AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

[Blogger พ่อเอก-31] จะไม่ทิ้งเจ้าไว้ ในโลกเสมือน

          วันที่เขียนต้นฉบับนี้ เจ้าปูนปั้นอายุกำลังย่างเข้า 1 ปี 9 เดือนแล้ว เราบอกได้ว่าตลอด 20 เดือนนับแต่เจ้าปูนปั้นเกิดมาจนถึงตอนนี้ จำนวนครั้งที่เจ้าปูนปั้นได้นั่งดูทีวีเป็นเรื่องเป็นราวน่าจะนับครั้งได้ ไม่เกินจำนวนนิ้วมือ

          ในตอนที่แล้ว ผมได้ทิ้งท้ายว่า ‘หม่าม๊ากับผมจะไม่ดูทีวี ในเวลาที่เจ้าตัวป่วนยังไม่หลับ เพราะเกรงว่าเจ้าตัวป่วนจะเห็นภาพและเลียนแบบอะไรที่ไม่ดี’ เพราะเราเห็นพลังในการจดจำและเลียนแบบของเจ้าตัวป่วนมาแล้ว

นอกจากนั้น เราเลือกที่จะเชื่อและเลี้ยงเจ้าปูนปั้นให้ห่างจากทีวี เพราะมีการศึกษาว่า การทิ้งเด็กไว้หน้าทีวีจะทำให้พัฒนาการบางอย่างช้าลง โดยเฉพาะในเรื่องการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้คนรอบข้าง และการพูด (โดยปกติแล้วปะป๊าเป็นคนติดทีวีมากทีเดียว ไม่ได้ติดละคร แต่เวลาพิมพ์งาน หรืออ่านหนังสือก็ยังชอบเปิดทีวีควบคู่ไปด้วย พวกรายการกีฬา ข่าว สารคดี เป็นต้น)

คำว่าทีวี ในที่นี้ ผมหมายรวมถึง ไอแพด ไอโฟน หรืออะไรก็แล้วแต่ที่มีลักษณะเดียวกัน ผมไม่เถียงเลยว่า การปล่อยให้เด็กอยู่กับของเหล่านั้น มันช่วยทำให้เลี้ยงเจ้าตัวเล็กได้ง่ายขึ้น เพราะเด็กๆ ก็จะอยู่นิ่ง เมื่อมีภาพเคลื่อนไหวที่เขาสนใจ ทำให้คุณพ่อคุณแม่สามารถปลีกตัวไปทำธุระอย่างอื่นได้ แต่สิ่งเหล่านั้นมันเป็นการสื่อสารด้านเดียว เด็กได้ดูได้มองแต่อาจจะไม่ได้เข้าใจ ไม่ได้ซักถามพูดคุย (บางครั้งง่วง เหนื่อยมากๆ ก็อยากจะเปิดทีวี ให้เจ้าตัวป่วนนั่งจุมปุ๊กแล้วเราจะได้งีบซะหน่อยเหมือนกัน 555)

คำถามผมคือ ‘นั่นใช่ข้อแลกเปลี่ยนที่คุ้มค่าและถูกต้องหรือเปล่า’

เราเองก็ไม่ได้ ปฏิเสธว่าสิ่งของเหล่านั้น มีแต่โทษ เพราะถ้าใช้ให้เหมาะสมก็มีประโยชน์อยู่เช่นกัน ยอมรับว่า เราก็ใช้ไอโฟน ไอแพด เปิดเพลงเพื่อให้เจ้าปูนปั้นหัดฟัง ใช้สอนภาษา รวมไปถึงบางครั้งเราก็จะหาคลิปการ์ตูนเรื่อง Cars เปิดให้เจ้าปูนปั้นดู เพราะถ้าได้เห็นสายตาเปี่ยมสุขตอนที่เจ้าปูนปั้นดูการ์ตูน Cars บางทีก็ทำให้เราก็ลังเลเหมือนกัน (เจ้าปูนปั้น ได้ท่าหมุนตัวมาจาก Mater ในการ์ตูน Cars นี่แหละฮะ)

แต่ประสบการณ์ที่ผ่านมา ทำให้เราเชื่อว่า เราได้ทำสิ่งที่ถูกแล้ว

เราเป็นครอบครัวเดี่ยว อยู่กันเพียง 3 คน คือ ปูนปั้น หม่าม๊าและ ปะป๊า ดังนั้นการต้องไปทานข้าวข้างนอกกันถือเป็นเรื่องปรกติ และด้วยความซนของเจ้าตัวยุ่ง ช่วงหนึ่งเราก็ใช้วิธีที่จะทำให้เจ้าปูนปั้นไม่ไปสร้างความป่วนในร้านอาหารคือ จับให้นั่งลงแล้วเปิดคลิปที่เขาชอบให้เขานั่งดู ซึ่งก็ทำให้เราสบายขึ้นเยอะ ได้นั่งทานสบายใจ หรือเมื่อช่วงที่เราเดินทางไปเที่ยวรัสเซียกัน 3 คน (อ่านตอน มอสโก เดินทางไกลไปด้วยกัน) เราก็ใช้มุกนี้แทบจะทุกมื้อเมื่อเข้าไปนั่งในร้านอาหาร หรือ เวลาที่เจ้าปูนปั้นงอแงบนรถไฟใต้ดิน เราก็เปิดไอโฟนให้เขาดู เพื่อไม่ให้กวนคนอื่น อีกทั้งสัมภาระตอนเดินทางก็เยอะเลยไม่สะดวกที่จะเล่นอะไรกันเท่าไหร่ จนกระทั่งวันท้ายๆ ของทริป ปะป๊าเริ่มรู้สึกว่า เราเริ่มจะตกเป็นรองเจ้าปูนปั้น เพราะรู้สึกว่า เจ้าตัวป่วนเริ่มติดเป็นนิสัย ถ้าลงนั่งร้านอาหารเมื่อไหร่ ต้องจบที่การเปิดคลิปอยู่เรื่อย ไม่เช่นนั้นจะงอแง เมื่อเริ่มไม่สบายใจ ปะป๊าก็ถามหม่าม๊าว่า  เมื่อกลับไทยเราควรจะลดวิธีนี้ลงเนอะ

และเมื่อกลับมา เราก็ปรับจากเดิมที่จะใช้ ไอแพด ไอโฟน เป็นเครื่องมือจัดการให้เกิดความสงบ เปลี่ยนเป็นเครื่องมือเพื่อที่จะเรียนรู้อะไรใหม่ๆ

เราไม่เปิด ไอแพด ไอโฟนและปล่อยเขาดูคนเดียว เราไม่เปิดเพื่อให้เขานั่งนิ่งๆ แต่เราใช้เวลาให้เป็นรางวัลและเราก็จะนั่งดูไปด้วยกัน คุยกันไป สอนกันไป และ ไม่ได้ให้ดูนาน

ซึ่งเอาเข้าจริงๆ เขาก็ไม่งอแงอะไร ถ้าเราไม่เปิดสิ่งเหล่านั้น แต่เราชวนเขาคุย นั่งเล่นกับเขาด้วยกัน เรียกได้ว่า ตั้งแต่เรากลับมาจากทริป เราจะแทบไม่เปิดคลิปให้ดูเลย ส่วนทีวีแน่นอนปะป๊าหม่าม๊าได้ดูเมื่อเขาหลับแล้วเท่านั้น

ถ้าเรามีเวลาให้ เครื่องมือเหล่านั้นก็ไม่จำเป็นเลย หม่าม๊าบอกผมไว้ตั้งแต่เจ้าปูนปั้นยังไม่เกิดว่า จะไม่ให้เขาดูทีวีจนกว่าจะครบ 2 ขวบ และ เมื่อให้ดู เราก็จะค่อยๆ เพิ่มและนั่งดูไปด้วยกันกับเจ้าปูนปั้น

ผ่านมาปีกว่าที่ได้เรียนรู้การเป็นพ่อ ผมเชื่อจริงๆ ฮะ ว่าเด็กสอนได้ และเขาเข้าใจด้วย  เพียงแต่เขายังเด็ก จึงอาจจะต้องหามีปัจจัยช่วย

1) วิธีในการสอน ที่เราต้องสังเกตเองว่า ลูกเราชอบให้สอนแบบไหน สำหรับที่บ้านเราชอบสอนแบบทำให้เป็นเรื่องสนุก (ไว้จะมาเล่าเรื่องสอนกินข้าว สอนรดน้ำต้นไม้ สอนถูบ้าน เช็ดโต๊ะ)

2)อาจจะต้องใช้เวลามากสักหน่อย

อีกทั้ง 3) ต้องอดทน

4) ต้องรู้จักชมเชยและก็รู้จักการดุและทำโทษ (การทำโทษไม่ใช่ต้องตีให้แรง แต่เราตีให้เขารู้และเข้าใจได้)

          ยังไง ยังไง โลกเสมือนก็สู้โลกจริง ไม่ได้หรอกฮะ

 

 แวะไปดู รอยยิ้มหวานฉ่ำ ที่มีแจกฟรีทุกวันได้ที่

www.facebook.com/Poonpun.Poonpoon นะครับ

 

บทความโดย: บรรทัดที่สิบเอ็ด (พ่อเอก-จิรัฏฐ์ สิริเฉลิมพงศ์)