอเองก็ชีพจรเต้นช้ามากจนหมอนึกว่าจะไม่รอด ส่วนอีกหลายๆ คนที่รู้สึกแย่กับตัวเองนั้น ก็เป็นผลมาจากปฏิกิริยาที่คนรอบตัว (โดยเฉพาะแม่และพ่อ) ที่ได้รับเมื่อคลอดออกมา ไม่ว่าจะเป็นความผิดหวังที่ไม่ได้เป็นเพศที่พ่อแม่ต้องการ หรือสิ่งที่ได้ยินผู้ใหญ่พูดกันเล่นๆ อย่างเช่น “ตัวเล็ก/เหี่ยวจัง ท่าจะไม่แข็งแรง” “หูมีขนด้วยตลกจริง” “กว่าจะออกมาได้ทำเอาแม่แทบตาย โตขึ้นต้องดื้อแน่ๆ” ฯลฯ
ในทางกลับกัน เด็กที่ได้รับความรักความอบอุ่นและการปฏิบัติด้วยอย่างอ่อนโยนตั้งแต่อยู่ในท้องจนกระทั่งคลอดออกมานั้น ต่างก็มีทัศนคติที่ดีต่อตนเองและต่อคนรอบข้าง หญิงสาววัยรุ่นคนหนึ่งจำได้ถึงประสบการณ์แสนสุขในเนิร์สเซอรี่ เพราะแม่ชีที่ดูแลเธอนั้นร้องเพลงและอุ้มเธอให้นมอย่างเบิกบาน
หลายๆ คนพูดตรงกันว่าตนเองเข้าใจสิ่งที่ผู้ใหญ่พูดกันทั้งหมด และไม่เข้าใจว่าทำไมถึงถูกปฏิบัติด้วยราวกับตนเองไม่รู้ประสาและไม่มีความรู้สึก ครั้นพอพยายามจะร้องบอกว่าอยากไปอยู่กับแม่ ไม่อยากอยู่ร่วมกับคนแปลกหน้ามากมาย อยากให้คนอุ้ม ไม่อยากถูกห่อผ้าแน่นๆ หิว กลัว เจ็บ ฯลฯ ก็กลับไม่มีคนสนใจเสียอีก
เดวิดบอกว่าความทรงจำเหล่านี้จะยังแจ่มชัดมากจนกระทั่งเด็กอายุประมาณ 2 ขวบ และหากไม่ได้รับการสนใจก็จะถูกเก็บไปไว้ในจิตใต้สำนึก เด็กหลายๆ คนเมื่อเริ่มพูดได้ สิ่งแรกๆ ที่เด็กอยากจะพูดถึงก็คือเรื่องเกี่ยวกับตอนคลอดนี่เอง ถ้าหากพ่อแม่สนใจก็ให้ลองดูตอนที่ลูกกำลังสบายๆ แล้วถามเล่นๆ ดูว่า “หนูจำตอนที่เกิดมาได้ไหมจ๊ะ” อาจจะได้ฟังอะไรที่น่าสนใจก็ได้ (เด็กอาจจะยังมีคลังคำจำกัด จึงจะใช้กิริยาท่าทางประกอบด้วย)
ลูกสาวผู้เขียนยังพูดไม่ได้ ผู้เขียนก็เลยยังไม่ได้ลองถามหรือมีประสบการณ์ตรงเกี่ยวกับเรื่องนี้ แต่อย่างน้อยก็ดีใจว่าในระหว่างคลอดมีแต่คำพูดให้กำลังใจ และเมื่อลูกคลอดออกมาก็เป็นช่วงเวลาที่เบิกบาน เมื่อวันหนึ่งที่หนูเมตตาแกพูดได้ เราคงจะได้ฟังอะไรสนุกๆ กันบ้างไม่มากก็น้อย
ใครที่เคยมีประสบการณ์ “หนูจำได้” จากลูกน้อย จะส่งเรื่องราวมาแบ่งปันกันก็ดีนะคะ ส่วนใครที่กำลังจะเป็นคุณแม่และคุณพ่อ ฟังเรื่องที่เล่ามาแล้ว จะเชื่อหรือไม่เชื่อก็อยู่ที่วิจารณญาณของแต่ละท่านนะคะ แต่อย่างไรก็ตามประสบการณ์ที่ดีงามในระหว่างคลอดและหลังคลอดนั้นย่อมส่งผลดีต่อหนูน้อยในระยะยาวแน่ๆ
พูดแต่สิ่งที่ดีๆ ต่อกัน อุ้ม กอดและใช้เวลาอยู่กับลูกเยอะๆ เถอะค่ะ เขาจะได้โตขึ้นมาเป็นเด็กดีมีแต่ความรักความมั่นคงในจิตใจ
บทความโดย: สิริยากร พุกกะเวส มาร์ควอร์ท อดีตนางเอกและพิธีกร ปัจจุบันเป็นเจ้าของบริษัทบ้านอุ้ม สำนักพิมพ์โอโอเอ็ม และเลี้ยงหนูน้อยเมตตาอยู่ที่เมืองพอร์ตแลนด์ รัฐโอเรก้อน สหรัฐอเมริกา
ภาพ: shutterstock