AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

[Blogger พ่อเอก-18] พบคุณหมอพัฒนาการเด็ก (ตอนที่ 1)

        ตอนที่เจ้าปูนปั้นอายุได้ 1 ขวบ 4 เดือน หม่าม้าก็มาชวนปะป๊าว่า   “พาปูนปั้นไปหาคุณหมอผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการเด็กกันมั้ย “

        จริงๆ ปะป๊าไม่ค่อยเห็นด้วยเท่าไหร่แต่ก็ไม่อยากขัดใจหม่าม้า เพราะหม่าม้าบอกว่า

        “อยากให้คุณหมอดูว่า เราควรพัฒนาอะไรให้เจ้าปูนปั้นเพิ่มเติมบ้าง และด้วยวิธีอย่างไร”

        หม่าม้าหว่านล้อมปะป๊าว่า คุณแม่บางคนจะได้รับคำแนะนำจากคุณหมอถึงวิธีอ่านนิทานให้มีเสียงสูงต่ำ จึงจะทำให้ลูกสนใจ  มันอาจจะดูเป็นเรื่องธรรมดาที่เรามองข้าม  แต่คุณหมอเฉพาะทางเห็นความสำคัญของเรื่องนี้และนำมาแนะนำให้เรา  เพราะการสื่อสารกับเด็กนั้นมีความอ่อนไหวพอตัวทีเดียว

       หม่าม้าโทรไปขอนัดคิวคุณหมอ  แต่กว่าจะได้พบก็ต้องรอประมาณ 2-3 สัปดาห์  (คุณหมอที่เราไปพบ คือ พญ.เสาวภา พรจินดารักษ์ )  พอได้เจอหน้าคุณหมอ คุณหมอถามคำถามแรกว่า  “จะมาถามเรื่องอะไรคะ”  ในขณะที่ปะป๊า ทำหน้ามึน หม่าม้าก็ตอบคุณหมอไปว่า “กลัวว่า ปูนปั้น จะสมาธิสั้นคะ” 

        ช่วงแรกๆ คุณหมอก็จะไม่ยุ่งกับเจ้าปูนปั้นเท่าไหร่  จะปล่อยให้เราชวนปูนปั้นเล่นโน่นเล่นนี่ เหมือนเวลาอยู่ที่บ้าน แล้วคุณหมอจะแค่สังเกตดูพฤติกรรมทั่วๆ ไปแล้วก็จะถามข้อมูลเราเพื่อประเมินดูวิธีเลี้ยงดูของเรา  ประเมินการมีปฏิสัมพันธ์กันระหว่างในครอบครัว และที่สำคัญเพื่อประเมินดูธรรมชาติเวลาอยู่ที่บ้านของเจ้าปูนปั้น

       จากเดิมปะป๊าไม่รู้มาก่อนว่าหม่าม้ามีความกังวลอะไรในตัวเจ้าปูนปั้น ก็เพิ่งจะรู้วันนี้นี่เอง ว่าหม่าม้ากลัวว่าเจ้าปูนปั้นจะเป็นเด็กสมาธิสั้น เนื่องจากเห็นปูนปั้นนั่งฟังนิทานไม่ได้นานๆ และกับของเล่นบางอย่าง ก็เล่นแป๊บเดียวก็เลิกเล่นซึ่งทั้งหมดนั่นไม่ใช่สิ่งที่ปะป๊ากังวลเลย (ทำเอาคุณหมอทำหน้างงว่า คุณพ่อคุณแม่ไม่ได้คุยกันก่อนมารึ ฮ่าฮ่าฮ่า)

        ผมตอบคุณหมอไปว่าคุยกันมาแต่ปะป๊าไม่รู้ว่าหม่าม้ากังวลแบบนี้  เพราะทีแรกบอกผมแค่ว่าจะมาให้คุณหมอดูพฤติกรรมทั่วไปแล้วขอคำแนะนำว่าควรปรับปรุงเพิ่มเติมอะไรบ้างอย่างไร หลังจากคุณหมอคุยกับปะป๊าและหม่าม้าไปพักใหญ่  คุณหมอมีสีหนาแปลกใจเล็กๆ ว่าเราสองคนมีมุมมองต่างกันมาก ในขณะที่หม่าม้ากังวล  ปะป๊ากับดูพอใจและมีความสุขกับพัฒนาการและสิ่งที่ปูนปั้นเป็น หรือในขณะที่หม่าม้าพยายามศึกษาหาวิธีที่จะพัฒนาปูนปั้นเพิ่ม ปะป๊ากลับรู้สึกอยากให้เขาอิสระในแบบที่เขาอยากโต

        ถึงจุดนี้คุณหมออธิบายได้ดีทีเดียวครับว่า สิ่งที่ปะป๊าคิดก็ถูก ในการที่จะปล่อยให้เขาเติบโตตามธรรมชาติแบบปล่อยอิสระอยากทำอะไรก็ทำ ไม่อยากทำก็ยังไม่ต้องทำ แต่นั่นก็อาจจะเสียโอกาสที่ลูกเราอาจจะพัฒนาไปได้อีกขั้นถ้าเรารู้ว่าเขาพร้อมและ/หรือเรารู้ว่าควรสอนอะไรเขาต่อ ด้วยวิธีไหน เช่นเราเล่าให้คุณหมอฟังว่าปูนปั้นชอบเล่นรถมากและเล่าวิธีเล่นรถของปูนปั้นให้คุณหมอฟัง คุณหมอบอกว่า วิธีการเล่นของปูนปั้นเป็นการเล่นรถที่ใส่จินตนาการเพิ่มเติมได้ดี ซึ่งจริงๆ ถ้าเราสอนอย่างอื่นเพิ่มเขาจะพัฒนาไปได้มากกว่านี้ เป็นต้น

        ตอนหน้ามาอ่านต่อ ในขั้นต่อไปที่คุณหมอจะเริ่มสื่อสารกับเจ้าปูนปั้นโดยตรงครับ (อ่านต่อตอนที่ 2 นะครับ)

บทความโดย: บรรทัดที่สิบเอ็ด (พ่อเอก-จิรัฏฐ์ สิริเฉลิมพงศ์)
ภาพโดย: