AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

[Blogger พ่อเอก-01] เป็นเด็กดีนะ แล้วเย็นนี้เจอกัน

          เวลาที่คุณต้องออกจากบ้านไปข้างนอกแล้วต้องฝากเจ้าตัวเล็กไว้กับใครสักคน ไม่ว่าจะเป็น ปู่ย่า ตายาย ญาติพี่น้อง เพื่อน หรือ คนรู้จักก็ตาม ก่อนที่เราจะแยกจากเจ้าตัวเล็กและฝากเขาไว้คุณทำอย่างไรกันฮะ

          ผมเข้าใจว่า หลายๆ ครอบครัวเลือกที่จะ แอบย่องออกไป ไม่ว่าจะหลอกล่อให้เจ้าตัวเล็กไปทำอย่างอื่น หรือ หลอกเขาว่าเราจะไปห้องน้ำ หรือทำอย่างไรก็ได้ให้เขาไม่เห็นเราในสายตา แล้วเราก็แวบออกไป

          เหตุผลง่ายๆ เพราะ ทั้งพ่อแม่และคนที่รับฝาก กลัวว่าเจ้าตัวเล็กจะร้องตามกลัวว่าเขาจะงอแง

          ตอนที่เจ้าปูนปั้นยังตัวกะติ้ดอยู่ในพุง ปะป๊ากับหม่าม๊าและเพื่อนๆ ได้มีนัดไปกินข้าวบ้านพี่มด เป็นพี่ที่เราสนิทและนับถือ หนึ่งในหัวข้อสนทนาวันนั้น ก็คือคำแนะนำในการเลี้ยงดูเจ้าปูนปั้นนี่แหละฮะ

          พี่มดบอกว่าในเวลาที่พี่มดจะต้องออกจากบ้านไปข้างนอก แล้วต้องฝากลูกไว้กับใคร หรือ พี่มดจะไปทำธุระแล้วต้องฝากลูกๆ ไว้กับ Daddy (สามีพี่มดเป็นชาว Dutch ครับ) เขาก็ตาม พี่มดจะบอกลูกทุกครั้งว่า แม่จะออกไปทำธุระข้างนอกนะ ไปนานแค่ไหนกลับตอนไหน เพราะพี่มดบอกว่าเด็กเขาคุยรู้เรื่อง ซึ่งหม่าม๊าเจ้าปูนปั้นเองก็เคยอ่านเจอมาว่า เราไม่ควรเลือกวิธีแอบหนีออกไป โดยไม่ให้เจ้าตัวเล็กรู้เพราะเขาอาจจะรู้สึกว่าถูกทิ้ง ความรู้สึกเล็กๆ ที่สะสมบ่อยๆ ก็อาจจะทำให้เกิดปมกับเด็กได้

          สำหรับครอบครัวเราแล้ว ไม่ว่าจะต้องไปฝากเจ้าปูนปั้นที่ไหน เราก็จะบอกปูนปั้นตรงๆ ทุกครั้ง เช่นทุกวันที่เราไปฝากเขาที่เนอร์สเซอรี่ ก่อนแยกกับเจ้าปูนปั้น เราก็จะบอกเขาว่า

           อยู่กับพี่ๆ เป็นเด็กดีนะครับ เย็นนี้คุณยายมารับ แล้วหม่าม๊า ปะป๊าจะรีบกลับไปเล่นด้วย’

          ซึ่งก็ใช่ที่บางครั้งเจ้าปูนปั้นก็มีเบะ มีโฮ โดยเฉพาะช่วงที่ไปเที่ยว หรือ หยุดหลายวัน เจ้าปูนปั้นก็คงไม่อยากไปโรงเรียน แต่เราก็บอกเขาตรงๆ ทุกครั้ง ข้อดีที่เราเห็นคือ เวลาที่เนอร์สเซอรี่ปิดเพราะอาจจะมีการป่วยของเด็กหลายคนแล้วเราต้องพาเจ้าปูนปั้นไปฝาก หยี่ผ่อ (แปลว่า ยายในภาษากวางตุ้ง) เราก็จะบอกแบบเดียวกันว่า

           ‘วันนี้อยู่กับหยี่ผ่อ เป็นเด็กดี ไม่งอแงนะ เย็นนี้หม่าม๊ามารับ’

          สิ่งที่เราได้รับฟีดแบ็กคือหยี่ผ่อบอกว่า ปูนปั้นไม่งอแงเลย พอเราออกไป ปูนปั้นก็เชื่อฟังหยี่ผ่ออย่างดี ผมมาคิดต่อเองว่า อาจจะเป็นเพราะเขารู้ว่า เขาต้องอยู่ถึงตอนเย็นกว่าหม่าม๊า ปะป๊า จะมารับดังนั้นเขาก็อยู่อย่างสนุกสนานของเขา แต่ถ้าเราหลบออกไป เขาอาจจะรอว่าทำไมหม่าม๊า ปะป๊ายังไม่มารับเขากลับไป เมื่อคิดแบบนี้เขาก็อาจจะงอแงกับคนที่เป็นคนดูแล เพราะเขาใม่ได้พร้อมจะอยู่ด้วย

          ที่เนอร์สเซอรี่เองก็เช่นกัน เมื่อหลังสงกรานต์ที่ผ่านมา เจ้าปูนปั้นต้องย้ายฝั่งไปอยู่ฝั่งเด็กโตขึ้นเพราะครบขวบครึ่งแล้ว ไม่ได้ย้ายคนเดียวแต่ย้ายทั้งห้องที่รุ่นเดียวกัน พอวันแรกที่ไปส่งห้องใหม่ พี่เลี้ยงก็จะเป็นชุดใหม่ ซึ่งพอพี่เลี้ยงออกมารับเจ้าปูนปั้นก็มีเบะนิดนึง อาจจะเป็นเพราะทั้งเพิ่งหยุดยาวด้วย อีกทั้งห้องใหม่ไม่คุ้นตา แต่เราก็จะพูดกับเจ้าปูนปั้นว่า

           อยู่กับป้าไพ (ชื่อพี่เลี้ยง) นะ ป้าไพใจดี แล้วเย็นนี้เจอกันนะ’

          ก็มีเสียงงอแงนิดหนึ่ง แล้วก็พอลับตาก็เงียบ แต่มีเจ้าตัวเล็กที่ย้ายมาพร้อมปูนปั้นนั่งอยู่ใกล้ๆ ซึ่งคุณแม่ยังอุ้มอยู่ คุณแม่ท่านนั้นก็หันมาบอกว่า ‘ปูนปั้นเก่งจังไม่ร้องเลย’ ปะป๊าก็ตอบไปว่าเมื่อกี๊ก็ร้องนะฮะ คุณแม่ตอบมาว่า ‘ แงนิดเดียวเอง’

          สิ่งหนึ่งที่เราเห็นคือ บางครอบครัวตอนจะกลับออกจากเนอร์สเซอรี่ เวลาพี่เลี้ยงมารับเจ้าตัวเล็กไปแล้ว ก็จะใช้วิธีเดินจากออกไปเงียบๆ ไม่พูดอะไรกับลูก หรือบางครอบครัวใช้วิธีก้มหลบแล้วรีบออกไป

          ผมเชื่อมาตลอดว่า เจ้าตัวเล็กเนี่ยคุยรู้เรื่องนะฮะ แต่อยู่ที่เราที่จะต้องพยายามเข้าใจสิ่งที่เขาสื่อสารให้ได้

          เวลาได้ยินใครพูดถึงลูกๆ หลานๆ ว่า เขาฟังเจ้าตัวเล็กพูดไม่รู้เรื่อง’ คุณแม่ของผมพูดตอบกลับอยู่เสมอว่า ตัวเล็กเขาหนะพูดรู้เรื่อง ตัวเล็กเขารู้ด้วยว่าพูดว่าอะไรออกมา แต่เราหนะสิ ไม่เข้าใจเขาเอง’

          คราวหน้าลองดูนะครับ จะไปไหนบอกเขาตรงๆ เขาไม่งอแงหรอกฮะ เขาคุยรู้เรื่อง อย่างปูนปั้น แม้จะตาละห้อย ผมว่าเขาก็แค่จะบอกเราว่า

          ‘ไม่เป็นไรครับ ผมรู้ว่าหม่าม๊า ปะป๊า ต้องไปทำงาน ปะป๊าหม่าม๊าอย่าร้องไห้คิดถึงผมนะครับ เย็นนี้มารับผมเร็วๆ ก็พอ’

 

 

บทความโดย: บรรทัดที่สิบเอ็ด (พ่อเอก-จิรัฏฐ์ สิริเฉลิมพงศ์)