[Blogger พ่อเอก-43] สูตรไม่ลับ กับการเลี้ยงปูนปั้นตัวป่วน ตอนที่ 2 - Amarin Baby & Kids
blog ครอบครัว

[Blogger พ่อเอก-43] สูตรไม่ลับ กับการเลี้ยงปูนปั้นตัวป่วน ตอนที่ 2

Alternative Textaccount_circle
event
blog ครอบครัว
blog ครอบครัว

สูตรไม่ลับ กับการเลี้ยงปูนปั้นตัวป่วน ตอนที่ 2

        ตอนที่แล้ว เราเล่าเรื่อง “ที่ไม่ควรทำ หรือ Don’t” จากประสบการณ์ในการเลี้ยงดูเจ้าปูนปั้นตัวป่วนไปแล้ว ในตอนนี้จะเป็นเรื่อง “ที่ควรทำ หรือ Do” ครับ ตอนก่อน เกริ่นมาเยอะแล้ว เอาเป็นว่า ตอนนี้เราเริ่มเลยแล้วกัน

–  อารมณ์ดีตอนท้อง – อารมณ์ของคุณพ่อคุณแม่ในระหว่างตั้งครรภ์มีความสำคัญ และมีผลต่ออารมณ์ของเด็กในท้องมากๆ ในตอนที่หม่าม๊าท้องเจ้าปูนปั้น เราสองคนพยายามที่จะทำอารมณ์ให้สดชื่น และเราจะมานั่งคุยกับเจ้าตัวเล็กในพุงหม่าม๊าเสมอ โดยเฉพาะก่อนนอน เราจะเล่านิทานและร้องเพลงให้เขาฟัง ซึ่งปูนปั้นก็เกิดมาเป็นเด็กอารมณ์ดี และเขาได้พิสูจน์ว่าสามารถรับรู้การสื่อสารของเราตอนอยู่ในท้องได้จริงๆ  (แวะอ่าน ‘แม้เจ้าอยู่ในท้อง พ่อก็จะร้องเพลงกล่อม’ )

–  นมแม่ – เราเชื่อว่านมแม่มีประโยชน์ในด้านโภชนาการตามที่ผู้รู้บอกไว้ แต่ในเรื่องความผูกพันเราได้รับจากประสบการณ์จริง ปูนปั้นจะมีความสุขและมีความมั่นคงทางอารมณ์เมื่อได้ดูดนมจากเต้าหม่าม๊า บางครั้งที่ง่วงๆ เหนื่อยๆ ร้องงอแง แต่พอเข้าเต้าปุ้บ ก็หยุดร้องและสงบทันที (แวะอ่าน ‘ปูนปั้น ผลิตภัณฑ์จากนมแม่ 100%’)

–  ล้มเอง ลุกเอง  – เราสอนให้ปูนปั้นลุกเองทุกครั้งที่ล้ม สอนตั้งแต่เค้าเพิ่งหัดเดินได้เลย เพราะเราเชื่อว่าจะทำให้เขาเคารพตัวเอง ส่วนที่ตามมาคือ เขาจะเป็นเด็กอดทน ไม่ใช่ล้มนิดล้มหน่อยก็ร้องให้คนมาช่วย และเราจะพูดกับเขาเสมอว่า You are my strong boy บางครั้งที่ปูนปั้นล้มนอกบ้าน เช่นในห้าง แล้วมาคนจะเข้าไปช่วย แต่เจ้าตัวป่วนก็ลุกพรวดเอง เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น เรียกรอยยิ้มและคำชมให้ปะป๊า หม่าม๊า ได้อมยิ้ม (แวะอ่าน ‘สอนปูนปั้นเป็น Strong Boy’ )

 

–  ทำโทษ อธิบาย เข้าใจ – ขั้นตอนแรกในการจัดการเมื่อลูกทำผิดคือ การพูดอธิบาย แต่ก็ใช่ว่าเราจะไม่ตี แต่ต้องรู้ว่าการตี ทำไปเพื่อสอน ทำด้วยความรักไม่ใช่อารมณ์โกรธ ดังนั้นก็ไม่ใช่ต้องให้เจ็บถึงหลาบจำ แต่ต้องให้รู้เข้าใจ ก่อนตีเราจะบอกทุกครั้งว่า ทำไมจะต้องตี ตีเสร็จเราจะบอกทุกครั้งว่า ตีเพื่อสอนเพราะเรารักเค้าแล้วก็ไม่ลืมกอดกอด และเราเองถ้าเป็นฝ่ายทำผิด เราก็จะบอกขอโทษลูกเช่นกัน (แวะอ่าน ‘พ่อตีหนู หนูไม่เจ็บเท่า พ่อเจ็บหรอก’ )

–  ทำกิจกรรมร่วมกัน – เขาจะมีความสุขและอบอุ่นจากการใช้เวลาร่วมกัน เขาจะเรียนรู้จากกิจกรรมที่หลากหลาย ดังนั้นจะเห็นเราพาลูกออกตะลอนเที่ยวเสมอและที่เที่ยวก็ควรจะหลากหลายเปลี่ยนไป เพื่อให้ได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ กิจกรรมอื่นๆ อีกมากมายที่เราทำกับปูนปั้น เช่น เรียนดำน้ำ อ่านหนังสือด้วยกัน ร้องเพลงด้วยกัน ขี่จักรยาน เล่นทราย เป็นต้น (แวะอ่าน ‘สุดขอบฟ้ากว้าง พ่อจะเดินเคียงข้างเจ้า’  และ ‘Moscow เดินทางไกลไปด้วยกัน’ และ ‘หม่าม๊าบอกว่า เจ้าคือโลมาตัวน้อย’  )

–  หม่ำข้าวด้วยกัน  – มีหลายครอบครัวเขียนมาถามว่าทำยังไงให้ปูนปั้นหม่ำเก่งและตักหม่ำเอง ส่วนหนึ่งต้องยกเครดิตให้ที่ nursery ที่สอนให้ปูนปั้นกิน แต่ที่บ้าน เราจะนั่งกินอาหารพร้อมกันสามคน พ่อ แม่ ลูก ทำให้เขาพยายามทำตามเรา เพราะเด็กๆ ชอบเลียนแบบพ่อแม่อยู่แล้ว เขาไม่รู้สึกว่าทำไมต้องหม่ำอยู่คนเดียวและความอบอุ่นบนโต๊ะก็คงทำให้เขาสนุกกับการกินไปด้วย

–  อยู่กับธรรมชาติ  – เราเชื่อว่าการให้เด็กโตมากับธรรมชาติจะทำให้เขามีจิตใจที่อ่อนโยนแบ่งปัน ดังนั้น สัตว์เลี้ยง ต้นไม้ น้ำ ดิน หิน ทราย เป็นสิ่งที่เราจะปล่อยเขาเล่น เลอะเทอะก็ค่อยมาอาบน้ำล้างตัวกันไป ดังนั้นถ้าใครเคยแวะเพจปูนปั้น จะเห็นเจ้าปูนปั้นขี่หลังและกอดกับ พี่โม่ พี่บรู้ก (หมาที่ตัวโตกว่ากว่าปูนปั้น) เป็นเรื่องธรรมดา ปีนเข้าไปในกรงหมาก็เคย เอาน้ำมาฉีด เปิดก็อกน้ำตัวฉ่ำไปหมด เป็นภาพธรรมดา เราเคยอ่านเจอคนที่เลี้ยงลูกแบบไม่ให้ใช้เท้าเปล่าเหยียบดิน เพราะกลัวเชื้อโรค เรามองว่านั่นแหละการทำให้เขาโตมาอ่อนแอ

 

–  หลายภาษา  – พ่อแม่หลายๆ ท่านอาจจะเคยสงสัยว่าการพูดหลายภาษาจะทำให้เขาพูดช้ามั้ย แล้วเขาจะเข้าใจจริงหรอ ที่บ้านเราตกลงกันไว้ตั้งแต่ปูนปั้นยังอยู่ในท้องว่า หม่าม๊าจะพูดไทย ปะป๊าพูดภาษาอังกฤษ และคุณยายพูดกวางตุ้ง พอปูนปั้นหัดพูดเขาก็จะพูดกวาตุ้งเวลาอยู่กับคุณยาย และถ้าคุยกะปะป๊าเขาก็จะเปลี่ยนมาใช้ศัพท์อังกฤษเอง ส่วนภาษาไทยคนพูดด้วยเยอะอยู่แล้วพอพูดได้หม่าม๊าก็เลยมาช่วยพูดอังกฤษด้วย เคล็ดลับคงอยู่ที่ระเบียบวินัย โดยปะป๊าและคุณยายต้องไม่พูดไทยกับเขา ไม่เช่นนั้นเขาก็จะพูดแต่ภาษาไทย (แวะอ่าน ‘ปูนปั้น ตี๋น้อยอินเตอร์’ )

–  ทำความเข้าใจกับคนรอบข้าง  – สังคม สิ่งแวดล้อม ที่เปลี่ยนไปทำให้ช่องว่างในวิธีการเลี้ยงลูกจากรุ่นหนึ่งสู่รุ่นหนึ่งเปลี่ยนไปเยอะ การพยายามทำความเข้าใจอธิบายก็จะทำให้การอยู่ร่วมกันมีความสุข ดีกว่าที่จะปล่อยให้ย่ายายหงุดหงิดและพ่อแม่อึดอัด ความเชื่อเก่าๆ เช่น ป้อนกล้วยแต่ตัวจิ๋วอาจจะไม่เป็นที่ยอมรับในปัจจุบัน หรือ ย่ายายก็จะไม่ค่อยพอใจที่เห็นคนรุ่นนี้ปล่อยให้ลูกร้องไห้บนคาร์ซีทไม่อุ้มออกมาปลอบ แต่เจตนาเราคือต้องการฝึกให้คุ้นเคยกับการนั่งคาร์ซีท เป็นต้น (แวะอ่าน ‘ปูนปั้นกับที่นั่งพิเศษบนรถ’  )

–  ฝึกระเบียบวินัย ใครคิดว่าเด็กๆ เก็บของไม่เป็น ใครคิดว่าเด็กไม่รู้ว่าตื่นมาในแต่ละวันเขาจะต้องทำอะไร ใครคิดว่าเด็กไม่รู้ว่าขนมจะได้หม่ำก็ต่อเมื่อหม่ำข้าวหมดแล้ว เพราะความที่เราคิดว่าเด็กๆยังเล็กไปสอนไม่ได้ เราจึงปล่อยให้เขาทำตามใจ แต่คุณย่าเจ้าปูนปั้นบอกกับผมมาตลอดตั้งแต่ยังไม่แต่งงานว่า “เด็กๆเขาคุยรู้เรื่อง เราน่ะแหละเข้าใจเขาหรือเปล่า” ครั้งแรกที่เจ้าปูนปั้นเก็บของเข้าชั้นเองตามที่ปะป๊าบอก เขาเพิ่งเตาะแตะไม่กี่ก้าวเอง แต่ปัจจุบัน ก่อนนอนปูนปั้นจะเก็บของเล่นทุกชิ้น หนังสือทุกเล่มเข้าชั้นโดยไม่ต้องบอก เพราะเขาเรียนรู้ว่าส่วนหนึ่งของการเล่น คือ การเก็บของเล่นเข้าที่ (แวะอ่าน ‘ระเบียบวินัยคือสิ่งที่พ่ออยากให้เจ้ามี’  )

 

        ตอนนี้ยาวนิดนึงแต่หวังว่าจะมีประโยชน์ในการไปปรับใช้กันนะครับ เพราะแต่ละครอบครัวมีปัจจัยที่ต่างกัน เด็กแต่ละคนก็มีตความพิเศษที่ไม่เหมือนกันครับ มีประสบการณ์อะไรมาเขียนแบ่งปันกันได้นะครับ

 

บทความโดย: บรรทัดที่สิบเอ็ด (พ่อเอก-จิรัฏฐ์ สิริเฉลิมพงศ์)

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up