AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

[Blogger พ่อเอก-34] สอนเจ้าว่า สัญญาต้องเป็นสัญญา

          “หม่ำๆ ก่อนแล้วจะพาไปขับเครื่องบิน”
          “ถ้าหนูกินยานะ เดี๋ยวซุปเปอร์แมนจะมาหา”
          คำพูดที่เข้าข่าย ‘สัญญาเกินจริง’ นั้น หม่ามี๊และปะป๊าจะเตือนกันอยู่เสมอครับ ว่าเราจะไม่สัญญาอะไรที่ทำไม่ได้กับปูนปั้น หรือ ทำได้จริงแต่อาจจะไม่ใช่เวลานั้น เราก็จะไม่สัญญา
          เราเชื่อว่านี่คือเรื่องที่สำคัญมากๆ เพราะเวลาเราปลอบเด็ก หรือจะหลอกล่อให้เขาทำอะไร เรามักจะพูดสัญญาอะไรไปเรื่อยเปื่อย (ขออภัยที่ใช้คำนี้นะครับ) เช่น เดี๋ยวพาไปที่นั่นที่นี่ หรือ ไปทำโน่นทำนี่ แต่เราอาจจะไม่ได้ใส่ใจไม่ได้ทำตามที่พูด เพราะเราคาดหวังแค่ให้เขาทำอะไรตามที่เราต้องการแค่นั้น เราเชื่อว่าเด็กยังเล็ก ‘เดี๋ยวก็ลืม’
          เมื่อเราไม่รักษาสัญญาแล้วจะหวังว่าเขาจะเชื่อฟังเรา มันก็ไม่ยุติธรรมเท่าไหร่นะฮะ แม้ว่าเด็กจะตัวเล็กๆ ดูเหมือนจะไร้เดียงสา เดี๋ยวก็คงลืมๆไป ไม่มีอะไรหรอกแต่ ….
          เรื่องบางเรื่องมันไม่ใช่ เรื่องสมอง หรือเรื่องของความจำ มันเป็นเรื่องของจิตใต้สำนึกครับ ผมเชื่อว่าเด็กจะค่อยๆ ซึมซับทีละเล็ก ทีละน้อยเขาจะเรียนรู้ไปเรื่อยๆ ว่า
          ‘ที่พ่อแม่สัญญามันมันอาจจะเกิดขึ้นจริงหรือไม่ได้เกิดขึ้นก็ได้ ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร’
          ดังนั้น เมื่อเขาเรียนรู้เช่นนั้น ต่อไปเวลาเราสอนให้เขาทำอะไรก็ตาม ก็หมายความว่า เขาอาจจะทำตามหรือไม่ทำตามก็ได้ เพราะสิ่งที่พ่อกับแม่สอน ‘ไม่ได้แปลว่าจริงทั้งหมดนี่นา’เมื่อเราไม่รักษาสัญญา ก็อย่าไปหวังว่าเขาจะเชื่อที่เราสอน เช่นกัน
          สำหรับครอบครัวเรา เราจะสัญญา อะไรที่ทำได้จริงๆเท่านั้น  เช่น เขาอยากกินไอติมก่อนกินข้าว เราจะบอกเขาว่าถ้าหนูกินข้าวก่อน เราจะให้ไปกินไอติม ซึ่งถ้าเขาไม่ยอมทานข้าวหรือทานน้อยเราก็ไม่ให้ไอติมจริงๆ (ใจแข็งมาก) แต่ถ้าเขากินข้าว เราก็จะให้กินไอติมตามสัญญาและไม่ลืมจะบอกเขาว่า หม่ามี๊กับปะป๊าทำตามสัญญาที่ตกลงกันนะ เพราะเรากำลังสอนให้เขาเคารพคำพูด หรือ เราบอกว่า ทำโน่นทำนี่ก่อนนะ แล้วจะพาไปดูปลา พอเขาทำเสร็จ เราก็จะพาไปดูปลาจริงๆ และก็ไม่ลืมบอกว่า เห็นมั้ยว่า หม่ามี๊กับปะป๊าทำให้หนูตามที่สัญญากันนะ เมื่อเรารักษาสัญญา ลูกก็จะเรียนรู้ว่า ปะป๊าหม่าม๊าพูดในสิ่งที่จริงและทำจริง พอเราสอนเขาก็เชื่อ
          แต่ถ้าเขาขออะไรที่เราอาจจะไม่สะดวกที่จะทำในตอนนั้น เราก็จะต่อรองนะฮะ เช่น บางทีอาบน้ำเสร็จแล้ว ใกล้จะขึ้นนอน อยู่ดีๆเจ้าปูนปั้น ก็จะมีอารมณ์ “Papa, go bike” เราก็จะบอกเขาว่า หนูอาบน้ำแล้ว เราจะเข้านอนแล้วไว้วันหลังเราค่อยไปปั่นจักรยานกันนะ ตอนนี้เราไปหา พี่กุ๊กไก่ ไปบ๊ายบายพี่กุ๊กไก่ แล้วเข้านอนกัน (เราจะมีพี่กุ๊กไก่ ดินเผาลงสี ตัวโต 2 ตัว อยู่แถวหน้าห้องนอนที่เจ้าปูนปั้นต้อง ‘กุ๊ด ไน้ กุ๊กไก่’ ก่อนนอน และ ตอนเช้าก็ ‘ไบ๋ บาย กุ๊กไก่’ ก่อนไปโรงเรียน)
          นอกจากจะไม่สัญญาเกินจริงแล้ว เราจะไม่หลอกให้เขากลัวโน่นนี่ เช่น เดี๋ยวตุ๊กแกมากินตับ หรือรู้ว่าเขากลัวอะไรแล้วเอามาขู่ เช่นสมมติเด็กกลัวหมา เราก็จะไม่ใช้ว่า ‘ไม่กินข้าวเดี๋ยวหมามากัดนะ’ หรือ ‘หมาไม่ชอบเด็กดื้อ ไม่ชอบเด็กกินข้าว’ เป็นต้น
          เพราะการทำแบบนั้น เด็กเขาจะกลัวสิ่งเหล่านั้นในแบบที่เราสอน เพราะเด็กเกิดมาเขาไม่กลัวอะไรหรอกครับ เขาไม่รู้จักว่าผีหลอกคน ไม่รู้ว่าตุ๊กแกต้องกินตับ เราจะสอนในแบบมุมมองด้านบวก เช่น ถ้าปูนปั้นหม่ำเยอะๆ หนูจะได้มีพลังแล้วจะได้ออกไปปั่นจักรยากับปะป๊าได้ หรือ บางทีเราก็ชวนเขาเอาขนมไปให้เจ้าบรู้กลินกับโมโม่ (เจ้าหมา 2 ตัวที่เป็นพี่ชาย พี่สาวของปูนปั้นลองแวะไปอ่านตอน ‘พ่ออยากให้เจ้าอ่อนน้อม กับธรรมชาติที่โอบล้อมเจ้า’) แล้วเราจะบอกเขาว่าเห็นมั้ยว่า ใครๆ ก็ต้องหม่ำทั้งนั้น แล้วเราก็จะกลับมานั่งหม่ำไปพร้อมกันกับเขา (ปูนปั้นตักข้าวหม่ำเองตอนประมาณ 1 ขวบ 8 เดือน)แล้ว 3 คนพ่อแม่ลูกก็นั่งหม่ำพร้อมกัน ไม่มีการขู่
          แล้วเราก็ต้องทำตัว เป็นตัวอย่างที่ดีด้วยนะฮะ ไม่แสดงความกลัวให้เขาเห็นด้วยครับ (แม้จะกลัว 555) เช่น เมื่อวันก่อนมีแมลงสาบตัวเล็กๆ วิ่งผ่านผมในสนามหญ้า ผมสะดุ้ง (อยากจะเตะมากเลย) แต่ผมก็ทำเฉย พอเจ้าปูนปั้นจะเดินมาใส่รองเท้า ผมไม่รู้ว่าใช่เจ้าแมลงสาบตัวเดิมมั้ย แต่มันเดินมาผ่านหน้าเจ้าปูนปั้น ซึ่งเจ้าปูนปั้นก็มองเฉยๆ
          การเรียนรู้ของเด็กมันไว ไวมากจนคุณคิดไม่ถึง มีวันหนึ่งเมื่อหลายเดือนก่อนเจ้าปูนปั้นกลับมาถึงบ้านก็ทำท่าตบมือ ครั้งแรกเราก็ไม่ได้คิดอะไรนึกว่าตบมือเล่นเฉยๆ แต่พอทำครั้งที่ 2 เราถึงรู้ว่าเจ้าปูนปั้น ทำท่าตบยุงเลียนแบบพี่เลี้ยงที่เนอร์สเซอร์รี่มา555 จนเดี๋ยวนี้เวลาผมเผลอตบยุงต่อหน้าเขาเมื่อไหร่ เขาก็จะทำตาม
          สิ่งที่เราสอนเราสัญญา กับเขา มันจะซึมซับเข้าไป ทำไมผมรู้หรอครับ มันไม่ใช่ไสยศาสตร์ครับ มันเป็นวิทยาศาสตร์ เช่นบางครั้งขณะที่ผมกำลังนั่งพิมพ์ต้นฉบับอยู่ที่บ้านแล้วปูนปั้นมาชวนเล่น ผมจะบอกเขาว่า “Wait Papa for 5 minutes, ok? And Papa will play with you”
          สิ่งที่เขาตอบกลับมาหลายๆครั้งทำเอาน้ำตาซึม เขาตอบ
          “โอเค๊ อะโมเมนต์ … ปะป๊า เวิร์กกิ้ง”

 

บทความโดย: บรรทัดที่สิบเอ็ด (พ่อเอก-จิรัฏฐ์ สิริเฉลิมพงศ์)