When we make a home
When our love has grown
When all our apprehensions fade
And we can say “forever”
When we share our dreams
Everything we own
We’ll build a life together
When we make a home
ถ้าคุณคลอทำนองออกมาตอนอ่านเนื้อเพลงข้างบน ยิ่งถ้าคุณบอกได้ว่า เป็นเพลงของ Sadao Watanabe คุณต้องอายุ 35+ แน่ๆ เลยฮะ คนวัยนี้ขึ้นไป น้อยคนที่จะไม่รู้จัก ‘When We Make a Home’
ความสุขอย่างหนึ่งของการเลี้ยงลูก คือ การได้เห็นลูกเติบโต เป็นคนที่ดี และ ประสบความสำเร็จ แต่นั่นคงต้องไปรอลุ้นรอชมเอาตอนที่เขาโตเป็นวัยรุ่น หรือ บรรลุนิติภาวะโน่นแล้ว
แต่ในตอนที่เขายังตัวเล็กๆ เป็นทารก เป็นเด็กตัวน้อย ก็ใช่ว่าคุณพ่อคุณแม่ จะไม่มีอะไรให้เฉลิมฉลองนะฮะ เราต้องมองหามุมมอง เพื่อเสริมสร้างแรงกระตุ้น เสริมพลังในการเลี้ยงลูก เพราะความสนุกสนานในการเลี้ยงลูกนั่นแหละฮะ ที่จะเป็นตัวผลักดันพลังงานดีๆ ทัศนคติดีๆ จากเราไปสู่ลูก
ความภูมิใจไม่นานมานี้ ของครอบครัวเรา คือประโยคที่ปูนปั้นพูดว่า
“ปะป๊า ฉี่ ฉี่” หรือ “หม่ามี๊ ฉี่ ฉี่”
แปลกใจมั้ยครับ ว่าทำไมประโยค แสนธรรมดาแบบนั้น ถึงทำให้เรามีความสุขได้
คำตอบก็เพราะว่า นั่นเป็นอีกหนึ่งหลักไมล์ของเจ้าปูนปั้นและครอบครัวเรา เป็นหลักไมล์ที่บอกว่า เจ้าปูนปั้นจะเริ่มลดการใช้ ผ้าอ้อมสำเร็จรูปแล้วนะฮะ
หลายเดือนก่อนหน้านี้ ตอนที่ เจ้าปูนปั้น ตื่นเช้ามา แล้ว อยู่ดีดี ก็เดินมาบอกหม่าม๊ากับปะป๊าว่า
“อึ๊ อึ๊ เหม็นๆ change pers” (ย่อมาจาก change pampers) แล้วเจ้าตัวป่วนก็เดินไปหยิบผ้าอ้อมสำเร็จรูปและห่อทิชชู่เปียกมาให้เรา แล้วก็ล้มตัวลงนอนแบบระมัดระวัง พร้อมกับโม้ว่า “ไม่ โป๊กด้วย” (คือหัวไม่โปป๊กกะพื้น)
ตอนนั้นเราก็แอบดีใจว่า เจ้าปูนปั้นโตขึ้น พออึก็รู้ว่าต้องเปลี่ยนผ้าอ้อม แล้วก็เดินมาบอกให้เราเปลี่ยน ไม่ต้องให้เราใช้ sensor คอยจับกลิ่นแปลกปลอมกันเองแล้ว ซึ่งจริงๆจับไม่ยากหรอกฮะ เรื่องนี้ผมมั่นใจกลิ่นอึเจ้าปูนปั้น ไม่แพ้ใครในโลก
แต่ตอนนี้เรากำลังขยับไปอีกขั้น โดยการหัดไม่ใส่ผ้าอ้อมให้เจ้าปูนปั้น ตอนกลางวันในเวลาที่อยู่กับบ้านครับ จริงๆ เห็นเพื่อนๆ คุณพ่อคุณแม่หลายๆ ครอบครัว เริ่มหัดให้เจ้าตัวเล็ก ตั้งแต่เจ้าตัวเล็กเพิ่งจะขวบต้นๆ ก็มีนะครับ แต่ครอบครัวเราเพิ่งจะมาเริ่มในตอนที่เจ้าปูนปั้นกำลังจะครบ 2 ขวบนี่เองครับ
ขั้นตอนแรก ในการจะเลิกใส่ผ้าอ้อม เราจะต้องกำหนดเวลาคร่าวๆ ที่จะคอยพาเขาไปทำกิจธุระครับ ซึ่งช่วงเริ่มต้น เราจะใช้ประมาณครึ่งชั่วโมง คือ ทุกๆครึ่งชั่วโมงเราจะพาเจ้าตัวป่วนไปฉี่ แม้ว่าเขาจะไม่ได้ร้องขอ
ขั้นที่ 2 ควรให้เขาฉี่ในที่ ที่ถูกต้องครับ กระโถน โถฉี่ ชักโครก ได้หมด ถ้ามีของเด็กก็ดีครับ เขาจะได้เรียนรู้การใช้ของจริง แต่เราเองก็ให้เขาใช้ของผู้ใหญ่ครับ (ที่เนอร์สเซอร์รี่มีของเด็กให้เจ้าปูนปั้นใช้ครับ)
ขั้นที่ 3 สุด classic คือ ขณะที่เจ้าตัวป่วนกำลังเบ่ง คุณพ่อคุณแม่ อย่าลุ้นเฉยๆ ให้ส่งเสียง ‘ฉี่……..’ ลากยาวสั้น ใส่จังหวะอย่างไร สังเกตเองครับ ลูกชอบแบบไหน แบบยอดนิยมคือ ลากเสียงยาวจนกว่าจะไหล
ขั้นที่ 4 ผ่านไปสักพักถ้าเราเริ่มมั่นใจ เราอาจจะไม่ต้องพาไปบ่อยๆ ทุกครึ่งชั่วโมงแบบเดิม แต่เปลี่ยนมาสอนเขาว่า “ถ้าปวดฉี่ ปวดอึ ให้บอก หม่าม๊า ปะป๊า นะ” แล้วจะพาไปห้องน้ำ
ขั้นที่ 5 ถ้าเขาลืม เขาพลาด ฉี่ราด เพราะอาจจะเล่นเพลิน อย่าไปดุครับ พูดดีๆ ถามดีๆ สอนดีๆ ว่า “หนูลืมหรอครับ ถ้าปวดอีก บอกปะป๊า หม่าม๊านะครับ” เพราะแม้เจ้าปูนปั้นจะบอกได้แล้วเวลาจะฉี่ แต่ก็มีเพลิน ฉี่ออกมาเลย เวลากำลังเล่นติดพัน ซึ่งเรารู้สึกได้ว่าเขาก็รู้สึกผิด ดังนั้น การดุไม่น่าจะดีเท่าการพูดคุยกับเขา
บางครั้งเจ้าตัวป่วน ก็แสบใช่ย่อย เพราะปูนปั้นชอบกดชักโครกมาก ชอบเวลาน้ำไหลเสียงดังๆ ดังนั้นบางทีไม่ได้ปวดจริงก็บอก ฉี่ฉี่ พอพาไปนั่ง ก็ไม่มีฉี่ เจ้าตัวแสบก็จะถามว่า “ฉี่มีมั้ยกั๊บ” หรือ “ฉี่ออกยังกั๊บ” พอตอบไปว่า ไม่มี เจ้าตัวป่วนก็ตอบ “ไม่มีแระ” เพื่อจะกดน้ำ แต่ก็เอาเถอะครับ ความสนุก ขำขำ ครับ
ลองทำกันดูนะครับว่า สำเร็จมั้ย ลองทีละขั้นนะครับ เอาแค่ตอนอยู่บ้านเวลากลางวันก่อน แต่เวลาไปข้างนอก หรือ เวลานอน ก็ใช้ผ้าอ้อมก่อนดีกว่านะฮะ แต่ถ้าคุณพ่อ คุณแม่ ชอบความตื่นเต้น ก็ตามแต่รสนิยมครับ
When our hearts are one
Though our minds are two
When we can cherish everyday
And fill our lives with laughter
We will dance and sing
In the setting sun
We’ve made a home together
When our hearts are one
ติดตามเรื่องราวความน่ารักของครอบครัวน้องปูนปั้นได้ในคอลัมน์ FAMILY BLOGGER : www.real-parenting.com ได้ทุกสัปดาห์
แวะไปดู รอยยิ้มหวานฉ่ำ ที่มีแจกฟรีทุกวันได้ที่
www.facebook.com/Poonpun.Poonpoon นะครับ
บทความโดย: บรรทัดที่สิบเอ็ด (พ่อเอก-จิรัฏฐ์ สิริเฉลิมพงศ์)