AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

อยากให้ลูกฝันดีต้อง เล่านิทานให้ลูกฟัง

เครดิต: Pinterest

เล่านิทานให้ลูกฟัง ดีต่อใจ ประโยชน์มากโข เสริมสร้างไอคิว แถมลูกนอนหลับสนิทตลอดคืน

 

 

คุณพ่อคุณแม่หลาย ๆ คนอาจจะกำลังประสบปัญหาลูกนอนยาก ชอบร้องไห้งอแง โยเย กันใช่ไหมละคะ และปัญหาที่เกิดขึ้นนั้น คุณพ่อคุณแม่มีวิธีการแก้ปัญหากันอย่างไร … เคยลองวิธีอ่านนิทานให้ลูกฟังกันบ้างหรือเปล่าเอ่ย หรือว่าให้ลูกเล่นของเล่นชิ้นโปรดไปจนกว่าจะหลับเอง

ถ้าหากเป็นเช่นนั้น คุณคิดว่าของเล่นชิ้นไหนคะ ที่ลูก ๆ ของเราโปรดปรานมากที่สุด? คิดว่าจะใช่ของเล่นราคาแพง หรือรุ่นหายากแบบลิมิเต็ดอิดิชั่น?! 

โดยธรรมชาติของเด็ก ๆ ทุกคน ของเล่นชิ้นที่พวกเขาโปรดปราน รักและหวงมากที่สุดก็คือ “คุณพ่อคุณแม่” นี่ละค่ะ ลูก ๆ ไม่ต้องการของเล่นราคาแพงแต่อย่างใด เพียงแต่พวกเขาต้องการเวลาจากคนที่เขารักมากที่สุดก็เท่านั้น คุณพ่อคุณแม่หลาย ๆ คนอาจจะทำแต่งาน เมื่อถึงเวลาก็หาซื้อของเล่นมาให้ลูกเพื่อเป็นการตอบแทน … แต่หารู้ไม่ว่า ของเล่นที่พวกเขาอยากได้ที่สุดก็คือ “คุณ” นั่นเอง

ริชาร์ด วูฟสัน นักจิตวิทยาเด็ก ผู้ทำการศึกษาให้กับ Disneys /Pixar World of Cars กล่าวว่า มากกว่าครึ่งของเด็ก ๆ ในวัย 3-8 ขวบ บอกว่า ช่วงเวลาที่คุณพ่อคุณแม่่อ่านนิทานให้ฟังนั้นเป็นช่วงเวลาที่ดีที่พวกเขาชอบมากที่สุด จากผลการสำรวจเด็ก ๆ ในอังกฤษที่อายุระหว่าง 3-8 ปีจำนวน 500 คน แสดงให้เห็นว่า การฟังนิทานเป็นกิจกรรมยามว่างที่โปรดปรานของเด็ก แซงหน้ากิจกรรมบันเทิงอื่น ไม่ว่าจะเป็นการชมโทรทัศน์ หรือเล่นวิดีโอเกม ยิ่งกว่านั้น 82 % ของอาสาสมัครยังบอกว่าการฟังนิทานก่อนนอนทำให้พวกเขาหลับสนิท ขณะที่นักวิจัย บอกว่า นักเล่านิทานที่ดีที่สุดสำหรับเด็ก ๆ คือ “คุณแม่” โดยเฉพาะคุณแม่ที่่ใช้เสียงตลก เสียงที่แตกต่างในการเล่าเรื่อง รวมทั้งการใช้เสียงประหลาดเพื่อเป็นเอ็ฟเฟ็กซ์ประกอบการดำเนินเรื่อง

อ่านเนื้อหาเพิ่มเติม คลิก

 

 

สังคมไทยกับการ เล่านิทานให้ลูกฟัง

ได้มีงานวิจัยที่ทำให้รู้ว่า สังคมไทยกำลังอยู่ในสภาวะที่น่าเป็นห่วงค่ะ โดยผลวิจัยชี้ว่า “พ่อแม่ไทยยุคใหม่ 1 ใน 3 นั้นไม่เคยเล่านิทานให้ลูกฟังเลยตลอด 1 เดือน” ซึ่งส่วนใหญ่แล้วพบว่า คุณพ่อคุณแม่สมัยนี้หยิบยื่นสื่อโซเชียลและแท็บเล็ตให้ลูกมากกว่า

 

นายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ รักษาราชการแทนปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า การเลี้ยงลูกมีส่วนสำคัญมากในการสร้างไอคิวอีคิวเด็กถึง 70% ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขได้สนับสนุนให้คุณพ่อคุณแม่เล่านิทานให้ลูกฟังตั้งแต่ทารก ตลอดจนสนับสนุนให้พี่เลี้ยงศูนย์เด็กเล็กทั่วประเทศ 17,000 แห่ง เล่านิทานให้เด็กฟัง เพื่อสร้างไอคิวอีคิวเด็กไทย เนื่องจากการศึกษาในต่างประเทศซึ่งเก็บข้อมูลเด็ก 450 คนต่อเนื่องนานถึง 40 ปี พบว่าไอคิวมีความสัมพันธ์เพียงเล็กน้อยกับความสามารถในการทำงานได้ดี

แต่จากการศึกษาสถานการณ์การเล่านิทานของครอบครัวไทย พบว่ามีแนวโน้มลดลงอย่างน่าห่วง ในช่วง 2 ปีมานี้ พ่อแม่มีเวลาเล่านิทานให้ลูกฟังทุกวันไม่ถึง 50% เนื่องจากต้องทำงานนอกบ้าน ผู้เล่านิทานนั้นเป็นคุณแม่มากกว่าคุณพ่อ 

ด้านนายแพทย์สมยศ เจริญศักดิ์ อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า กรมอนามัยได้ศึกษาสถานการณ์ การเล่านิทานของครอบครัวไทยทั่วประเทศกว่า 3,389 ครอบครัวในปี 2546 พบว่าเพียงร้อยละ 2 ที่พ่อแม่เริ่มเล่านิทานตั้งแต่ลูกยังอยู่ในครรภ์ พ่อแม่ 2 ใน 3 เริ่มเล่าเมื่อลูกอายุ 1-3 เดือน ขณะที่พ่อแม่ 1 ใน 3 ไม่เคยเล่านิทานให้ลูกฟังเลยในรอบ 1 เดือน  วิธีการเล่า 41% จะอ่านนิทานให้ลูกฟัง มีเพียง 1 ใน 6 ที่ใช้อุปกรณ์และแสดงท่าทางประกอบ

การเล่านิทานที่นิยมเล่ามากที่สุด ได้แก่ นิทานพื้นบ้าน รองลงมาคือนิทานสอนคติธรรม นิทานนานาชาติ และการ์ตูน ส่วนประโยชน์ของการเล่านิทาน คุณพ่อคุณแม่ 28% กล่าวว่า การเล่านิทานนั้นทำให้ลูกมีสมาธิดี รองลงมาคือสร้างความผูกพันพ่อแม่ลูก ทำให้เด็กมีจินตนาการเกิดความคิดสร้างสรรค์ และเด็กได้คติเตือนใจ เป็นต้น

อ่านประโยชน์ของการเล่านิทานให้ลูกฟัง


เครดิต: Thai Health

 

7 ประโยชน์ดี ๆ ของการ เล่านิทานให้ลูกฟัง

การเล่านิทานให้ลูกฟังนั้นมีประโยชน์มากมายจริง จะมีอะไรบ้างนั้น เราไปดูพร้อม ๆ กันเลยค่ะ

  1. ด้านภาษา เพราหนังสือเปรียบเสมือนคลังภาษาสำหรับเด็ก เด็กจะเรียนรู้ภาษาจากประสาทสัมผัสทางหู ภาษาเหล่านี้จะเป็นเครื่องมือที่เด็กนำไปใช้สื่อสารต่อไป และภาษายังเป็นเครื่องมือให้เด็ก ๆ ได้เรียนรู้และเข้าใจสิ่งรอบตัวมากยิ่งขึ้นได้อีกด้วย
  2. ด้านจินตนาการ หนังสือเป็นเรื่องเล่าที่สนุกให้เด็กได้จินตนาการและคิดตาม การที่ลูก ๆ ได้ฟังบ่อย ๆ จะช่วยกระตุ้นให้เด็กฝึกใช้จินตนาการที่มีมากยิ่งขึ้น
  3. สัญลักษณ์ เด็ก ๆ จะสามารถจดจำบางสิ่งได้จากการเห็นบ่อย ๆ เช่น เลขแปดมีลักษณะคล้ายปลา เมื่อบอกเด็กว่าแปดเหมือนปลา เด็ก ๆ ก็จะนึกภาพปลาก่อน อะไรแบบนี้เป็นต้น
  4. ความคิด สมองของลูกจะถูกกระตุ้นให้คิดและเรียนรู้ตลอดเวลาจากการที่คุณพ่อคุณแม่อ่านหนังสือหรือนิทานให้เด็กฟัง หลังจากนั้นเด็ ๆ ก็จะเริ่มคิดตามไปเองโดยอัตโนมัติ
  5. ฝึกสมาธิ สำหรับเด็กคนไหน ที่ได้ฟังนิทานหรือได้ฟังจากการอ่านหนังสืออยู่เป็นประจำนั้น พวกเขาจะมีสมาธิทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้อย่างต่อเนื่อง และจะมีความสนใจจดจ่อกับสิ่งนั้นมากกว่าสิ่งรอบข้าง
  6. ปลูกฝังให้ลูกมีใจรักการอ่าน การอ่านนิทานให้ลูกฟังนั้น จะทำให้เด็กเกิดความเคยชิน และเมื่อถึงเวลาอ่านก็จะไม่รู้สึกถูกบังคับ อีกทั้งยังเป็นฝ่ายร้องขอให้คุณพ่อคุณแม่อ่านหนังสือให้ฟังทุกวัน เรียกได้ว่า เป็นการปลูกฝังให้ลูกรักการอ่านไปในตัวโดยที่ไม่ต้องเหนื่อยเลยละค่ะ
  7. กระชับสัมพันธ์ การอ่านนิทานหรืออ่านหนังสือให้ลูกฟังนั้น ถือเป็นการกระชับความสัมพันธ์ระหว่างผู้ปกครองกับลูก ๆ ได้เป็นอย่างดี

นิทานที่เหมาะสมในแต่ละวัย

 

 

นิทานที่เหมาะสมในเด็กแต่ละวัย 

ความสำคัญและลักษณะของนิทานนั้น มีผลกับความสนใจ การรับรู้ และความสามารถของลูก ๆ นะคะ เราจะแบ่งนิทานที่เหมาะสมตามแต่ละช่วงอายุวัยดังนี้

สำหรับเด็กที่มีอายุระหว่าง ๐ – 1 ปี ควรเป็นหนังสือภาพเหมือนรูปสัตว์ ผัก ผลไม้ สิ่งของในชีวิตประจำวัน และเขียนเหมือนภาพของจริง มีสีสวยงาม ขนาดใหญ่ชัดเจนเป็นภาพเดี่ยว ๆ ที่มีชีวิตชีวา ไม่ควรมีภาพหลังหรือส่วนประกอบภาพที่รกรุงรัง รูปเล่มอาจทำด้วยผ้าหรือพลาสติก หนานุ่มให้เด็กหยิบเล่นได้

สำหรับเด็กที่มีอายุระหว่าง 2 – 3 ปี ควรเป็นหนังสือนิทานภาพที่เด็กสนใจ ไม่ควรบังคับเด็กดูแต่หนังสือที่พ่อแม่ต้องการให้อ่าน หนังสือที่เหมาะสม ควรเป็นภาพเกี่ยวกับชีวิตประจำวัน สัตว์ สิ่งของ เด็กเล่นในช่วงนี้ มีประสาทสัมผัสทางหูดีมาก หากมีประสบการณ์ด้านภาษา และเสียงที่ดีในวัยนี้ เด็กจะสามารถพัฒนาศักยภาพด้านภาษาและดนตรีได้ดี หากเด็กมีประสบการณ์ที่ดีในช่วงเวลานี้ จะเป็นพื้นฐานในการสร้างนิสัยรักการอ่าน ของเด็กในอนาคต

สำหรับเด็กที่มีอายุระหว่าง 4 – 5 ปี ควรเป็นนิทานที่เป็นเรื่องที่ยาวขึ้น แต่เข้าใจง่าย ส่งเสริมจินตนาการ และอิงความจริงอยู่บ้าง เนื้อเรื่องสนุกสนานน่าติดตาม มีภาพประกอบที่มีสีสัน สดใสสวยงาม มีตัวอักษรบรรยายเนื้อเรื่องไม่มากเกินไป และมีขนาดใหญ่พอสมควรใช้ภาษาง่าย ๆ เด็กวัยนี้มีจินตนาการสร้างสรรค์อยากรู้อยากเห็นสิ่งรอบตัวเกี่ยวกับธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมว่าสิ่งนี้มาจากไหนทำไมจึงเป็นเช่นนั้นเช่นนี้ เริ่มเข้าใจความแตกต่างระหว่างความจริงกับเรื่องสมมุติ หนังสือประกอบ จะเป็นการสร้างจินตนาการสร้างสรรค์ ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญของพลังการเรียนรู้จากการอ่านหนังสือ

รู้เทคนิคทำให้ลูกนอนหลับฝันดีกันแล้ว อย่าลืมนำไปใช้กันด้วยนะคะ อย่างน้อยก่อนนอนวันละ 15 – 30 นาที เพียงเท่านี้ลูกก็มีความสุขนอนหลับฝันหวานไม่ร้องไห้โยเยกันแล้วละค่ะ

เครดิต: Happy Reading

เรื่องอื่น ๆ ที่น่าสนใจ:

 

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids