AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

เบคอน อาหารปลิดชีวิตคนจากมะเร็งได้พอ ๆ กับบุหรี่

เบคอน อาหารที่มักจะถูกนำมาทำเป็นเมนูเพิ่มน้ำหนักให้ลูก ๆ แถมยังอร่อย เด็ก ๆ ก็ชอบทานอีกด้วย แต่แม่ ๆ รู้หรือไม่ ว่าการทาน เบคอน บ่อย ๆ นั้น เสี่ยงให้ลูกเป็นมะเร็งได้พอ ๆ กับการสูบบุหรี่เลยนะคะ มาดูกันค่ะว่าเพราะอะไร

เบคอน อาหารปลิดชีวิตคนจากมะเร็งได้พอ ๆ กับบุหรี่

องค์การอนามัยโลกเผย เนื้อสัตว์แปรรูป เป็นอาหารที่อันตรายที่สุด!

ทีมงาน Amarin Baby & Kids ขอนำบทความที่เกี่ยวกับประการจากองค์การอนามัยโลกมาอ้างอิง ดังนี้

จากประกาศขององค์การอนามัยโลกบอกว่าเนื้อสัตว์แปรรูปที่นิยมซื้อหามารับประทานกันนั้น ถือเป็นอาหารที่อันตรายที่สุดเมื่อเทียบกับอาหารประเภทอื่น  โดยเป็นผลการศึกษาที่มีนักวิทยาศาสตร์จาก 10 ประเทศได้เข้าร่วมทำการวิจัย ซึ่งเมื่อได้ทำการตรวจสอบหลักฐานต่างๆ แล้วสามารถสรุปได้ว่าเบคอนซึ่งเป็นอาหารแปรรูปประเภทหนึ่ง จัดเป็นอาหารที่เป็นภัยคุกคามต่อสุขภาพของเรามากที่สุด

นอกจากนี้แล้วยังมีอาหารแปรรูปอื่น ๆ อย่างเบอร์เกอร์กับไส้กรอกที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพเช่นกัน เพราะฉะนั้นใครที่โปรดปรานความอร่อยของเบคอนชีสเบอร์เกอร์ก็ให้พึงระวังเอาไว้ว่าคุณกำลังเสี่ยงกับโอกาสที่จะเป็นมะเร็งอยู่

รายงานจากเว็บไซต์ NHS Choices ได้บอกถึงเรื่องนี้เอาไว้ว่า…

“มีความเป็นไปได้ว่ามีการเชื่อมโยงกันระหว่างการกินเนื้อแดงกับเนื้อสัตว์แปรรูปและโอกาสเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งลำไส้ เมื่อเทียบกันแล้วผู้ที่นิยมชมชอบรับประทานเนื้อเหล่านี้อยู่เป็นประจำจะมีความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งลำไส้มากกว่าผู้ที่ไม่ค่อยได้กินเท่าไหร่นัก”

แต่ถึงอย่างไรเนื้อแดงยังคงได้ชื่อว่าเป็นอาหารที่อุดมไปด้วยโปรตีนชั้นดี รวมทั้งวิตามินแร่ธาตุที่จำเป็นต่อร่างกายมากมาย เช่น เหล็กและสังกะสี การรับประทานอาหารทุกอย่างจึงต้องคำนึงถึงความพอเหมาะพอดีเป็นสำคัญ เพราะหากรับประทานตามใจปากมากเกินไป แม้แต่อาหารที่มีประโยชน์ก็อาจเป็นโทษต่อร่างกายได้ ยิ่งถ้าเป็นอาหารที่เป็นโทษต่อร่างกายยิ่งไม่ต้องพูดถึง โรคภัยไข้เจ็บที่อาจเป็นอันตรายถึงชีวิตอาจตามมาได้หากคิดถึงแต่รสชาติความอร่อยแต่เพียงอย่างเดียว

ขอบคุณข้อมูลจาก : www.healthandtrend.com

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids

อ่านต่อ  รู้จักกับเบคอนและสารอาหารในเบคอน กินเบคอนจะได้ประโยชน์อะไรบ้าง?

มาทำความรู้จักกับเบคอนกันก่อนดีกว่า

เบคอน ทำมาจากมันหมู ที่มาจากส่วนหน้าท้องของหมู ในสมัยก่อน จะใช้เกลือผสมกับดินประสิวและน้ำตาลเล็กน้อย เพื่อหมัก โดยจะคลุกเคล้ากันให้ทั่ว แล้วปล่อยทิ้งไว้ประมาณ 2 อาทิตย์ เกลือที่หมักไว้จะค่อย ๆ ซึมเข้าไปในมันหมู หลังจากนั้นก็นำไปรมควันจนแห้ง และหั่นเป็นชิ้นบาง ๆ ก่อนทอด

แต่ในสมัยนี้ ที่มีเทคโนโลยีการเก็บรักษาอาหารที่สะดวกรวดเร็วได้มากขึ้น เราจึงไม่ต้องรอเป็นอาทิตย์ เพื่อที่จะได้กินเบคอน เพราะมีตัวช่วยที่ช่วยย่นเวลาการหมักให้เหลือเพียงไม่กี่ชั่วโมง โดยการใช้เข็มฉีดน้ำหมักเข้าไปในมันหมูแทน ซึ่งสามารถเข้าไปได้ถึงส่วนในสุดของมันหมูอย่างรวดเร็วและทั่วถึงอีกด้วย จากเดิมที่เราจะได้กลิ่นหอมจากควันไม้อ้อยอิ่งรม เราก็จะได้กลิ่นควันที่ได้จากน้ำยาที่ให้กลิ่นควันแทน ส่วนสารเคมีที่ฉีดเข้าไปก็จะเปลี่ยนเนื้อติดมันให้เป็นสีชมพู กลายเป็นเบคอนได้ภายในวันเดียว หั่นเป็นชิ้นบาง เรียงให้เห็นมันหมูสลับกับเนื้อติดมันเป็นริ้วสวยงามบรรจุหีบห่อ ส่งไปรอจำหน่ายในตู้เย็น

กินเบคอนแล้วจะได้รับสารอาหารอะไรบ้าง?

เบคอน อยู่ในกลุ่มอาหารที่มีไขมันและเกลือมาก ไม่เหมาะเป็นอย่างมากสำหรับคนอ้วนและคนที่กำลังลดน้ำหนัก   หรือคนที่มีความดันโลหิตสูง แต่ในต่างประเทศ กลับเป็นอาหารที่รับประทานกันมาช้านาน เพราะเป็นอาหารที่เก็บไว้ได้นานโดยไม่เน่าเสียได้หลายเดือน ในสมัยก่อน ยังไม่มีตู้เย็นที่ช่วยถนอมอาหาร จึงมักเป็นสิ่งที่มีติดบ้านไว้ทุกบ้าน

มาดูปริมาณพลังงานและสารอาหารที่ได้รับกันดีกว่า สามในสี่ส่วนของเบคอนเป็นไขมัน จึงมีพลังงานสูงมาก ในเบคอนหนึ่งชิ้น ให้พลังงานประมาณ 30-40 แคลอรี่ กินเพียงสองชิ้นจะได้พลังงานเท่ากับกินไข่หนึ่งฟอง แต่ได้สารอาหารอื่นน้อยกว่าไข่มาก โดยเฉพาะโปรตีน เกลือแร่และวิตามิน กินเบคอนก็เหมือนกินกากหมู เบคอนจึงจัดอยู่ในหมู่ไขมัน ไม่ใช่หมู่เนื้อสัตว์ โปรตีนที่ติดมากกับเนื้อหมูน้อยมาก จนอาศัยเป็นแหล่งโปรตีนไม่ได้

เบคอน ให้วิตามินบีบ้าง เพราะในหมูมีวิตามินสูง แต่วิตามินเอและเหล็ก ที่มีมากในไข่นั้น เบคอนแทบไม่มีเลย เมื่อเทียบกันในด้านคุณค่าทางโภชนาการ เบคอนแพ้ไข่อย่างเทียบไม่ติด เมื่อเทียบกันในด้านราคาแล้ว เบคอนแพ้ไข่อย่างหลุดลุ่ยอีกต่างหาก

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids

อ่านต่อ สารอะไรที่ฉีดลงในเบคอน? ถ้าได้รับสารนี้จะเกิดอันตรายอย่างไร?

สารอะไรที่ฉีดลงในเบคอน?

ตามที่กล่าวไว้ข้างต้นว่า  ปัจจุบันได้มีการฉีดสารเคมีเข้าไปในเบคอนแทนการหมัก เพื่อย่นเวลาการหมักอาหาร สารที่ว่านั่นก็คือ สารไนเตรต-ไนไตรต์ (Nitrate-Nitrite) นั่นเอง   ซึ่งเป็นสารเคมีที่ใช้เป็นสารกันเสีย โดยป้องกันการเกิดปฏิกิริยาออกซิเดชั่นที่เป็นสาเหตุทำให้อาหารบูดเน่า และช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์จำพวกคลอสตริเดียมบอทูลินั่ม (Clostridium botulinum) และ คลอสตริเดียมเปอร์ฟรินเจน (Clostridium perfringens) ที่สามารถสร้างสารพิษรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ นอกจากนี้ สารไนเตรต-ไนไตรต์ ยังทำให้เกิดสีในเนื้อสัตว์ โดยทำให้เกิดสีแดงอมชมพูในผลิตภัณฑ์เนื้อแปรรูป เช่น ไส้กรอก แฮม เบคอน แหนม กุนเชียง เนื้อเค็ม สีเกิดจากการรวมตัวของไนไตรต์กับเม็ดสีในเลือด เป็นไนโตรโซฮีโมโครม (nitrosohemochrome) ซึ่งเมื่อถูกความร้อนจะเปลี่ยนเป็นสารสีแดงอมชมพูที่คงตัว ทำให้เนื้อมีสีสดน่ารับประทาน จึงนิยมใช้เป็นวัตถุเจือปนในอาหาร

Tips : จากประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 281 (พ.ศ. 2547) ได้กำหนดปริมาณที่อนุญาตให้ใช้ โซเดียมไนไตรต์ และ โซเดียมไนเตรตในอาหารได้ไม่เกิน 125 และ 500 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ตามลำดับ กรณีที่ใช้ทั้งโซเดียมไนไตรต์และโซเดียมไนเตรตให้มีปริมาณรวมกันได้ไม่เกิน 125 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม

 

ถ้าได้รับสารไนเตรต-ไนไตรต์ จะทำให้เกิดอะไรบ้าง?

ถ้าร่างกายได้รับสารไนเตรต-ไนไตรต์มากเกินไป จะทำให้เป็นอันตรายต่อสุขภาพได้ สารไนเตรตจะถูกแบคทีเรียในกระเพาะอาหารและลําไส้เปลี่ยนให้เป็นไนไตรต์ ทําให้ฮีโมโกลบิน ซึ่งเป็นสารในเม็ดเลือดแดงผิดปกติ (methemoglobin) ไม่สามารถนําพาออกซิเจนไปใช้ได้ ทำให้เซลล์ขาดออกซิเจน เกิดอาการอ่อนเพลีย คลื่นไส้ หายใจไม่ออก ตัวเขียว หัวใจเต้นเร็ว เป็นลมและหมดสติในที่สุด อาการนี้เป็นอันตรายมากหากเกิดในเด็ก สตรีมีครรภ์ ผู้ที่มีภาวะซีดหรือมีปัญหาโรคเลือด นอกจากนี้หากได้รับสารไนเตรต-ไนไตรต์ปริมาณน้อยเป็นระยะเวลานาน จะเกิดพิษเรื้อรัง มีความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็ง โดยสารไนไตรต์จะทำปฏิกิริยากับสารประกอบเอมีนในอาหาร ร่วมกับสภาวะความเป็นกรดในกระเพาะอาหาร ทำให้เกิดสารไนโตรซามีน ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งที่อวัยวะต่างๆ เช่น ตับอ่อน ทางเดินหายใจ กระเพาะปัสสาวะ ตับ ไต กระเพาะอาหารและลำไส้ได้

วิธีทานเบคอนให้อันตรายน้อยที่สุด

  1. ควรใช้อุณหภูมิต่ำในการทอดเบคอน แม้ว่าจะต้องใช้เวลานานขึ้นก็จริง แต่สารไนโตรซามีนเกิดขึ้นน้อยลง ถ้าใช้เตาอบไมโครเวฟทำจะเกิดขึ้นน้อยที่สุด ควรวางเบคอนบนกระดาษซับน้ำมันก่อน แล้วจึงอบ
  2. ควรเลือกเบคอนที่มีเนื้อติดมาก เพราะสารไนโตรซามีนเกิดขึ้นในส่วนไขมันมากกว่า และควรเทน้ำมันที่เจียวออกทิ้ง อย่าเก็บไว้ทำอาหารอื่น เพราะในน้ำมันนี้อาจมีไนโตรซามีนสามถึงสี่เท่าของที่มีในเบคอน
  3. สารไนโตรซามีนบางส่วนระเหยได้  เวลาทอดควรอยู่ในที่ที่อากาศถ่ายเทได้สะดวก มิฉะนั้นคนทอดจะสูดสารไนโตรซามีนเข้าไปได้มาก

แม้ว่าการทานเบคอน  จะไม่ทำให้เกิดมะเร็งได้ในทันที แต่ก็จะทำให้มีโอกาสที่จะเป็นมะเร็งได้ไม่เร็วก็ช้า  ขึ้นอยู่กับภูมิต้านทานและความสามารถในการกำจัดของแต่ละคนกิน ดังนั้นหากกินน้อยก็เสี่ยงน้อย ไม่กินเลยจึงปลอดภัยที่สุดค่ะ

อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก

ฉลาดซื้อพบ! สารตกค้างในไก่ เนื้อไก่สด ตับไก่ มากถึง 40%

อันตรายจากไส้กรอก ที่แพทย์ห้ามให้เด็กกิน

อ.เจษฎาแจงข้อเท็จจริง เรื่องน้ำมันพืชกับ ไขมันทรานส์

 

ขอบคุณข้อมูลจาก : www.honestdocs.co, คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids