เมื่อ 3 เดือนแรกของการลาคลอดหมดลง เวลาที่เราจะอยู่กับเจ้าปูนปั้นตลอด 24 ชั่วโมงก็หมดลงไปด้วย แต่นั่นก็ไม่น่ากังวล เท่ากับที่จะต้องเอาเจ้าปูนปั้นไปฝากให้คนซึ่งไม่รู้จักหน้าค่าตาเลี้ยงดู เพราะเราอยู่กันเอง 3 คน ปะป๊า หม่ามี๊ และ ปูนปั้น จะเอาไปฝาก คุณปู่ คุณย่าก็คงไม่ไหว เพราะ70-80กว่าแล้ว เลี้ยงหลานมา 4 คนแล้ว จะเอาไปฝาก ตา ยาย ก็ยังไม่เกษียณ ให้หาเงินไว้ซื้อของเล่นให้ปูนปั้นดีกว่า (ฮา)
ปลาย กุมภาพันธ์ 2556 เราต้องพาเจ้าปูนปั้นไปโรงเรียน (เราไม่ค่อยได้เรียก Day Care เพราะ เราส่งเขาไปเรียนรู้โลกภายนอกบ้าน)ในวันนั้นเจ้าปูนปั้นเพิ่งมีอายุ 3 เดือนกว่า พอจะนึกภาพกันออกมั้ยครับว่า เจ้าปูนปั้นน่าจะตัวกระเปี๊ยกอยู่เลยแม้เราจะวางแผนกันมานานแล้ว โดยไปลงชื่อไว้ตั้งแต่ปูนปั้นยังอยู่ในท้องอายุครรภ์แค่ 3-4 เดือน แต่เมื่อวันนั้นมาถึงผมยังจำความรู้สึกวันแรกได้ดี หน้าตากังวลของหม่ามี๊กับปะป๊าเก็บเอาไว้ไม่อยู่หรอกครับเราถามสารพัดคำถามเพื่อให้เรารู้สึกอุ่นใจขึ้น แต่มันก็ช่วยไม่ได้มากเท่าไหร่ ตอนที่เราต้องเดินออกมาจาก Day Care พอปูนปั้นลับตาไป น้ำตาเราแทบจะร่วงเลยครับ
โชคดีอยู่บ้างที่เจ้าปูนปั้นเป็นเด็กเลี้ยงง่าย อยู่กับใครก็ได้ (สังเกตจากเวลาใครมาเยี่ยม เจ้าปูนปั้นก็ให้เขาอุ้มได้ทุกคน) เราก็แอบหวังว่า ด้วยความที่เขาไม่ใช่เด็กงอแงก็น่าจะทำให้พี่ๆรู้สึกเอ็นดู และถ้าปูนปั้นแจกยิ้มเหมือนตอนอยู่ที่บ้าน พี่ๆที่นั่นก็น่าจะดูแลเขาดีแหละน้า นั่นคือวิธีปลอบใจตัวเองของเรา แต่เมื่อผ่านไปประมาณ 1 เดือน สิ่งที่เราได้รับจากพี่เลี้ยงก็ทำให้เราอมยิ้มในใจเล็กๆ ‘ปูนปั้นเลี้ยงง่าย กินเก่ง อารมณ์ดี’และ ได้กลายเป็นขวัญใจพี่ๆหลายคนที่นั่น มีพี่คนหนึ่งบอกว่า ‘เลี้ยงปูนปั้นง่าย เหมือนไม่ต้องทำอะไร ก็ได้ค่าจ้างฟรีๆ’ ได้ยินแบบนี้ เราก็ปลื้มครับ
สำหรับคนที่หา เนอร์สเซอร์รี่ หรือ Day Care ให้ลูกอยู่ ขอให้หาที่ไว้ใจได้จริงๆเป็นหลัก โดยสอบถามคนที่มีประสบการณ์ที่เราเชื่อใจได้ และเคยใช้บริการมาก่อน เพื่อให้แน่ใจว่าเขาจะดูแลลูกเราดี (ซึ่งไม่ได้เกี่ยวกับความหรูหราของสถานที่นะครับ) ซึ่งบางแห่งอาจจะต้องจองไว้ล่วงหน้าตั้งแต่อยู่ในท้อง เพราะที่ที่มีชื่อเสียง เรื่องการเลี้ยงดู เอาใจใส่ดี (ไม่ใช่แปลว่าต้องแพงเสมอไป)มักจะมีคนไปจองล่วงหน้าไว้เยอะ อย่างที่ปูนปั้นอยู่ถ้าไม่ได้จองไว้ตั้งแต่อยู่ในพุงหม่ามี๊ก็อาจจะลำบาก เพราะคิวยาวใช่เล่น
จะว่าไป การที่ต้องส่งเจ้า ปูนปั้นไป Day Care ก็ใช่ว่า จะเป็นเรื่องที่ไม่ดี เพราะเท่าที่ฟังผู้มีประสบการณ์ในการเลี้ยงลูกบอกว่า การไปอยู่เนอร์สเซอร์รี่ จะทำให้เขารู้จักปรับตัวในการเข้าสังคม เพราะเด็กบางคนมีปัญหาตอนเข้าอนุบาล เนื่องจากว่า ตอนอยู่บ้านกับ พ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย เขาคือศูนย์กลางของบ้าน ทุกคนวิ่งเข้ามาหา มาเล่นด้วย พอไปเข้าอนุบาลปรับตัวไม่ถูกเพราะคุณครู 1 คน ต้องดูแลเด็กมากมาย ดังนั้น เขาไม่ใช่ศูนย์กลางอีกแล้ว ซึ่งแตกต่างจากเด็กที่ผ่านเนอร์สเซอร์รี่ ที่ปรับตัวเป็นตั้งแต่ตัวกระเปี๊ยก
ในแต่ละวัน พี่ๆที่ Day Care ก็จะจดลงในสมุดบันทึกว่า แต่ละวัน เจ้าปูนปั้นกินนมแม่ไปเท่าไหร่ ถ่ายกี่ที และ เขาทำอะไรบ้าง กลับมาถึงบ้าน เราก็จะมาอ่านกันเพลินๆ ตัวอย่างที่พี่ๆบันทึกถึงปูนปั้น เช่น
‘เวลาหิว จะไม่ยอมเอาอะไรเลยคะ’ [อ่านแล้ว หม่ามี๊กับปะป๊า อ๊ายอาย 555]‘ทานเก่งมากเลยคะ ร้องจะกินอย่างเดียว’ [ควรจะรู้สึกภูมิใจมั้ยน้อ]
‘เมื่ออิ่ม จะนั่งหลับ เวลาเรียน’ [จะขำ หรือปวดขมองดีหละนี่] ‘ชอบปลุกเพื่อน เวลาเพื่อนหลับ’ [เฮ้อ สงสารพี่ๆที่ดูแลจัง ไหนบอกว่าเลี้ยงง่ายไง] ‘ชอบแกล้งเพื่อน ไปนอนทับเพื่อน’ [กร้าก สงสารเหยื่อผู้เคราะห์ร้าย] |
การมาอ่านบันทึกที่พี่ๆเขียนในสมุดบันทึกก็ขำดีไม่ใช่เล่นฮะ ตอนเช้าๆ พี่ๆเขาจะมีชื่อเรียกใหม่ๆ เรียกเจ้าปูนปั้นอยู่เรื่อยๆซึ่งน่าจะมาจากละครทีวี บางวันปูนปั้นเป็น ‘คุณชายหมอ’ บางวันเป็น ‘คุณชายพัฒน์’ ถ้าคุณกำลังจะต้องส่งลูกไปอยู่ Day Care อ่านแล้ว รู้สึกสนุก สบายใจขึ้นหรือยังครับ
แวะไปดู รอยยิ้มหวานฉ่ำ ที่มีแจกฟรีทุกวันได้ที่
www.facebook.com/Poonpun.Poonpoon นะครับ
บทความโดย: บรรทัดที่สิบเอ็ด (พ่อเอก-จิรัฏฐ์ สิริเฉลิมพงศ์)