AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

[Blogger พ่อเอก-36] ปูนปั้นกับที่นั่งพิเศษบนรถ

          ผมเชื่อว่า ประเด็น car seat น่าจะเป็นเรื่องที่หลายๆ ครอบครัว ถกเถียงกันว่า มันจำเป็นต้องมี หรือแค่ควรมีไว้ใช้ หรือเปล่า?  ซึ่งแปลว่า ไม่มีก็ไม่เป็นไร

         ยังไม่ทันจะได้คำตอบสำหรับคำถามแรกเลย ก็ต้องไปเถียงกันต่อที่ห้างสรรพสินค้าว่า ทำไมมันแพงอย่างนี้ ถ้าซื้อไปแล้ว เกิดเจ้าตัวเล็กไม่นั่งก็เสียเงินฟรีๆ สิ

         แล้วอีกหลายข้อถกเถียงที่เราได้ยินกันบ่อยๆ แต่เท่าที่รู้คนไทยใช้ car seat กันน้อยมากทีเดียว ซึ่งคงไม่น่าแปลกใจอะไรเท่าไหร่ เมื่อเรานึกย้อนไปในอดีต ที่คนไทยไม่คาด safety belt และ ไม่ใส่หมวกกันน็อค จนกระทั่งมีกฏหมายบังคับ (ประเทศที่มีกฏหมายบังคับเรื่อง car seat เช่น อเมริกา อังกฤษ เยอรมัน ญี่ปุ่น เป็นต้น) ใช่ครับ ประเทศไทยไม่มีกฏหมายบังคับเรื่องใช้ car seat แต่เรื่องของเจ้าตัวเล็กเราจำเป็นต้องรอหรือครับ

          ผมคงไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญเรื่อง car seat ดังนั้นผมคงจะไม่มาบอกว่า ‘จำเป็นต้องใช้หรือไม่’ แต่ผมจะมาเล่าเรื่องที่รู้ และประสบการณ์ในการเลี้ยงเจ้าปูนปั้นบน car seat ให้อ่านกันดีกว่าครับ

          ผมเคยอ่านเจอจากที่ไหนสักแห่งว่าคนไทยเสียชีวิตจากอุบัติเหตุเป็นอันดับ 2 รองจาก โรคมะเร็ง ส่วนเด็กไทยมีสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต่างจากผู้ใหญ่ เพราะอันดับหนึ่งคือ จมน้ำ ส่วนอุบัติเหตุทางรถยนต์ ตามมาเป็นที่สอง คือ เริ่มเรื่องมาแบบนี้ผมว่าเราตัดสินใจไม่น่ายากนะฮะว่าเราควรใช้ car seat กับเจ้าตัวเล็กมั้ย

          สำหรับครอบครัวเรา เราซื้อ car seat ไว้ตั้งแต่ปูนปั้นยังอยู่ในท้องของหม่าม๊าโน่นเลยครับนั่นก็หมายความว่า ปูนปั้นนั่ง car seat เป็นตั้งแต่แรกเกิด เพราะเราให้ปูนปั้นนั่งครั้งแรก ตั้งแต่วันแรกที่ออกจากโรงพยาบาลเพื่อเดินทางกลับบ้านกับปะป๊าและหม่าม๊าเลย ดังนั้นปูนปั้นก็คุ้นเคยว่าต้องนั่งบน car seat ทุกครั้งเมื่อขึ้นรถ จึงตัดปัญหาที่เกิดขึ้นกับหลายๆ ครอบครัวที่เจ้าตัวเล็กไม่ยอมนั่ง car seat เพราะมาซื้อให้นั่งตอนเขาโตขึ้นมาหน่อย ซึ่งเจ้าตัวเล็กก็ไม่ยอมนั่งเพราะเขาอาจจะรู้สึกอึดอัด แต่ถ้าเราให้นั่งตั้งแต่ครั้งแรกๆ ปัญหาตรงนี้ก็น่าจะหมดไป เพราะเขาคุ้นเคย หรืออาจจะมีแค่ช่วงแรกนิดหน่อย แต่เขาก็จะเรียนรู้เองได้ในไม่นานนัก

          เรามักคิดว่า การอุ้มเขาไว้ปลอดภัยกว่า  ผมว่ามันเกิดจากความเชื่อและสมมติฐานแบบง่ายๆว่าเราอุ้มเขาแบบทะนุถนอมมันก็ต้องปลอดภัย แต่บนถนนมันมีตัวแปรมากมาย และเป็นไปไม่ได้ที่จะอุ้มเขาไว้หรือเขายอมให้เราอุ้มตลอดเวลา ดังนั้นถ้าจะให้ประโยคว่า ‘การอุ้มเขาไว้ปลอดภัยกว่า’ เป็นจริง นั่นหมายถึง กรณีที่ไม่มีอุบัติเหตุ แต่หากเป็นตรงกันข้าม เวลาเกิดอุบัติเหตุแรงๆ คุณรู้มั้ยครับว่าสิ่งที่ป้องกันการกระแทกของคุณโดยที่ทำงานได้เร็วกว่า ถุงลมนิรภัย คืออะไร ผมเชื่อว่าคุณตอบคำถามนี้ได้ครับ

          ประเด็นต่อมาคือ มันไม่ได้อยู่เพียงแค่ว่า เราขับรถดีขนาดไหน อย่างที่เขียนไปข้างต้น ตัวแปรบนถนนมีมากมาย ทั้งที่คุมได้และคุมไม่ได้ ขนาดที่คิดว่าคุมได้อย่างอารมณ์เราเอง เมื่อถูกยั่วยุ ใครจะรู้ว่าเราจะยังคุมได้อยู่จริง ดังนั้นบนท้องถนน ต่อให้คุณขับรถระดับเทพ แต่เพื่อนร่วมเดินทางคันอื่นๆ  เราไม่อาจรู้ได้เลย  ดังนั้นถ้ามีอะไรเกิดขึ้นอย่างน้อย car seat ก็ปกป้องเจ้าตัวเล็กได้ดีกว่าการปล่อยเขานั่งเฉยๆบนเบาะ หรือ บนตักก็ตาม

          สะดวกและปลอดภัย ง่ายกับการเดินทาง เพราะกรณีคุณต้องขับรถและอยู่กับเจ้าตัวเล็กสองต่อสองความยุ่งวุ่นวายต้องเกิดขึ้นแน่ถ้าปล่อยให้เจ้าตัวเล็กนั่งเองบนเบาะรถยนต์ ผมมีประสบการณ์ในครั้งแรกที่จะต้องไปรับเจ้าปูนปั้นกลับจากเนอร์สเซอร์รี่โดยที่ไม่มีหม่าม๊านั่งไปด้วย ผมกังวลไม่น้อยแต่ด้วยที่เจ้าปูนปั้นนั่ง car seat พอออกรถผมก็เพียงแต่เตรียมขวดนมไว้ข้างๆ ตัวเจ้าปูนปั้น พอเขาหิวในตอนผมขับรถอยู่เขาก็ฉวยขวดนมมาเข้าปาก แค่นั้นผมก็พาเจ้าตัวยุ่งกลับบ้านสบายๆ

         car seat แพง จริงมั้ย ประเด็นคงไม่ใช่อยู่ที่เรื่องว่า ‘ราคาเท่าไหร่’ เพราะเราควรตั้งคำถามใหม่ว่า‘มันคุ้มค่ามั้ย’ สำหรับครอบครัวเราใช้ car seat ที่ผมยอมรับเลยว่า ผมจ่ายแพงเอาเรื่อง แต่ก็รู้สึกว่าคุ้มค่าทุกบาททุกสตางค์เพราะใครๆ เห็นก็มักบอกว่าดูเจ้าปูนปั้นนั่งสบายและมีความสุข นอกจากนั้นในรถคุณยายซึ่งจะเป็นคนไปรับเจ้าปูนปั้นกลับบ้านก็จะมี car seat อีกตัวเช่นกัน ซึ่งจริงๆแล้วก็มีให้เลือกหลายระดับราคาตั้งแต่ราคา 2-3 พันก็สามารถเลือกหาซื้อได้ไม่ยากครับ

         ดังนั้นเคล็ดไม่ลับ สำหรับการฝึกให้เจ้าตัวป่วนนั่ง car seat คือ

1)      ให้หัดนั่งตั้งแต่ยังเล็ก ถ้าจะให้ได้ผลชะงัดก็ทำอย่างที่ครอบครัวเราทำคือ นั่งตั้งแต่วันแรกที่กลับจากโรงพยาบาลหลังจากคลอดเลยครับ

2)      ต้องใจแข็ง เพราะบ่อยครั้งที่เจ้าตัวเล็กอาจจะโยเยด้วยสารพัดเหตุผลและไม่มีเหตุผล เพราะอยากจะออกจากที่นั่ง เราก็จะต้องอดทนเสียงร้องโลกแตกและใจแข็งไม่ยอมให้ออก เพราะถ้าเรายอมทุกครั้งที่เขาโยเยรับรองว่า ในที่สุดเราจะไม่สามารถให้เขานั่ง car seat ได้เพราะเขารู้ว่าถ้าร้องเดี๋ยวก็ได้ออก

3)      เตรียมของชอบที่หยุดการโยเยของเขาได้ อย่างเจ้าปูนปั้นจะชอบ รถกับรถไฟมากๆ ดังนั้นเราก็จะเตรียมไว้ ถ้างอแงก็หยิบมาให้เล่น นอกจากนั้น เจ้าปูนปั้นก็จะชอบเพลงของวงวัชราวลี และ ดิ อินโนเซนต์มาก ผมก็จะพกแผ่นไว้บนรถไว้เปิดให้ฟัง

4)      ขวดนม อีกหนึ่งของจำเป็นที่ขาดไม่ได้เลย

5)      สำหรับการติดตั้ง car seat ช่วงที่ยังไม่ถึง 1 ขวบ ให้ติดตั้ง car seat โดยให้เจ้าตัวเล็กหันหน้าไปทางหลังรถ จนอายุเกิน 1 ขวบถึงปรับหันมาหน้ารถ (บ้างก็ใช้เกณฑ์น้ำหนักว่าต้องหนักเกิน 15 กิโลกรัม) และ ตำแหน่งปลอดภัยที่สุดของ car seat คือ เบาะหลังคนขับ

         การให้เจ้าตัวเล็กนั่ง car seat ไม่ยากหรอกครับ ถ้าทำตาม 5 ข้อข้างต้น แล้วถ้าสงสัยว่า เด็กๆ นั่ง car seat แล้วเขาจะอึดอัดมั้ย ลองดูหน้าเจ้าปูนปั้นตัวป่วนสิครับ

      ติดตามเรื่องราวความน่ารักของครอบครัวน้องปูนปั้นได้ในคอลัมน์ FAMILY BLOGGER : www.real-parenting.com  ได้ทุกสัปดาห์

 แวะไปดู รอยยิ้มหวานฉ่ำ ที่มีแจกฟรีทุกวันได้ที่

www.facebook.com/Poonpun.Poonpoon นะครับ

 

 

บทความโดย: บรรทัดที่สิบเอ็ด (พ่อเอก-จิรัฏฐ์ สิริเฉลิมพงศ์)