AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

[Blogger พ่อเอก-41]ปูนปั้น พูดทั้งวัน

          วันก่อนมีคุณพ่อท่านหนึ่งซึ่งลูกชายอยู่เนอร์สเซอร์รี่เดียวกับเจ้าปูนปั้น ได้เห็นเจ้าปูนปั้นจ้อไม่หยุด ทักทายคุณยายที่มารับกลับบ้าน จึงเดินมาถามคุณยายของเจ้าปูนปั้นว่า

          “ทำยังไงถึงจะให้ลูกผม พูดคุยเยอะๆ แบบปูนปั้น”

          ใช่ว่าจะมีคุณพ่อคนนี้ เพียงคนเดียวหรอกนะฮะ จริงๆ แล้วมีคุณพ่อ คุณแม่หลายท่านเลยที่ได้เจอเจ้าปูนปั้นทักทาย แล้วก็เกิดสงสัยว่า ทำอย่างไรถึงได้เป็นเด็กพูดเก่ง (หรือจะใช้ว่าพูดไม่หยุดก็ไม่ทำให้ปะป๊า หรือ หม่าม๊ารู้สึกขัดเคืองแต่ประการใด 555)

          พูดก็พูดเถอะครับ เดี่ยวไมโครโฟนของคุณโน้ตอุดม เจอปูนปั้นเข้าก็อาจจะกินกันไม่ลง เมื่อปลายตุลาคมที่ผ่านมา ขากลับจากเขาใหญ่ บนถนนช่วงก่อนถึงโรงปูน มีอุบัติเหตุทำให้รถติดมหาศาล กว่าจะถึงบ้านก็ 4 ชั่วโมงเต็ม ซึ่งเจ้าปูนปั้นก็จ้อแทบไม่ได้หยุดกันเลยทีเดียว

          ผมกลับไปย้อนดูว่า ปูนปั้น พูดเยอะมานานหรือยัง โดยไปนั่งไล่ดูคลิปที่เพจของเจ้าปูนปั้นก็พบว่า เมื่อเดือน กรกฎาคมที่ผ่านมา เรายังเพิ่งมีคลิปดีใจว่า ‘เจ้าปูนปั้นเรียกชื่อตัวเองได้แล้ว’

          หา!!! เมื่อกรกฎาเพิ่งเรียกชื่อตัวเองได้ แล้วพอเดือนตุลาคมปีเดียวกัน ก็พูด 4 ชั่วโมงไม่มีหยุดแล้วหรือ

          เห็นมั้ยครับ คุณพ่อคุณแม่ที่รู้สึกว่า ทำไมลูกพูดน้อย ไม่ต้องตกใจไปครับ เพราะตอนที่ปูนปั้น 1 ขวบ 8 เดือน เพิ่งจะพูดได้ไม่กี่คำเองครับ แต่พอ 2 ขวบก็กลายเป็นเด็กพูดไม่หยุดเลยทีเดียว

          แล้วสาเหตุมันเพราะอะไร ที่ทำให้เมื่อจุดติดแล้ว เจ้าปูนปั้นถึงพูดไม่หยุด

          สิ่งหนึ่งที่ ปะป๊าและหม่าม๊า ทำอยู่เสมอ รวมทั้งคอยเตือนกันและกัน คือ การใส่ใจทุกครั้งที่เขาพยายามสื่อสารกับเรา ตั้งแต่ที่ ปูนปั้นยังพูดไม่เป็น หรือ เพิ่งพูดได้เป็นคำๆ เราจะหันไปทำท่าสนใจ ทันทีที่รู้ว่าเจ้าปูนปั้นพยายามคุยกับเรา และเราจะพยายามจะช่วยกันตีความ ว่าปูนปั้นพยายามสื่อสารอะไร ซึ่งเป็นสิ่งที่เราบอกให้เขารู้ว่า เราเข้าใจและใส่ใจ

          แม้กระทั่งตอนนี้ที่ปูนปั้นพูดเป็นต่อยหอยแล้ว เมื่อไหร่ที่ปูนปั้นพูดกับเรา เช่น “ปะป๊า train is coming” หากเวลานั้นบังเอิญว่าปะป๊า กำลังเผลอทำอะไรอยู่ แล้วไม่ได้หันไปสนใจ หม่าม๊าก็จะเรียก ปะป๊าทันทีว่า ปูนปั้นคุยด้วย ซึ่งปะป๊าก็จะรีบหันไปคุยกับเขา เราเชื่อว่าการทำเช่นนี้ เป็นการทำให้เด็กได้เรียนรู้ว่า สิ่งที่เขาพูด สิ่งที่เขาสื่อสาร มีคนสนใจ ใส่ใจ เขาก็จะสนุกและพยายามสื่อสารออกมา

           อีกสิ่งหนึ่งที่คิดว่าน่าจะเป็นเหตุผลที่ทำให้เจ้าปูนปั้นพูดได้เยอะ คือ เราก็จะคอยสอนให้เขาพูดโน่นพูดนี่ สอนให้เรียกชื่อสิ่งของต่างๆ อธิบายว่าใช้ทำอะไร (แม้ในตอนนั้นปูนปั้นจะยังพูดได้น้อยมากและเราสอนไปเหมือนพูดคนเดียวก็ตาม) รวมไปถึง การอธิบายเหตุผลต่างๆ เวลาที่เราพูดอะไรกับใคร ว่าทำไมต้องพูดแบบนั้นแบบนี้

          เช่น การรับของแม้จะเป็นเพียงของเล็กๆน้อยๆ อย่างบัตรจอดรถ เราจะพูด ‘ขอบคุณ’ เขาจะดูเราเป็นตัวอย่าง ซึ่งเราจะต้องอธิบายว่าทำไมต้องขอบคุณ สิ่งเหล่านี้มันเข้าไปฝังอยู่ในบางจุดของเจ้าตัวยุ่ง และเมื่อถึงเวลา เขาจะเอามาใช้ได้เอง

          เราจึงได้เห็นรอยยิ้มและสีหน้าประหลาดใจของคนหลายๆคน (ที่ทำให้เรา แอบปลื้มใจ) เช่น มีคนเปิดประตูให้คุณยาย เวลาไปรับเจ้าปูนปั้นกลับบ้าน เพราะเห็นว่าคุณยายอุ้มเจ้าปูนปั้นอยู่ เจ้าปูนปั้นก็มักจะพูดว่า “ขอบคุณกั๊บโผม” ออกมาเอง

          หรือการที่ปูนปั้นชอบทักทาย ใครต่อใครที่มาคุยกับคุณยายก็ทำให้ ผู้ใหญ่เหล่านั้นได้อมยิ้ม เพราะบางคำทักทายก็ทั้งน่าเอ็นดูและก็น่าขำ (คำถามอาจจะธรรมดา แต่นึกภาพเด็กตัวกะเปี๊ยกวัย 2 ขวบ ทักทาย แบบนี้ ฟังแล้วก็แก่แดดแก่ลมกว่าเด็กวัย 2 ขวบ) เป็นต้นว่า

          “วันนี้รถติดมั้ยกั๊บ” / “คุณป้ารีบกลับบ้านกั๊บ เดี๋ยวรถติด” / “วันนี้ไปห้างเซ็นทรัลมั้ย” / “คุณป้ากดตังส์มั้ย” / “ยายๆ มีเงินมั้ย กดเอทีเอ็มยัง” / “ขับรถดีดีน้า” / เป็นต้น

          เวลาไปซื้อของในซุปเปอร์มาร์เก็ต ปูนปั้นก็จะคอยบอกว่า “จ่ายตังส์ก่อนน้า”  พอพนักงานหยิบถุงของส่งให้หลังจากที่เราจ่ายเงินแล้ว ปูนปั้นก็จะพูด “ขอบคุณกั๊บโผมมม (พร้อมยกมือไหว้)” ทำให้มักได้รอยยิ้มหรือของแถมติดมือออกมาอยู่เรื่อย

          คุณพ่อคุณแม่ ที่กังวลว่า ‘ลูกทำไมพูดน้อย ลูกทำไมพูดช้า’ อย่าได้กังวลใจไปและอย่ามัวท้อครับ เพราะเมื่อเราได้ทำให้เขาเห็นความสำคัญ ‘ทั้งพยายามสอนให้เขาพูด และพยายามรับรู้สิ่งที่เขาพยายามพูดกับเรา’ เมื่อการสื่อสารมันเกิดทั้ง 2 ทาง ไม่ใช่แค่การสื่อสารผ่านเพียงแค่คำพูด แต่ผ่านความใส่ใจและเข้าใจ เดี๋ยวเขาก็จ้อได้ ง่ายๆแค่นั้นเอง

          แต่ ถ้าเขาพูดไม่หยุด อย่ามาโทษกันนะฮะ

 

          ติดตามเรื่องราวความน่ารักของครอบครัวน้องปูนปั้นได้ในคอลัมน์ FAMILY BLOGGER : www.real-parenting.com  ได้ทุกสัปดาห์

 แวะไปดู รอยยิ้มหวานฉ่ำ ที่มีแจกฟรีทุกวันได้ที่

www.facebook.com/Poonpun.Poonpoon นะครับ

 

บทความโดย: บรรทัดที่สิบเอ็ด (พ่อเอก-จิรัฏฐ์ สิริเฉลิมพงศ์)