เล่าเรื่องราวเจ้าปูนปั้นตัวป่วนมา 40 กว่าตอนแล้ว ตามธรรมเนียมก็ควรจะต้องมีอัลบั้มรวม ออกมาสักหน่อย ก็เลยถือโอกาสปีใหม่รวบรวม Do และ Don’t ในการเลี้ยงลูกของเรา หลายเรื่องก็เป็นเรื่องราวที่เรา หาอ่านกันเจอได้ทั่วๆไป แต่ที่จะมาเล่าสรุปให้ฟัง เป็นเรื่องราวที่ผ่านการประยุกต์และนำไปใช้จริงในการเลี้ยงดูเจ้าตัวป่วน ถ้าข้อไหนมีประโยชน์ลองเอาไปลองใช้กันดูครับ หรือถ้ามีข้อสงสัยอะไร ทิ้ง comment ไว้ที่นี่ แล้วเราจะแวะมาตอบ หรือ แวะไปที่เพจ ก็ตามสะดวกครับ
วันนี้มาเริ่มที่ Don’t กันก่อน แล้วกันนะฮะ
– อย่า เลี้ยงลูกด้วยโลกเสมือน – ตั้งแต่แรกเกิดจนถึงปัจจุบันที่ปูนปั้นอายุ 2 ขวบนิดๆ แล้ว เราแทบจะไม่เคยปล่อยทิ้งเขาไว้หน้าจอคนเดียวเลย ไม่ว่าจะเป็น จอทีวี จอมือถือ จอแท็บเล็ต หรือจออะไรก็ตาม ในที่นี้ ผมไม่ได้บอกว่า ห้ามดู 100% นะครับ เราเองก็มีเปิดบ้าง แต่จะนั่งดูไปด้วยกัน เช่น เปิดเพลงแล้วร้องไปด้วยกัน เปิดการ์ตูนแล้วนั่งดูไปด้วยกัน เพราะถ้าทิ้งเขานั่งดูคนเดียว มันจะสื่อสารทางเดียว ไม่มีการอธิบายสิ่งต่างๆ ที่เขาตั้งคำถามขึ้นมา ‘แล้วเขาจะค่อยๆ ตัดตัวเองออกจากการสื่อสารกับคนอื่น เป็นที่มาอาการ ไม่พูด หรือก้าวร้าวเพราะเห็นอะไรในจอแต่ไม่มีใครอธิบาย’ และ ก็มีบางครั้งที่เราใช้ จอ เป็นไม้ตายจริงๆ เวลาอยู่ในที่สาธารณะ เช่น ร้านอาหารแล้วเจ้าปูนปั้นเกิด งอแง ขึ้นมา เพื่อจะไม่ไปรบกวนคนอื่น ทั้งนี้เรายืนยันว่าใช้น้อยมากๆ (ถ้าเฉลี่ยออกมาเป็นต่อวัน ผมว่าน่าจะแค่วันละ 5 นาทีเอง แวะอ่าน ‘จะไม่ทิ้งเจ้าไว้ในโลกเสมือน’ )
– อย่า โอ๋ทุกอย่าง – ลูกร้องไม่มีเหตุผล ลูกอาละวาด ลูกลงไปดิ้น และอื่นๆ เรามักจะเห็นภาพการรีบวิ่งเข้าชาร์จ แล้วเข้าไปโอ๋ ลูกอยากได้อะไรก็ให้ แต่นั่นเป็นการสอนเขาทางอ้อมว่า ‘คราวหน้าหนูอยากได้อะไร ดิ้นแบบนี้นะลูก’ สำหรับครอบครัวเรา ระดับแรก ผมจะเข้าไปพูด ถามปูนปั้นว่า “ร้องงอแงทำไม อยากทำอะไร หรือต้องการอะไร” ถ้าพอรู้เรื่อง เราก็จะบอก ให้ปูนปั้นพูดดีๆ อยากทำอะไร คราวหน้าให้บอก ไม่ต้องร้องงอแง แล้วจะต้องปลอบให้เขาหยุด แล้วจะถาม ปูนปั้น ทุกครั้งว่า “เข้าใจตามที่คุยกันมั้ย” ถ้าเข้าใจ ก็ค่อยให้สิ่งที่ต้องการ และต้องไม่ลืมให้เขา ‘ขอบคุณครับ’ แต่ถ้างอแงระดับเยอะหน่อย เราจะปล่อยเขาคนเดียว จนสงบสติอารมณ์ได้ก่อน แล้วค่อยเริ่มขั้นตอนการพูดคุย
– อย่า โทษสิ่งของ โทษสิ่งแวดล้อม – คงเคยเห็นภาพที่เด็กๆ วิ่งไปชนโต๊ะล้มแล้วร้องงอแง คุณพ่อคุณแม่ก็จะบอกว่า “หยุดร้องนะ เดี๋ยวตีโต๊ะให้ นี่แหนะทำหนูเจ็บหรอ” นั่นเป็นสิ่งที่ครอบครัวเราไม่ทำ เพราะเรา ‘ไม่อยากให้เขาโตมาแบบ โทษสิ่งแวดล้อม’ แต่เราจะสอนเขาเสมอว่าหนูเดินไปชนเองใช่มั้ย หนูเล่นเองใช่มั้ย หนูร้องไห้โกรธใครไม่ได้นะ หายเจ็บก็หยุดร้องแต่หนูโกรธใครไม่ได้ ตัวอย่างจริงเลยก็เจ้าปูนปั้นเปิดปิดตู้เล่น เราก็สอนเขาว่า เล่นแบบนี้เดี๋ยวปิดพลาดดดนนิ้วจะเจ็บนะ แต่เขาก็จะเล่น แล้วก็โดนนิ้วจริงๆ ร้องโฮเลย สิ่งที่เราทำคือ เราเข้าไปบอกเขาว่า หายเจ็บก็หยุดร้องนะ แต่หนูโกรธใครม่ได้นะ หนูเล่นเองใช่มั้ย แล้วปะป๊าก็บอกหนูแล้วใช่มั้ย แต่หนูจะเล่น ก็ต้องร้องเองหยุดเองนะ (แวะอ่าน ‘สอนปูนปั้นเป็น Strong Boy’)
– อย่า ใช้คำว่า ‘ไม่ หรือ อย่า’ จนพร่ำเพรื่อ – พยายามอธิบายถึงสาเหตุที่ห้าม แทนที่จะห้ามว่า ‘ไม่หรืออย่า’ เช่นเจ้าปูนปั้นกระโดดลงบันได เราจะไม่พูดว่าอย่า แต่จะบอกว่า “เวลาเดินลงบันไดต้องระวัง ต้องจับราวบันได และมองที่ขั้นบันได ถ้ากระโดดอาจจะตกลงไป แล้วจะเจ็บร้องไห้แงๆ แล้วถ้าหนูร้องไห้แงแง แบบนั้นจะโดนปะป๊าดุด้วยนะ เพราะปะป๊าสอนหนูแล้ว” มันดูยาวเยิ่นเย้อ เวิ่นเว้อ แต่เราทำแบบนี้จริงๆฮะ เพราะ ‘เขาจะเรียนรู้การใช้เหตุผลมากกว่าการใช้คำสั่ง’ และคุณจะขำ เพราะในครั้งต่อๆไป พอเขากระโดดแล้วเราเริ่มอธิบาย เขาจะพูดเสริมจนจบ เพราะเขาจำได้ว่าเราเคยอธิบาย สอนเขาไว้ว่าอยางไร (แวะอ่าน ‘พ่อตีหนู หนูไม่เจ็บเท่า พ่อเจ็บหรอก’ )
– อย่า ตวาด ตะคอก – การตวาด ตะคอก ‘เป็นเพียงการทำให้กลัว แต่ไม่ได้ทำให้เด็กเรียนรู้อะไรเลย นอกจากการใช้อารมณ์รุนแรง’ ถ้าอารมณ์เริ่มขึ้น เราจะเปลี่ยนตัวสำรองลงไปทันที เช่น หม่ามี๊กำลังเจอกับการงอแงของเจ้าปูนปั้นจนเริ่มจะหงุดหงิด หม่ามี๊จะส่งสัญญาณให้เปลี่ยนผู้เล่นตัวสำรองที่ดีที่สุดลงไปเล่นแทน คือปะป๊านั่นเอง แล้วปะป๊าก็จะเข้าไปพุดคุยกับเจ้าปูนปั้นในอารมณ์ที่สดชื่นและเย็น ส่วนใหญ่ก็จะให้ผลดีกว่าที่จะปล่อยให้ผู้เล่นคนแรกแถจนอารมณ์เสีย หรือถ้าคนใดคนหนึ่งเสียงดังขึ้นมา ผู้เล่นอีกคนก็จะเตือนทันที ว่าเสียงดังขึ้นแล้วนะ การทำอย่างนี้ ‘ในระยะยาวจะดีตรงที่ เราไม่ต้องตะคอก แค่ปะป๊าทำหน้าจริงจังขึ้นนิดนึง เจ้าปูนปั้น ก็จะหน้าจ๋อยเหลือนิ้วครึ่งแล้ว’ เพราะรู้ว่าโดนดุ
– อย่า เปรียบเทียบ – โดยธรรมชาติ เราก็เห็นลูกคนนั้นทำโน่นได้ ลูกคนนี้ทำนี่ได้ ก็อยากให้ลูกเราทำได้บ้าง แต่ในความจริงมันเป็นไปไม่ได้หรอกที่เด็กคนนึงจะเรียนรู้อะไร 10 อย่าง 20 อย่างได้เร็ว ปรื้ดไปหมด คนนึงทำเรื่องหนึ่งได้เร็ว ก็อาจะไปช้ากว่าอีกด้านหนึ่ง ดังนั้นถ้าเราดูเด็ก 10 คนที่เก่งคนละอย่าง แล้วหวังให้ลูกทำได้ดี 10 อย่าง ผมว่าจะเครียดไปเปล่าๆ อย่างกรณีเจ้าปูนปั้น เป็นเด็กที่เริ่มเดินได้เร็ว แต่กว่าจะพูดค่อนข้างช้า กว่าจะเรียกชื่อตัวเองได้ เจ้าปูนปั้นก็ปาเข้าไปขวบเก้าเดือนแล้ว แต่ปรากฏว่าตอนนี้ 2 ขวบ นิดๆ กลายเป็นไอดอลของคุณพ่อ คุณแม่หลายท่านว่าทำยังไงให้พูดได้เยอะๆแบบปูนปั้น ดังนั้นอย่าเปรียบเทียบ จะทำให้กังวลเครียดไปจนเกินกว่าเหตุ (แวะอ่าน ปูนปั้น พูดทั้งวัน )
ตอนหน้ามาอ่านกันว่าแล้วอะไรที่เราควรจะ Do กันนะฮะ มีประสบการณ์อะไรมาเขียนแบ่งปันกันได้นะ ครับ สวัสดีปีใหม่จากครอบครัวปูนปั้นครับ
บทความโดย: บรรทัดที่สิบเอ็ด (พ่อเอก-จิรัฏฐ์ สิริเฉลิมพงศ์)