สอนให้รู้จักรับผิดชอบต่อส่วนรวม
เราอาจจะคิดว่าเด็กตัวเล็กๆ 2-3 ขวบน่าจะยังไม่เข้าใจ ว่าอะไร คือ สิ่งที่เรียกว่า ‘ความรับผิดชอบต่อสังคม’ ในด้านหนึ่ง มันคงจะเป็นเช่นนั้นจริงๆ ถ้าเราจะเน้นที่คำว่า ‘ความเข้าใจ’
แต่ถ้าเราต้องการให้เด็กเรียนรู้สิ่งที่ดี ก็ใช่ว่า ‘ความเข้าใจ’ จะเป็นสิ่งสำคัญ เพราะผู้ใหญ่ที่เข้าใจกันดี ก็ยังไม่ทำกันเลย หากแต่‘การทำเป็นแบบอย่าง’ ต่างหากที่จะทำให้เด็กทำตามและเรียนรู้ในสิ่งที่ดี
เมื่อคราวที่ครอบเราไปเดินเล่นที่ห้างขายเฟอร์นิเจอร์แถวบางนา แล้วเราก็ได้แลกเหรียญเพื่อมากดไอศครีมโคนสุดโปรดของเจ้าปูนปั้น (พูดได้เลยว่า ปูนปั้น อยากมาที่นี่ เพื่อสิ่งนี้) เมื่อกดแล้ว เราก็ให้เจ้าตัวป่วนถือเดินหม่ำอย่างเอร็ดอร่อย แล้วก็แน่นอนว่ามันจะมีต้องมีหกมีหยดลงพื้น ซึ่งหม่าม๊าเจ้าปูนปั้นจะคอยถือกระดาษทิชชู่ก้มๆเงยๆ เช็ดที่พื้นเพื่อไม่ให้คนที่เดินผ่านไปมาเหยียบเลอะ ซึ่งปรากฏว่าหลังจากนั้น ไม่ว่าไปหม่ำอะไร แล้วมีเศษหกหล่นบนพื้น เจ้าปูนปั้นก็จะขอกระดาษหม่าม๊าลงไปเช็ดให้สะอาด (คลิปประกอบ)
นั่นเป็นสิ่งที่เด็กเรียนรู้ แม้เขาอาจจะไม่เข้าใจ ว่านั่นคือ สิ่งที่ผู้ใหญ่เรียกว่าความรับผิดชอบต่อสังคมก็ตาม
หรือตัวอย่างอีกเรื่องหนึ่ง คือ เรื่องการไม่สวมรองเท้าในสถานที่ห้ามใส่
ตามสถานที่สาธารณะในร่ม เช่นห้างสรรพสินค้ามักจะมีสนามเด็กเล่นไว้ให้เด็กเล็กได้เข้าไปเล่นกัน ซึ่งมักจะมีแผ่นยาง, แผ่นโฟมหรือแผ่นอะไรก็ตามแต่ที่มีความนุ่มไว้ป้องกันการล้มของเด็กๆ เมื่อเป็นเช่นนั้นสนามเด็กเล่นเหล่านี้เด็กๆก็ควรจะถอดรองเท้าก่อนขึ้นไปเล่น ซึ่งเราจะสอนปูนปั้นทุกครั้งว่าต้องถอดรองเท้า แม้บางครั้งปูนปั้นจะมองไปที่เด็กที่ไม่ถอดรองเท้า หรือที่แย่ไปกว่านั้นผู้ใหญ่ที่เป็นผู้ปกครองกลับไม่ถอดและย่ำขึ้นไปเสียเอง ซึ่งเราจะต้องอธิบายว่าสิ่งที่ถูกต้องคืออะไร และถ้าเราทำสิ่งที่ถูกต้อง คนอื่นจะทำผิดเราก็อย่าไปทำตาม
ที่เนอร์สเซอร์รี่ที่ปูนปั้นเคยอยู่ก็เช่นกัน ที่บันไดจะมีเขียนกำกับไว้ว่า‘กรุณาถอดรองเท้าก่อนขึ้นบันได’ ซึ่งหมายถึงรองเท้าของทั้งผู้ปกครองและของเด็กๆด้วย ไม่ใช่เฉพาะผู้ปกครองอย่างเดียว แต่เราก็จะเห็นผู้ปกครองหลายๆท่าน ให้ลูกตัวเองใส่รองเท้าเดินขึ้นบันได แล้วไปถอดชั้น 2 ในขณะที่เด็กส่วนใหญ่รวมทั้งปูนปั้น จะต้องถอดที่พื้นชั้นล่างแล้วหิ้วรองเท้าขึ้นไป ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่เราต้องอธิบายและสอนเขา รวมทั้งชื่นชมเมื่อเขาทำในสิ่งที่ดีที่ถูกต้อง
ตัวอย่างต่อมา เรื่องการเข้าแถว
เราจะอธิบายให้ปูนปั้นฟังทุกครั้งว่า ที่เราต้องเข้าแถว เพราะคนมาก่อนควรที่จะต้องได้รับบริการก่อน คนมาหลังก็ต่อเป็นแถวเป็นคิวต่อๆ มา แม้แต่ขณะขับรถเข้าซอยเวลาไปส่งปูนปั้นที่โรงเรียนตอนเช้าเราจะต้องขับผ่านสถานีดับเพลิงซึ่งปูนปั้นจะชอบดูรถดับเพลิงมาก แต่ในซอยรถมักจะติดเป็นแถว ปูนปั้นก็จะบอกให้ปะป๊าไปเร็วๆ เราก็จะอธิบายเขาว่า รถติดเป็นแถวอยู่ ปะป๊าอยู่ในคิว เราต่อรอให้คันหน้าขยับแล้วเราค่อยขยับตาม เราอธิบายเขาทุกครั้งพอเจอเหตุการณ์ที่ต้องเข้าคิว ปูนปั้นก็จะพูดถามเองว่า “เราต้องเข้าคิวใช่มั้ยครับ” ได้ยินอะไรแบบนี้ไม่ชื่นใจให้รู้ไปสิ
เรื่องการทิ้งขยะ
เราจะสอนให้ปูนปั้นหยิบของไปทิ้งในถังขยะเสมอ เพราะบางครั้งเด็กๆเขาจะไม่ได้ระวัง เช่น เขาอาจจะฉีกพลาสติกที่หุ้มหลอดออกเพื่อเอามาดูดน้ำ เด็กๆ ก็อาจจะทิ้งเศษพลาสติกลงไปที่พื้นเลย แต่เราจะสอนให้เขาหยิบไปหยอดใส่ในถังขยะ
เรื่องการเก็บของ
เมื่อไปเล่นของเล่นของสาธารณะ ยกตัวอย่างชัดๆ คือเวลาผ่านแผนกของเล่นตามห้างสรรพสินค้า ในนั้นก็มักจะมีโต๊ะตัวต่อเลโก้ ซึ่งวางไว้ให้เด็กเล่น เจ้าปูนปั้นจะชอบไปนั่งเล่นและไปนั่งเล่นครั้งละนานๆ เมื่อต่อเสร็จพอจะเลิกเล่นและย้ายไปที่อื่น เราก็จะสอนให้ปูนปั้นเอาชิ้นส่วนใส่กลับลงไปในกล่อง เพื่อที่ชิ้นส่วนจะได้ไม่หาย และเมื่อเด็กคนอื่นๆ จะมาเล่นก็จะมีให้เล่น
เรื่องที่เล่ามาให้ฟังทั้งหมดเป็นเรื่องเล็กๆน้อยๆที่เรามักจะมองข้ามด้วยเหตุผลที่ว่า เขายังเด็กอยู่ แต่จริงๆแล้วมันไม่ใช่สิ่งที่ยากเลย ค่อยๆสอน ค่อยๆปลูกฝังกันทีละเล็กละน้อย ทีละอย่างสองอย่าง ซึ่งนอกจากจะได้ฝึกความรับผิดชอบต่อสังคมโดยไม่ต้องยัดเยียดแล้ว เขาก็ยังสามารถเอานิสัยที่ดีๆเหล่านั้นมาใช้ที่บ้านได้ด้วย ซึ่งสิ่งเหล่านี้ ไม่เพียงเป็นการปลูกฝังสิ่งที่ดีให้กับเจ้าตัวเล็ก แต่เป็นการสร้างรอยยิ้มให้เกิดกับทั้งครอบครัวเราและคนที่พบเห็นด้วย
ที่สำคัญ บางทีสิ่งที่เจ้าตัวเล็กทำ กับกลายเป็นตัวอย่างให้ผู้ใหญ่ต้องดูเป็นแบบอย่างด้วยนะเออ
ติดตามเรื่องราวความน่ารักของครอบครัวน้องปูนปั้นได้ใน คอลัมน์ FAMILY BLOGGER : ได้ทุกสัปดาห์แวะไปดู รอยยิ้มหวานฉ่ำ ที่มีแจกฟรีทุกวันได้ที่
บทความโดย: บรรทัดที่สิบเอ็ด (พ่อเอก-จิรัฏฐ์ สิริเฉลิมพงศ์)