หลากเทคนิคศิลปะ ชวนวัยเรียนสนุก+สร้างจินตนาการ - Amarin Baby & Kids

หลากเทคนิคศิลปะ ชวนวัยเรียนสนุก+สร้างจินตนาการ

Alternative Textaccount_circle
event

 

 

  • สีเทียน เด็กบางคนจะชอบสีเทียนแท่งอ้วนๆ เพราะจับและบังคับทิศทางได้ง่าย แต่หลายคนก็ชอบใช้สีเทียนแท่งผอมขนาดมาตรฐาน ถ้าจะให้ดี ควรใช้เทปกาวแปะกระดาษที่เขาวาดให้ติดอยู่กับโต๊ะจะช่วยลดอารมณ์หงุดหงิดของเด็กลงได้ดีทีเดียว

 

  • ระบายสีด้วยนิ้วมือ เด็กหลายคนชอบสัมผัสเนื้อสีละเอียดเนียนนุ่ม แต่ถ้าคนไหนไม่ชอบก็ไม่ต้องบังคับ ลองเล่นครีมหรือฟองสบู่ในอ่างอาบน้ำแทนการใช้สี ซึ่งต้องระวังอย่าให้เขาเอามือขยี้ตาด้วย

 

  • แป้งโด เด็กๆ จะได้สนุกกับการบีบ กลิ้ง ดึง ขึ้นรูป หรือกดแป้งโดใส่แม่พิมพ์รูปทรงต่างๆ สิ่งสำคัญคือควรเลือกซื้อแป้งโดที่ปลอดสารเคมี

 

  • ระบายสีด้วยพู่กัน พู่กันด้ามใหญ่จะจับได้ง่ายกว่าด้ามเล็ก และขนพู่กันหนาจะระบายได้ดังใจเด็กเล็กๆ มากกว่า

 

  • ระบายสีด้วยฟองน้ำ หาฟองน้ำหลากแบบหรือไม่ก็ตัดเองซะเลย นำไปจุ่มสีแล้วกดลงบนกระดาษ เป็นวิธีการสร้างอุปกรณ์ศิลปะที่น่าสนใจและง่ายสำหรับนิ้วมือเล็กๆ ของเด็ก ยังมีตัวเลือกอื่นที่น่าสนใจไม่แพ้กัน อย่างคอตตอนบัด ขนนก หรือแปรงสีฟันเก่าๆ

 

  • ระบายสีด้วยเชือก เตรียมเชือกหลายๆ เส้นที่มีความยาวแตกต่างกันสำหรับให้ลูกจุ่มสีแล้วลากเส้นเชือกไปบนแผ่นกระดาษ

 

  • ระบายสีด้วยผัก หั่นผักชนิดกินหัวออกเป็นท่อนๆ จุ่มสี แล้วกดลงบนกระดาษ

 

  • ปั๊มยางลบ เด็กที่โตขึ้นมาหน่อยมักจะชอบใช้ยางลบรูปร่างสัตว์เป็นตราปั๊มสี ถ้าไม่อยากให้ฝาบ้านกลายเป็น “สวนสัตว์หลากสี” จงหากระดาษแผ่นโตมาติดฝาผนังให้เด็กๆ ได้ปั๊มรูปต่างๆ ให้ช่ำปอดจะดีกว่า

 

  • การลอกลาย ทำได้ง่ายๆ ด้วยการวางกระดาษขาวลงบนวัตถุที่มีพื้นผิวขรุขระ เช่น เปลือกไม้ หรือ เหรียญต่างๆ จากนั้นให้เด็กกดระบายสีเทียนให้ทั่วเพื่อให้เกิดลวดลายขึ้นมาบนกระดาษ

 

  • ชอล์ค สีชอล์คสดใสแท่งใหญ่หนาเป็นที่ดึงดูดใจเด็กวัยเตาะแตะมาก สีชอล์คใช้เขียนได้หลายที่ เช่น ตามทางเดินรอบๆ บ้าน ขั้นบันไดหน้าบ้าน หรือพื้นโรงรถ นอกจากนี้ยังใช้กับกระดาษโปสเตอร์สีได้อีกด้วย โดยเฉพาะกระดาษสีดำจะขึ้นกับสีชอล์คมาก เด็กๆ จะตื่นเต้นมากเมื่อได้เห็นผลงานบนพื้นสีดำ

 

  • ดินสอ ปากกา และปากกาเน้นคำ เวลาเห็นพ่อแม่และพี่โตใช้อุปกรณ์เหล่านี้ เด็กเล็กมักอยากใช้บ้าง แต่เพราะมีความเสี่ยงที่ปลายดินสออาจทิ่มตาและอวัยวะบอบบางอื่นๆ และหมึกปากกาก็ล้างออกยาก คุณจึงควรเลือกชนิดของดินสอหรือหมึกปากกาให้ดีและคอยดูแลอย่างใกล้ชิด

 

  • สมุดระบายสี สมุดระบายสีที่มีขายทั่วๆ ไปมักจำกัดจินตนาการการใช้สีของเด็กให้อยู่แต่ในกรอบในเส้น จำเป็นต้องเลือกสักหน่อย เช่น สมุดที่ให้เด็กๆ ได้วาดหรือต่อเติมภาพบางส่วนได้เอง และทุกครั้งที่ลูกระบายสี ไม่ควรสั่งให้เขาระบายสีให้อยู่ในเส้นหรือใช้สีเดิมๆ ควรให้อิสระเขาได้ใช้จินตนาการอย่างเต็มที่

 

  • หนังสือทำมือ ถ้าลูกโตพอที่จะขีดเขียนได้แล้ว อาจชวนเขามาทำสมุดภาพกัน เริ่มต้นง่ายๆ ด้วยการนำกระดาษสักสองสามแผ่นมาพับครึ่ง หากระดาษโปสเตอร์สีมาทำเป็นหน้าปก แล้วเย็บติดกันเป็นเล่ม แล้วให้ลูกวาดภาพตกแต่งตามความคิดจินตนาการ โดยคุณอาจจะช่วยเขียนคำ ตามที่เขาอยากให้เขียนไว้ใต้ภาพเหล่านั้น

 

  • ภาพตัดปะ ใช้ได้ทั้งเศษผ้า ขนนก มะกะโรนี ถั่ว เมล็ดพืช ลูกปัดกับกระดุม ภาพจากนิตยสาร หรืออะไรก็ตามที่น้ำหนักเบาและทากาวติดกับกระดาษได้ หรือจะเป็นวัสดุธรรมชาติ อย่าง ใบไม้ กิ่งไม้ ก้อนกรวดเม็ดเล็กๆ และทราย หรือเศษวัสดุเหลือใช้ในบ้านอย่าง แกนกระดาษทิชชู กล่องไม้ขีดไฟเปล่าๆ สามารถนำมาทากาวติดกับกระดาษในมุมตั้งฉากและเนรมิตให้กระดาษเปล่ากลายเป็นเมืองที่ดูสมจริงได้ และเมื่อกาวแห้งดีแล้วก็ถึงเวลาจิตรกรตัวน้อยลงสีได้

 

  • สมุด ศิลปินตัวน้อยส่วนมากมักพอใจกับการแต่งแต้มหน้ากระดาษด้วยตัวเอง และสมุดบันทึกแบบไร้เส้นบรรทัดคือตัวเลือกที่ดีที่สุด

 

  • อาหาร ให้โอกาสลูกได้เนรมิตจานข้าวให้กลายเป็นภาพต่างๆ ด้วยผัก ผลไม้ และขนมหลากสีสันที่คุณมี

 

บทความโดย : กองบรรณาธิการนิตยสารเรียลพาเรนติ้ง
ที่มาภาพ : Shutterstock

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up