AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

[Mom diary แม่โอ] แม้ผิดหวัง ก็ยังเรียนรู้

หากมีพรวิเศษ เชื่อว่าพ่อแม่ทุกคนคงอยากขอให้ลูก “มีความสุขสมหวังในชีวิต” กันทั้งนั้น แต่ในความเป็นจริง เรารู้ว่าชีวิตต้องถูกแต่งแต้มด้วยความสมหวังและความผิดหวังคละเคล้ากันไป การทำให้ชีวิตลูกมีความสุขไม่ได้แปลว่าต้องพยายาม “ปัดเป่าไล่ความผิดหวัง”  แต่เราต้องเติมพลังให้ลูก “ยอมรับความผิดหวัง” อย่างปกติสุข ต่างหากค่ะ

 

เมื่อไหร่ก็ตามที่ลูกเดินคอตก ห่อฝ่อกับเรื่องใดมาก็ตาม สิ่งแรกที่ลูกอยากได้รับ ไม่ใช่ “คำปลอบใจ” แต่เป็น ใครก็ได้ที่จะ “รับฟัง” ความรู้สึกห่อเหี่ยว ผิดหวังของเขา… ไม่นานมานี้เปรมกลับจากโรงเรียนและเล่าว่า เขาไม่ผ่านรอบสองของการประกวดสิ่งประดิษฐ์ แทนที่จะพูดกับลูกว่า “ไม่เป็นไร อย่าเสียใจเลย” ดิฉันเลือกที่จะถามลูกว่า “เสียดายใช่ไหม” (ก็หน้าลูกฟ้องสุดๆเลยว่าเสียดายตั๋วรางวัลไปกลับประเทศญี่ปุ่นขนาดไหน!) ตอนแรกเปรมบอกว่า “ไม่เป็นไรหรอก ไม่คิดว่าจะเข้ารอบอยู่แล้ว” ดิฉันจึงพูดเรียบๆว่า “เรามุ่งมั่นกับสิ่งนี้มาก พอไม่ได้ก็ผิดหวังเป็นเรื่องธรรมดา” เปรมจึงรู้สึกว่า อาการเซ็งๆนี่ก็ปกติสินะ และเริ่มบรรยายให้ฟังว่า รู้สึกอย่างไร และเสียดายขนาดไหน…

เคล็ดลับการฟังก็คือ ไม่แทรกความรู้สึกของลูกด้วย “คำปลอบโยน” เพราะคำปลอบใจในจังหวะนี้ ไม่ต่างจากคำพูดว่า “ลูกไม่ควรเสียใจ” หรือ “ลูกอ่อนแอมากที่เสียใจ” ระหว่างเปรมเล่า ดิฉันจึงทำตัวเหมือนเพื่อนรักนั่งฟังเพื่อนสนิทบรรยายความเศร้ายามอกหัก! ดิฉันไม่สอนอะไรลูกในตอนนี้ เพราะคำที่ลูกอยากได้ยินก็คือ “อื้ม มันน่าเสียดายเนอะ”…

 

ข้อดีสุดๆของการรับฟังโดยไม่แทรกแซงความรู้สึกนึกคิดของลูกก็คือ “ลูกจะย่อยเหตุการณ์ผิดหวังนั้นด้วยตัวเอง ”แม้เราอาจรู้ว่า สิ่งใดเป็นสาเหตุทำให้ลูกต้องผิดหวัง แต่คำแนะนำผิดจังหวะของเรามีแต่จะทำให้ลูกเรียนรู้ว่า “เฮ้อ… ผิดหวังกับเรื่องนี้ก็แย่พอแระ ยังมาโดนทับถมเพิ่มอีก คราวหน้าไม่เล่าแล้ว! แง้…”

ดิฉันจึงปล่อยให้เปรมเล่าไปเรื่อยๆ หลังระบายความในใจหมดแล้ว เปรมจึงพูดขึ้นมาเองว่า “เสียดายจังตอนพรีเซนต์งาน ถ้าเปรมไม่ลืมหยิบอุปกรณ์อีกชิ้นไปนะ เปรมน่าจะเข้ารอบ” ตอนได้ยินลูกพูด ดิฉันรู้สึกคุ้มค่ามาก ที่กัดฟันไม่ชิงสอนลูกเสียก่อน (ฮ่าๆๆ) เพราะหลังระบาย “อารมณ์” ทิ้งไปหมดแล้ว สิ่งที่เหลืออยู่ก็คือ “เหตุผล” ที่ทำให้ต้องเจอกับความผิดหวังนั่นเอง… นี่คือ “บทเรียน” อันมีค่าที่เขาได้เรียนรู้ด้วยตัวเอง เขาจึงจะเต็มใจใช้บทเรียนนี้ “สอนตัวเอง” ในอนาคตค่ะ

 

ตอนเรียนปริญญาตรี ดิฉันได้เอเกือบทุกวิชา พอได้บีก็แอบผิดหวังเล็กๆ เพราะชินที่จะ “ทำทุกอย่างได้ดั่งใจหวัง”จนกระทั่ง… เทอมแรกของการเรียนปริญญาโท ดิฉันสอบตก! ปฏิกิริยาแรกต่อความผิดหวังก็คือ นั่ง “หัวเราะอยู่คนเดียว” นานกว่าสองนาที! เพราะดิฉันเรียนรู้แล้วว่า “เออ! หัดพลาดซะบ้าง! ชีวิตมันต้องหลากหลาย!” ฮ่าๆๆ… ตั้งแต่นั้นมา จึงไม่ขยาดกับความผิดหวัง เอ้อ! มาสิ เจอกันก็ทักทายกัน คุยกันพอหอมปากหอมคอว่า ผิดหวังครั้งนี้หน้าตาเป็นไงจ๊ะ จากนั้นก็โบกมือบ๊ายบายกันไปซะ เพราะชีวิตนี้มีอะไรสนุกๆ ให้ทำอีกเยอะ!

ข่าวเศร้าเกี่ยวกับเด็กวัยรุ่นที่ผิดหวังแล้วทำร้ายตัวเองหรือคนในครอบครัว จึงเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่ชัดเจนว่า หากเราไม่ยอมรับความผิดหวัง และเห็นความผิดหวังเป็นศัตรูหรือสิ่งน่ารังเกียจ เราจะเลือกแก้ไขปัญหาด้วยการผลักไสความผิดหวังออกไป ซึ่งจริงๆแล้ว มันเป็นเพียงเหตุการณ์หนึ่งที่ “เข้ามา” แล้วก็ “ผ่านไป” เท่านั้น เราจึงควรปลูกฝังทัศนคติไม่กลัวความผิดหวังให้ลูกตั้งแต่เล็กค่ะ

 

หลังจากเปรมเล่าจบ ลูกมีหน้าตาสดใสและถามดิฉันว่า “เปรมจะเอาสิ่งประดิษฐ์นี้ไปให้คุณครูนะ เพราะคงไม่ได้ใช้แล้ว” ดิฉันตอบว่า “อื้ม แต่แม่ชอบนะ อยากเอาไปใช้ด้วย ขอได้ไหม” เปรมตาวาว รีบหยิบให้ทันทีด้วย “ความภูมิใจ”… จากวันนั้นจนถึงวันนี้ เปรมยังคงสนุกกับการประดิษฐ์สิ่งใหม่ๆ เรื่อยๆ เพราะความผิดหวังครั้งนั้น ไม่ทำให้เขาท้อ แต่ทำให้เขาเรียนรู้ว่า…

“แม้เรื่องนี้จะเริ่มต้นด้วยความผิดหวัง แต่ก็จบลงด้วยความภูมิใจได้ครับ”

 

บทความโดย ชิดชนก ทองใหญ่ ณ อยุธยา