สำหรับแม่ตั้งครรรภ์ที่เป็นแม่เลี้ยงเดี่ยว ที่กำลังกังวลว่าจะทำอย่างไรเมื่อลูกคลอดออกมา โดยเฉพาะการ แจ้งเกิดลูก ไม่มีพ่อ ไม่ระบุชื่อพ่อในสูติบัตรได้หรือไม่ และจะมีปัญหาในอนาคตหรือไม่? ที่นี่มีคำตอบค่ะ
แจ้งเกิดลูก ไม่มีพ่อ ไม่ระบุชื่อพ่อได้ไหม? อนาคตจะมีปัญหาหรือไม่?
การเกิดเป็นจุดเริ่มต้นของสภาพบุคคล และเป็นจุดเริ่มต้นที่กฎหมายเข้ามามีบทบาท เมื่อลูกคลอดออกจากท้องแม่แล้ว ผู้ที่เกี่ยวข้อง มีหน้าที่ที่จะต้องปฏิบัติตามกฎหมาย นั่นก็คือการแจ้งเกิดนั่นเอง โดยการแจ้งเกิดนั้น มีขั้นตอนต่อไปนี้
แจ้งเกิดลูก ทำอย่างไร?
- ผู้ที่ทำคลอดจะต้องออกหนังสือรับรองการเกิด (ท.ร.๑/๑) ให้ไว้เป็นหลักฐาน เพื่อนำไปใช้ในการแจ้งเกิดที่เทศบาล สำนักงานเขต หรือ อำเภอ (ในกรณีที่เกิดในสถานพยาบาล)
- ถ้าเกิดที่บ้าน เช่น บ้านพ่อแม่ ถ้าอยู่ในเขตท้องที่ของที่ว่าการอำเภอ ให้แจ้งผู้ใหญ่บ้านประจำหมู่บ้านที่เด็กเกิด ผู้ใหญ่บ้านจะต้องรับแจ้ง และออกเอกสารเป็นใบรับแจ้งการเกิด (ท.ร ๑ ตอนหน้า) ให้ผู้แจ้งไว้เป็นหลักฐาน
- เมื่อได้รับหนังสือรับรองการเกิดแล้ว ให้เตรียมเอกสารหลักฐานอื่น ๆ เพื่อไปประกอบ ดังนี้
- บัตรประจำตัวประชาชนของผู้ที่ไปแจ้ง
- หนังสือรับรองการเกิด (ท.ร.๑/๑ หรือ ท.ร. ๑ ตอนหน้า)
- และสำเนาทะเบียนบ้านที่จะเพิ่มชื่อลูกน้อยเข้าไป
- เมื่อรวบรวมเอกสารมาครบแล้ว ให้เจ้าบ้าน คุณพ่อ หรือคุณแม่ นำเอกสารหลักฐานต่าง ๆ มาแจ้งต่อนายอำเภอ ที่ว่าการอำเภอ หรือ เทศบาล หรือเขต เพื่อให้เจ้าหน้าที่ออกใบสูติบัตรให้
- ระยะเวลาในการแจ้งเกิด ภายในเวลา 15 วัน นับตั้งแต่วันที่ลูกน้อยเกิด
- สถานที่แจ้งเกิด ถ้าสถานที่ที่ลูกน้อยเกิดตั้งอยู่ในเขตเทศบาล ให้แจ้งเกิดที่เขตนั้น แต่ถ้าอยู่นอกเขต ให้ไปแจ้งเกิดที่สำนักทะเบียนที่ว่าการอำเภอที่ตั้งอยู่ในเขตท้องที่นั้น
แจ้งเกิดลูก ไม่มีพ่อ ไม่ระบุชื่อพ่อ ทำได้ไหม?
ตามกฎหมายแล้ว เด็กที่เกิดแต่หญิงที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสกับชาย ให้ถือว่าเป็นบุตรชอบด้วยกฏหมายของหญิงมารดาเท่านั้น ตามป.พ.พ.มาตรา 1546 ดังนั้น การที่ชื่อบิดาผู้ให้กำเนิดของเด็ก จะมีระบุในสูติบัตรคนเกิดหรือไม่ ย่อมเป็นสิทธิของมารดาเด็กที่จะแจ้งหรือไม่ก็ได้
แจ้งเกิดลูก ไม่มีพ่อ ไม่ระบุชื่อพ่อ จะเป็นปัญหาในอนาคตหรือไม่?
การไม่ระบุชื่อพ่อในใบเกิด จะทำให้มีปัญหาตอนสมัครเรียนหรือไม่?
ตอบ – ไม่มีปัญหาในการสมัครเรียน การที่ชื่อบิดาผู้ให้กำเนิดของเด็ก จะมีระบุในสูติบัตรคนเกิดหรือไม่ ย่อมเป็นสิทธิของมารดาเด็กที่จะแจ้งหรือไม่ก็ได้ โรงเรียนย่อมไม่มีสิทธิมาบังคับให้มารดาเด็กแจ้งชื่อบิดาของเด็ก เนื่องจากถือเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล
ข้อดีและข้อเสียของการ แจ้งเกิดลูก โดยระบุชื่อพ่อ
- ในกรณีที่ระบุชื่อพ่อในใบเกิด ลูกสามารถใช้นามสกุลของพ่อหรือแม่ก็ได้
- และหากใช้นามสกุลพ่อ ลูกถือเป็นบุตรที่ชอบโดยกฎหมายของพ่อด้วยเช่นกัน ทำให้ลูกมีสิทธิได้รับมรดกจากพ่อ
- แต่หากระบุชื่อพ่อ แต่ไม่สามารถตามตัวได้ จะมีความยุ่งยากในการทำเอกสารที่ต้องมีการลงลายมือชื่อบิดา ทั้งตอนเข้าเรียน เรื่องเกี่ยวกับทะเบียนบ้าน การทำพาสปอร์ต ในกรณีที่เด็กอายุยังไม่ครบ 20 ปีบริบูรณ์
- หากต้องการลดความยุ่งยากในการทำธุรกรรมต่าง ๆ ของบุตร คุณแม่ควรไปทำใบ ปค.14 เพื่อให้อำนาจในการปกครองบุตรอยู่ที่แม่ฝ่ายเดียว (โดยการทำใบ ปค.14 มีขั้นตอนง่าย ๆ ดังนี้)
- ยื่นคำร้องที่ฝ่ายทะเบียน : สำนักงานเขตหรือที่ว่าการอำเภอ ที่แม่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน (ไม่ดูลูก)
- เอกสาร ตัวจริง พร้อมสำเนา 1 ชุด ได้แก่ 1) สูติบัตรของลูก 2) ทะเบียนบ้านลูก แม่ และพยาน 2 คน 3) บัตรประจำตัวประชาชน ลูก(ถ้ามี) แม่ และพยาน 2 คน 4) ใบสำคัญแสดงการเปลี่ยนชื่อนามสกุล(ถ้ามี)
- คุณสมบัติของพยาน 1) อายุ 20 ปีขึ้นไป 2) ใครก็ได้ แต่ควรเป็นญาติกับแม่เด็ก เนื่องจากนายทะเบียนอาจจะสอบสวนเพิ่มเติม
- หมายเหตุ 1) เด็กไม่ต้องไปด้วยก็ได้ 2)ทำวันเดียวเสร็จ ก่อนออกหนังสือ นายทะเบียนจะทำเรื่องไปขอตรวจสอบการจดทะเบียนรับรองบุตรก่อน 3) เอกสารตัวจริงเก็บไว้ เวลาใช้ให้ใช้สำเนา โดยจะใช้ไปตลอดจนกว่าเด็กจะอายุ 20 ปี
ข้อดีและข้อเสียของการ แจ้งเกิดลูก ไม่มีพ่อ ไม่ระบุชื่อพ่อ
- การไม่ระบุชื่อบิดา คุณแม่มีสิทธิในการปกครองเด็กแต่เพียงผู้เดียว
- เมื่อลูกโตขึ้น จะไม่ยุ่งยากในการยื่นเอกสาร เช่น การเข้าเรียน การทำงาน การรับราชการ หรือการเป็นทหาร ไม่ต้องตามตัวพ่อให้วุ่นวาย
- หากต้องการเพิ่มชื่อพ่อในสูติบัตรในภายหลัง ต้องระบุชื่อพ่อจริง ๆ เท่านั้น ไม่สามารถระบุชื่อคนอื่นได้ ต้องมีหลักฐานการตรวจ DNA แสดงความเป็นพ่อ แม่ และลูก แนบไปกับคำขอเพิ่มชื่อในสูติบัตร โดยเขตจะพิมพ์สูติบัตรใบใหม่ที่มีชื่อบิดาด้วย
แม้ว่าการไม่ระบุชื่อพ่อในใบเกิด จะทำให้แม่เป็นผู้มีสิทธิในการปกครองแต่เพียงผู้เดียว แต่หากต้องการให้พ่อของลูกกลับมามีสิทธิในการปกครองด้วยในภายหลัง ก็สามารถทำได้โดยการจดทะเบียนสมรสกับมารดาของเด็กในภายหลัง หรือจดทะเบียนรับรองว่าเด็กเป็นบุตรของตน หรือให้ศาลพิพากษาว่าเด็กเป็นบุตร ได้เช่นกัน
อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก
- เอกสารแจ้งเกิด เพื่อเตรียมทำสูติบัตรให้ลูกน้อย
- เอกสารหาย ไม่ต้องแจ้งความ! พร้อมขั้นตอนการยื่นเรื่องทำใหม่
- สิทธิการเลี้ยงดูบุตร เมื่อไม่ได้จดทะเบียน
- เปลี่ยนชื่อลูก ที่ไหน ใช้เอกสารอะไรบ้าง?
ขอบคุณข้อมูลจาก : www.decha.com, เพจพูดคุยภาษากฎหมาย, www.thanulegal.com, www.thailaws.com
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่