[Blogger พ่อเอก-52] ปูนปั้นกับกิจกรรมไม่ติดจอ - Amarin Baby & Kids

[Blogger พ่อเอก-52] ปูนปั้นกับกิจกรรมไม่ติดจอ

Alternative Textaccount_circle
event

เมื่อปีที่ผ่านมาผมเคยเขียนเรื่องการเลี้ยงลูกแบบไม่ให้ลูกอยู่หน้าจอ ซึ่งมีคุณพ่อคุณแม่แวะมาอ่านและทิ้งคอมเมนต์กันไว้ไม่น้อยทีเดียว โดยเฉพาะในมุมมองว่า ‘รู้แล้วว่าไม่ดีแต่จะทำไงได้เพราะต้องทำงานอย่างอื่นไปด้วย ไม่สามารถนั่งอยู่กับลูกตลอดเวลา’ ซึ่งเป็นประเด็นที่น่าเห็นใจและเข้าใจได้

สำหรับครอบครัวเรา ในตอนที่ปูนปั้นยังไม่ถึง 2 ขวบ เราแทบจะไม่เคยให้ปูนปั้นดูจอเลย คือจะบอกว่า ไม่มีเลยก็คงเป็นไปไม่ได้ และสิ่งที่เปิดให้ดู ก็เพราะมีเหตุผลที่อยากให้ดูจริงๆ และเราจะดูไปพร้อมกัน ไม่ว่าจะเป็นจอจาก โทรศัพท์มือถือ ไอแพด คอมพิวเตอร์ หรือทีวีก็ตาม (ซึ่งแปลว่า ปะป๊า หม่าม๊า จะได้ดูทีวีก็ต่อเมื่อปูนปั้นไปนอนแล้ว) ที่เราเอามาเล่าก็เพื่อยืนยันว่า มันไม่ใช่เรื่องยากครับถ้าตั้งใจจะทำให้ได้ เพราะเด็กอายุไม่ถึง 2 ขวบ ของเล่นทุกอย่างเขาสนุกได้หมด แถมเขามีช่วงนอนพักผ่อนกลางวันยาวๆ อีก ดังนั้นการหากิจกรรมมาเล่นกับเขาโดยไม่ต้องพึ่งจอ จึงไม่ยากเกินไป อ้อ ครอบครัวเราอยู่กันแค่สามคนพ่อแม่ลูก ไม่มีพี่เลี้ยง และเป็นมนุษย์เงินเดือนทั้งคู่ครับ

 

แต่วันนี้จะมาสารภาพเลยครับว่าพอปูนปั้นอายุสัก 2 ขวบครึ่ง เขาเริ่มต้องการเรียนรู้อะไรเยอะมากขึ้นเรื่อยๆ ของเล่นแบบเด็กทารกก็ไม่สามารถดึงเขาให้อยู่ได้นานเหมือนเมื่อก่อน แถมกลางวันก็ไม่ค่อยจะยอมนอนเอาเสียด้วยสิ ปูนปั้นจะหาอะไรมาเล่นกับปะป๊าหม่าม๊าตลอด ซึ่งบางครั้งเราก็เหนื่อยและเริ่มหลังพิงฝาไม่รู้จะเล่นอะไรแล้ว ก็เลยมีการพึ่งพาจอเพิ่มขึ้น (คุ้นๆเคยอ่านเจอมาว่า เด็กที่อายุต่ำกว่า 2 ขวบ ไม่ควรดูจอเลย พอเลย 2 ขวบมาก็ไม่ควรดูเกินวันละ 10-15 นาที)

ในที่สุดเราก็เริ่มลองหาคอร์สเรียนต่างๆ ซึ่งยอมรับเลยว่า ช่วงแรกปะป๊าไม่เห็นด้วยกับหม่าม๊าเท่าไหร่ เพราะผมมองว่า ทำไมต้องเอาเวลาที่จะอยู่กับลูกไปให้คนอื่น แต่เมื่อลองพิจารณาในหลายๆ คอร์สที่มีสอนก็จะเห็นว่า มันไม่ใช่การเรียนแบบเรียนพิเศษที่เอาเด็กไปอยู่กับคุณครูไปจ้องหน้าจอไปจ้องกระดาน แต่ออกแนวกิจกรรมที่ให้เด็กได้ออกกำลังกาย กำลังสมอง การเข้าสังคม การแสดงออก รวมไปถึงเป็นกิจกรรมในครอบครัวได้ด้วย ผมก็เลยคิดว่า เอ้า ลองดูก็ได้ แต่มีข้อแม้ที่ผมให้กับหม่าม๊าเจ้าปูนปั้นคือ

‘ลูกจะต้องสนุกไปกับการเรียนรู้นะ ถ้าไม่สนุกเลิกนะ’

คอร์สแรกที่เราพาปูนปั้นไปดูจะออกแนว ยืดเส้นยืดสาย เป็นยิมนาสติกสำหรับเด็กจิ๋วๆ แบบปูนปั้น ซึ่งครั้งแรกที่เราพาไปดูสถานที่เรียนปูนปั้น ออกอาการคึกคักมาก อยากจะเข้าไปเล่นมากๆ หันมาพูดซ้ำๆว่า “PoonPun wants to play” ดูไปซักพักก็ “where is the door?” เริ่มมองหาประตูทางเข้าไปข้างในห้องยิม ฮ่าฮ่าฮ่า หลังจากเกาะหน้าต่างดูสักพัก เมื่อเห็นอารมณ์ลูกคึกคักขนาดนี้ หัวใจเราก็อมยิ้ม นี่แหละ ที่เรามองหา อีกประมาณ 2-3 สัปดาห์ต่อมา เราก็เลยพาปูนปั้นมาสมัคร โดยตอนเช้าเราแอบบอกกับปูนปั้นว่า “ถ้าวันนี้เป็นเด็กดีไม่ดื้อ เราจะพาไปเล่นที่ที่ปูนปั้นอยากไป” เจ้าตัวยุ่งก็ตั้งตารอทีเดียวแต่พอไปถึงสถานที่ เจ้าปูนปั้นตอบโพล่งออกมาว่า “ไม่เอา ไม่เล่น”

อ้าว แล้วกันสิ แต่ด้วยความมั่นใจของเราว่า เขาน่าจะชอบแนวนี้และคราวก่อนก็บอกอยากเล่นมาก การไปเรียนใน 4 สัปดาห์แรกของปูนปั้น ทำเอาปะป๊าเริ่มกระอักกระอ่วนว่าจะเอาอย่างไรดี เพราะแม้ว่าปูนปั้นจะเล่นทุกอย่างที่พี่ๆ สอนทั้งม้วนหน้า กระโดด โหนบาร์ โน่นนี่นั่น และพอจบคลาสก็คึกคัก ออกมาโม้ทุกที แต่ระหว่างที่อยู่ในห้อง ปูนปั้นจะร้องไห้เหมือนไม่อยากเรียน แต่แล้วอยู่ดีๆ สัปดาห์ที่ 5 ปูนปั้นก็เปลี่ยนไป ดูสนุกสนานเล่นด้วยทุกอย่าง ไม่มีงอแงเลย พอสัปดาห์ที่ 6 ตื่นเช้ามาก็ถามปะป๊าเลยว่า “วันนี้ไปเล่นยิมตอนบ่ายหรือป่าว” แถมก็โม้ใหญ่ว่าจะไปทำอะไรบ้าง แล้วพอไปถึงที่เรียนจริงๆ พี่ๆ ผู้สอนก็บอกว่า ปูนปั้นเปลี่ยนไปเป็นคนละคน กลายเป็นพระเอกของห้องในคลาสวันนั้นไปเลย เราจึงได้ข้อสรุปว่า ปูนปั้นอาจจะเป็นเด็กที่ต้องการระยะเวลาในการปรับตัวเยอะ (ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่ต้องให้เวลาในการเรียนรู้ ปรับตัวกับสิ่งใหม่ๆ อย่าไปเร่งเขามาก)

จากที่เริ่มไปเรียนยิมมาได้สัปดาห์เดียว หม่าม๊าก็ไปขอทดลองเรียนภาษาจีนกลาง ซึ่งแม้ในใจจะอยากให้ปูนปั้นได้ภาษาเยอะๆ แต่ผมนึกภาพห้องเรียนปุ๊บ ในใจก็แอบค้าน (อีกแล้ว) ซึ่งความน่าสนใจของคลาสนี้คือให้ผู้ปกครองไปเรียนด้วยกัน ดังนั้นหม่าม๊าจึงเข้าไปเรียนกับปูนปั้น พอออกมาจากห้องทดลองเรียน หม่าม๊าก็จัดการสมัครเลย ทำเอาปะป๊าเคืองไปหลายชั่วโมง แต่ดูจากอาการก็เห็นว่าเจ้าปูนปั้นน่าจะสนุก เพราะออกมาก็เอาศัพท์ที่เรียนวันนั้นออกมาใช้เลย เจอกระต่ายก็ ทู่จื่อ เที่ยว เที่ยว เที่ยว (กระต่ายน้อย กระโดดๆๆ – พร้อมทำท่ากระโดดตาม) ซึ่งไปเรียนทุกครั้งปูนปั้นก็ออกมาแบบสนุกสนานพูดถึงสิ่งที่เหล่าซือสอน แถมเดี๋ยวนี้ก็เลยกลับมาฟังเพลงจีนกลางด้วย

สิ่งที่ผมมาเล่าให้ฟัง ก็เพื่อจะแบ่งปันประสบการณ์ การหลีกเลี่ยงจอให้ลูก ซึ่งสามารถทำได้แบบที่ไม่ได้ลดกิจกรรมในการอยู่ร่วมกันของครอบครัว เพราะทั้ง 2 อย่างที่ปูนปั้นเรียน ทั้งปะป๊าหม่าม๊าก็สามารถอยู่กับเจ้าตัวยุ่งได้ด้วย และเป็นการเรียนแบบ edutainment คือมีความสนุกสนานในการเรียน ให้ความรู้ค่อยๆ ซึมเข้าไปผ่านกิจกรรมสนุกสนานต่างๆ ไม่ใช่ต้องมายัดเยียดเรียนกันถ้าผู้ปกครองท่านไหน กำลังอยากหาทางให้ลูกห่างจอ ลองพิจารณาดูนะฮะ เพราะปัจจุบันมีคอร์สให้เรียนมากมายจริงๆ แต่ก็สามารถหาข้อมูลของผู้ที่เคยเรียนได้ใน internet เพื่อประกอบการพิจารณาได้

ปล. ผมไม่ได้มีส่วนได้ส่วนเสียใดๆ กับสถานที่เรียนที่ยกมาเล่าให้ฟังนะฮะ เพียงแค่อยากแบ่งปันประสบการณ์กันครับ และ ก่อนจบมาอมยิ้มกับคลิปนี้กันฮะ

 

52 (3) 52 (2) 52 (1)

 

 

 

 

 

 

ติดตามเรื่องราวความน่ารักของครอบครัวน้องปูนปั้นได้ในคอลัมน์ FAMILY BLOGGER : ได้ทุกสัปดาห์แวะไปดู รอยยิ้มหวานฉ่ำ ที่มีแจกฟรีทุกวันได้ที่

Facebookwww.facebook.com/Poonpun.Poonpoon นะครับ

บทความโดย: บรรทัดที่สิบเอ็ด (พ่อเอก-จิรัฏฐ์ สิริเฉลิมพงศ์)

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up